คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14071-14072/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีที่ผู้เสียหายยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 นั้น มาตรา 253 วรรคหนึ่ง มิให้เรียกค่าธรรมเนียม ส่วนที่มาตรา 253 วรรคสอง บัญญัติว่า ในกรณีที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์สิน หรือค่าสินไหมทดแทนตามวรรคหนึ่ง ถ้าศาลยังต้องจัดการอะไรอีกเพื่อการบังคับ ผู้ที่จะได้รับคืนทรัพย์สินหรือราคาหรือค่าสินไหมทดแทน จักต้องเสียค่าธรรมเนียมดังคดีแพ่งสำหรับการต่อไปนั้น หมายถึงค่าธรรมเนียมในชั้นบังคับคดี และที่มาตรา 255 บัญญัติว่า ในคดีดังบัญญัติในมาตรา 253 วรรคสอง และมาตรา 254 ถ้ามีคำขอ ศาลมีอำนาจสั่งให้ฝ่ายที่แพ้คดีใช้ค่าธรรมเนียมแทนอีกฝ่ายหนึ่งได้ หมายถึงค่าธรรมเนียมในชั้นบังคับคดีตามมาตรา 253 วรรคสอง หรือค่าธรรมเนียมในคดีที่ผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์ตามมาตรา 254 และต้องมีคำขอทั้งสองกรณี

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ และเรียกจำเลยทั้งสองสำนวนว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามลำดับ
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด
ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 288, 289
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายสมหมาย บุตรนายผ่าฝาด ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ส่วนข้อหามีและพาอาวุธปืน โจทก์ร่วมไม่เป็นผู้เสียหาย จึงไม่อนุญาต และยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทน อันสืบเนื่องจากก่อนผู้ตายถึงแก่ความตายนั้น ผู้ตายประกอบอาชีพทำกะปิกุ้ง ทำสวนยางพาราและสวนปาล์ม มีรายได้วันละ 1,000 บาท และผู้ตายยังมีสุขภาพแข็งแรง ขณะถึงแก่ความตายมีอายุ 60 ปี ผู้ตายจึงสูญเสียรายได้ในส่วนนี้ไปเนื่องจากการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งสองเป็นเงิน 500,000 บาท และโจทก์ร่วมกับมารดาของโจทก์ร่วมเสียค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพผู้ตายเป็นเวลา 7 วัน เป็นเงิน 250,000 บาท ก่อนถึงแก่ความตายผู้ตายได้รับความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน จำเลยทั้งสองต้องชดใช้เงินส่วนนี้ 200,000 บาท รวมเป็นเงินค่าสินไหมทดแทน 950,000 บาท
จำเลยทั้งสองให้การในคดีส่วนแพ่งว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำความผิดในส่วนอาญาจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ร่วม ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4), 371 ประกอบมาตรา 83 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 72 วรรคสาม, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 82 ทวิ วรรคสอง (ที่ถูก มาตรา 72 ทวิ วรรคสอง) เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน วางโทษประหารชีวิตฐานร่วมกันมีอาวุธปืน จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 4 เดือน แต่เมื่อศาลวางโทษประหารชีวิตแล้ว กรณีไม่อาจลงโทษจำคุกฐานอื่นได้อีก (ที่ถูก คงให้ประหารชีวิตสถานเดียว) กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ร่วมจำนวน 80,000 บาท หากไม่ชำระให้ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระแก่โจทก์ร่วมจนเสร็จสิ้น คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 371 และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ทั้งในคดีส่วนอาญาและคดีส่วนแพ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งทั้งสองศาลและทั้งสองสำนวนให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ความผิดฐานร่วมกันมีและพาอาวุธปืนสำหรับจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และให้ลงโทษจำคุกกระทงละไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ และมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองหรือไม่ ซึ่งเห็นควรวินิจฉัยรวมกันไป เห็นว่า ชั้นสอบสวนนางละมุลให้การว่า พยานและผู้ตายจอดเรือที่คลองหินเพื่อรอให้น้ำแห้ง พยานเห็นจำเลยที่ 1 คนรู้จักกันและชายไทยอีกคนหนึ่งซึ่งไม่รู้จักชื่อนั่งอยู่ในเรือหางยาวสีน้ำเงิน-เลือดหมู โดยจอดเรืออยู่ฝั่งตรงข้ามห่างประมาณ 100 เมตร เวลาประมาณ 18 นาฬิกา น้ำเริ่มแห้ง พยานลงจากเรือไปหากุ้งเคย จำเลยที่ 1 กับเพื่อนยังจอดเรืออยู่เหมือนเดิม พยานและผู้ตายหากุ้งเคยเสร็จจะกลับบ้าน ผู้ตายพายเรือเลียบคลองมาเรื่อย ๆ จำเลยที่ 1 ขับเรือออกมา เพื่อนจำเลยที่ 1 นั่งหัวเรือ ผู้ตายพายเรือผ่านเกาะแก้ว เรือจำเลยที่ 1 แล่นไปอีกทาง ผู้ตายพายเรือได้ 2 นาที มาถึงคลองร้าตี จำเลยที่ 1 แล่นเรืออ้อมมาเทียบข้างเรือโดยชะลอเครื่องยนต์ห่างประมาณ 2 เมตร ผู้ตายถามว่า มาทำอะไร มาวางอวนเรือ คนที่นั่งหัวเรือยิงปืนมาที่ผู้ตาย 1 นัด แล้วจำเลยที่ 1 แล่นเรือออกไปอย่างเร็ว พยานสันนิษฐานว่าสาเหตุมาจากเมื่อประมาณ 3 เดือน ผู้ตายมีปัญหาเรื่องที่ดินกับนายย่าฝาด พี่เขยจำเลยที่ 1 แต่ตกลงกันได้ ต่อมาพี่สาวจำเลยที่ 1 ป่วย สามีหาว่าผู้ตายทำคุณไสย ซึ่งมีสาระสำคัญทำนองเดียวกับที่นางละมุลเบิกความ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ขับเรือพาคนร้ายมายิงผู้ตาย โดยญาติจำเลยที่ 1 มีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ตาย พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมที่นำสืบมามีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 วางแผนตระเตรียมการพาคนร้ายมายิงผู้ตาย จึงเป็นการร่วมกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 2 ชั้นสอบสวนนางละมุลให้การว่า เพื่อนจำเลยที่ 1 สวมหมวกไหมพรมพับปิดแค่หน้าผาก พยานเคยเห็นหน้าตอนมากับจำเลยที่ 1 มาเที่ยวบ้านนายย่าฝาด เห็นหน้าอีกพยานจำได้ดี พนักงานสอบสวนนำสำเนาภาพถ่ายบัตรประจำตัวประชาชนของจำเลยที่ 2 ให้ดู พยานยืนยันว่าเป็นคนร้ายที่ยิงผู้ตาย แต่ชั้นศาลพยานเบิกความว่า ชายอีกคนหนึ่งที่นั่งหัวเรือพยานไม่รู้จักชายคนดังกล่าวคือ จำเลยที่ 2 พยานไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 2 มาก่อน นายดิรัสเบิกความว่า จำเลยที่ 1 เดินทางมากับเพื่อนขอยืมเรือ เพื่อนจำเลยที่ 1 ยืนอยู่ไกล พยานจึงไม่ทราบว่าเป็นใคร และนายพิทักษ์เบิกความว่า ส่วนชายอีกคนหนึ่งนอนอยู่บริเวณกลางเรือ พยานจำไม่ได้ พยานไม่ยืนยันจำเลยที่ 2 ดังนี้ ข้อเท็จจริงน่าสงสัยว่า พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ รู้จักชื่อและนามสกุลจำเลยที่ 2 ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ได้อย่างไร และนางละมุลจำคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายได้แน่นอนหรือไม่ กรณีมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 มาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 40, 253 วรรคสอง, 255 และ 258 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 149, 161 และ 167 และพิพากษาว่าค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งทั้งสองศาลและทั้งสองสำนวนให้เป็นพับนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะการที่ผู้เสียหายยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีอาญาขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ตนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 มิให้เรียกค่าธรรมเนียมตามมาตรา 253 วรรคหนึ่ง ส่วนมาตรา 253 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า ในกรณีที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์สิน หรือค่าสินไหมทดแทนตามวรรคหนึ่ง ถ้าศาลยังต้องจัดการอะไรอีกเพื่อการบังคับ ผู้ที่จะได้รับคืนทรัพย์สินหรือราคาหรือค่าสินไหมทดแทน จักต้องเสียค่าธรรมเนียมดังคดีแพ่งสำหรับการต่อไปนั้น หมายถึงค่าธรรมเนียมในชั้นบังคับคดี และมาตรา 255 ที่บัญญัติว่า ในคดีดังบัญญัติในมาตรา 253 วรรคสอง และมาตรา 254 ถ้ามีคำขอ ศาลมีอำนาจสั่งให้ฝ่ายที่แพ้คดีใช้ค่าธรรมเนียมแทนอีกฝ่ายหนึ่งได้ หมายถึงค่าธรรมเนียมในชั้นบังคับคดีตามมาตรา 253 วรรคสอง หรือค่าธรรมเนียมในคดีที่ผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์ตามมาตรา 254 และต้องมีคำขอทั้งสองกรณี ที่ศาลชั้นต้นไม่ได้มีคำสั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมจึงถูกต้องแล้ว
พิพากษายืน แต่ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่ว่าค่าฤชาธรรมเนียมในคดีส่วนแพ่งทั้งสองศาลและทั้งสองสำนวนให้เป็นพับ

Share