คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8046/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526 บัญญัติว่า “ในคดีหย่า ถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลงเพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้…” คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำอันเป็นเหตุหย่าของจำเลยหลายประการ ได้แก่ การด่าโจทก์ด้วยถ้อยคำดูถูกเหยียดหยาม การให้การยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา การทำร้ายร่างกาย และการไม่ให้การอุปการะเลี้ยงดู ซึ่งล้วนแต่เป็นเหตุหย่าอันเป็นความผิดของจำเลยทั้งสิ้น นอกจากนี้โจทก์ยังบรรยายฟ้องต่อไปว่า ก่อนสมรสกับจำเลย โจทก์ได้รับเงินช่วยเหลือเนื่องจากสามีคนเดิมเสียชีวิตจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เดือนละ 1,032.66 ดอลล่าสหรัฐ หรือประมาณ 36,000 บาท ในฐานะเป็นหม้าย จนกว่าโจทก์จะเสียชีวิตหรือสมรสใหม่ เมื่อโจทก์สมรสกับจำเลย โจทก์จึงหมดสิทธิรับเงินดังกล่าว และขอให้จำเลยจ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าขาดรายได้จากจำเลย เดือนละ 50,000 บาท นับแต่วันฟ้อง เห็นได้ว่าคำบรรยายฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้แสดงว่า โจทก์ไม่ได้รับสิทธิในการช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา และต้องยากจนลง แม้โจทก์ใช้ถ้อยคำว่า “จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดู” แต่มีคำว่า “ค่าขาดรายได้” เมื่อพิจารณาถึงคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ให้โจทก์ได้รับนับแต่วันฟ้องจนกว่าโจทก์จะเสียชีวิต ย่อมแสดงถึงเจตนาของโจทก์ว่าประสงค์จะได้เงินค่าเลี้ยงชีพ อันเป็นสิทธิที่ได้รับเมื่อหย่าแล้ว คำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ จึงเป็นการใช้สิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพ ซึ่งครบองค์ประกอบดังที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 1526 วรรคหนึ่ง ข้างต้นแล้ว เมื่อศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกันด้วยเหตุหย่าอันเป็นความผิดของจำเลย และปรากฏว่าโจทก์ยากจนลง จึงชอบที่จะให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2547 ระหว่างอยู่กินเป็นสามีภริยา จำเลยปฏิบัติตนเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง โดยจำเลยทำร้ายร่างกาย ทรมานจิตใจ หมิ่นประมาท เหยียดหยามให้โจทก์ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง และเปรียบเทียบโจทก์เป็นทาส ขอทาน สุนัขข้างถนน เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2552 จำเลยคบหากับนางสาวบังอร ฉันชู้สาวจนถึงปัจจุบัน และจำเลยไม่ให้เงินเลี้ยงดูโจทก์ โดยก่อนโจทก์จะจดทะเบียนสมรสกับจำเลย โจทก์ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาในฐานะที่เป็นหม้าย เดือนละ 1,032.66 ดอลล่าร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 36,000 บาท จนกว่าโจทก์จะเสียชีวิตหรือแต่งงานใหม่ เมื่อโจทก์แต่งงานกับจำเลย รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจึงระงับการจ่ายเงินดังกล่าว ขอให้พิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน ให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์เดือนละ 1,500 ดอลล่าร์สหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยเดือนละ 50,000 บาท จนกว่าโจทก์จะเสียชีวิต
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน กับให้จำเลยชำระค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท นับแต่วันมีคำพิพากษาจนกว่าโจทก์จะเสียชีวิตหรือสมรสใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ นับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุดเป็นต้นไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังว่า โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยากันโดยจดทะเบียนสมรส ก่อนสมรสโจทก์กับจำเลยอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อต้นปี 2547 ต่อมาเข้ามาอยู่ในประเทศไทย โจทก์กับจำเลยพักอาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 48 ถนนโชคชัย 4 ซอย 32 แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า การกระทำของจำเลยเป็นเหตุหย่าหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่เคยปฏิบัติตนเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากับโจทก์ ไม่เคยทำร้ายร่างกาย ทรมานจิตใจหรือหมิ่นประมาท เหยียดหยามโจทก์เป็นขอทาน หรือสุนัขข้างถนน เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยด่าโจทก์ด้วยถ้อยคำในวาระต่าง ๆ เป็นภาษาอังกฤษว่า “Street Dog” แปลว่า “หมาข้างถนน” ด่าว่า “อีบ้า โรคจิต ขี้อิจฉาริษยา อีเลว อีตอแหล อีหน้าผี อีสมองกลวง อีขอทาน อีหมาข้างถนน อีสติแตก” ด่าว่าโจทก์ต่อหน้าเพื่อนว่า “Beggar” แปลว่า “ขอทาน” อันเป็นถ้อยคำดูถูกเหยียดหยามโจทก์และเป็นการทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง ซึ่งเป็นเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (3) และ (6) แต่ตามฎีกาของจำเลยมิได้แสดงเหตุผลโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์โดยชัดแจ้งว่า จำเลยได้ด่าโจทก์ด้วยถ้อยคำดังกล่าวหรือไม่ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยไม่ถูกต้องอย่างไร จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ดังนี้ ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติว่า จำเลยได้กล่าวถ้อยคำเหยียดหยามโจทก์ อันเป็นการร้ายแรงและกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง อันเป็นเหตุหย่าดังที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (3) และ (6) แล้ว แม้จำเลยจะฎีกาโต้แย้งในข้ออื่นเกี่ยวกับจำเลยได้ให้การอุปการะเลี้ยงดูโจทก์หรือไม่ จำเลยยกย่องอุปการะหญิงอื่นฉันภริยาหรือไม่ ก็ไม่มีผลทำให้เหตุหย่าหมดไป หรือเปลี่ยนแปลงผลแห่งคำพิพากษาส่วนนี้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่สองว่า จำเลยต้องรับผิดใช้ค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด โดยจำเลยฎีกาว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูจากโจทก์ มิใช่ค่าเลี้ยงชีพ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1526 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในคดีหย่าถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้….” ในคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำอันเป็นเหตุหย่าของจำเลยหลายประการ ได้แก่ การด่าโจทก์ด้วยถ้อยคำดูถูกเหยียดหยาม การให้การยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา การทำร้ายร่างกาย และการไม่ให้การอุปการะเลี้ยงดู ซึ่งล้วนแต่เป็นเหตุหย่าอันเป็นความผิดของจำเลยทั้งสิ้น นอกจากนี้ โจทก์ยังบรรยายฟ้องต่อไปว่า ก่อนสมรสกับจำเลย โจทก์ได้รับเงินช่วยเหลือเนื่องจากสามีคนเดิมเสียชีวิตจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เดือนละ 1,032.66 ดอลล่าร์สหรัฐ หรือประมาณ 36,000 บาท ในฐานะเป็นหม้าย จนกว่าโจทก์จะเสียชีวิตหรือสมรสใหม่ เมื่อโจทก์สมรสกับจำเลย โจทก์จึงหมดสิทธิรับเงินดังกล่าว และขอให้จำเลยจ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าขาดรายได้จากจำเลย เดือนละ 50,000 บาท นับแต่วันฟ้อง เห็นว่า คำบรรยายฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้แสดงว่า โจทก์ไม่ได้รับสิทธิในการช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา และต้องยากจนลง แม้โจทก์ใช้ถ้อยคำว่า “จ่ายเงินค่าอุปการะเลี้ยงดู” แต่มีคำว่า ค่าขาดรายได้ เมื่อพิจารณาถึงคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ให้โจทก์ได้รับ นับแต่วันฟ้องจนกว่าโจทก์จะเสียชีวิต ย่อมแสดงถึงเจตนาของโจทก์ว่าประสงค์จะได้รับเงินค่าเลี้ยงชีพ อันเป็นสิทธิที่จะได้รับเมื่อหย่าแล้ว คำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ จึงเป็นการใช้สิทธิเรียกค่าเลี้ยงชีพ ซึ่งครบองค์ประกอบดังที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 1526 วรรคหนึ่ง ข้างต้นแล้ว เมื่อศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกัน ด้วยเหตุหย่าอันเป็นความผิดของจำเลย และปรากฏว่าโจทก์ยากจนลง จึงชอบที่จะให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ได้ ส่วนปัญหาว่า จำเลยต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพเพียงใดนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1526 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ค่าเลี้ยงชีพนี้ศาลอาจให้เพียงใดหรือไม่ให้ก็ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้ให้และฐานะของผู้รับ…” ในข้อนี้โจทก์เบิกความประกอบพยานเอกสารว่า จำเลยได้รับเงินบำนาญจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เดือนละ 1,451 ดอลล่าร์สหรัฐ และมีเงินได้จากเงินปันผลในเงินลงทุนกับบริษัทออพเพนฮายม์รจำนวน 273,061.68 ดอลล่าร์สหรัฐ ส่วนจำเลยมีนายธนพล ผู้รับมอบอำนาจเบิกความว่า จำเลยมีรายได้จากเงินช่วยเหลือของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา เดือนละ 2,000 ดอลล่าร์สหรัฐ เท่านั้น โดยมิได้โต้แย้งพยานหลักฐานของโจทก์ให้ฟังเป็นอย่างอื่น แม้จำเลยฎีกาว่าโจทก์ยังได้รับเงินช่วยเหลือให้การอุปการะเลี้ยงดูจากบุตร และจำเลยต้องเช่าบ้านเพื่อพักอาศัยเองก็ตาม แต่มิได้ระบุถึงจำนวนค่าเช่าพร้อมแสดงพยานหลักฐานมาประกอบเช่นนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยจ่ายเงินค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ เดือนละ 10,000 บาท เหมาะสมแก่ฐานานุรูปของโจทก์และจำเลยแล้ว แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ปัจจุบันจำเลยมีอายุ 75 ปี (เกิดวันที่ 30 เมษายน 2481) เมื่อคำนึงถึงระยะเวลาที่โจทก์กับจำเลยอยู่กินด้วยกันในฐานะสามีภริยา ภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของจำเลยในอนาคตที่ต้องเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากจำเลยอยู่ในวัยชรา ย่อมมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพและค่ารักษาพยาบาล ส่วนโจทก์มีบุตรที่เกิดจากสามีคนก่อนซึ่งประกอบอาชีพแล้ว ย่อมอยู่ในฐานะที่จะอุปการะเลี้ยงดูโจทก์ได้อีกทางหนึ่ง หากให้จำเลยรับผิดชอบในค่าเลี้ยงชีพจนกว่าโจทก์จะเสียชีวิตหรือสมรสใหม่ก็จะเป็นระยะเวลายาวนานเกินควรแก่ความสามารถของจำเลย เห็นสมควรให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์เป็นเวลา 5 ปี เว้นแต่โจทก์สมรสใหม่ภายในระยะเวลาดังกล่าว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ มีกำหนด 5 ปี เว้นแต่โจทก์สมรสใหม่ภายในระยะเวลาดังกล่าว ทั้งนี้ ให้นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share