คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1407/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีตั้งผู้จัดการมรดก เมื่อศาลสั่งตั้งผู้จัดการมรดกแล้วผู้มีส่วนได้เสียจะขอให้ศาลถอนผู้จัดการมรดกโดยเสนอคำร้องขอเข้ามาในคดีเดิมได้ ไม่จำต้องฟ้องเป็นคดีใหม่

ย่อยาว

เรื่องนี้ เดิมนายอัมพร วิเศษแพทยา กับนายประสิทธิศักดิ์ กลิ่นสุนทร ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายสิงห์ กลิ่นสุนทร นางกราย กลิ่นสุนทร ภรรยานายสิงห์ผู้ตายยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ร้องคัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก ต่อมานายประเสริฐ สมะลาภา ได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับนายอัมพร วิเศษแพทยา กับนายประสิทธิ์ศักดิ์ กลิ่นสุนทร

วันนัดไต่สวน ผู้ร้องและผู้ร้องคัดค้านตกลงกันได้ ผู้ร้องคัดค้านจึงขอถอนคำร้องคัดค้าน ศาลอนุญาตและทำการไต่สวนมีคำสั่งตั้งให้ผู้ร้องทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกของนายสิงห์ กลิ่นสุนทร

ต่อมานางอุทิศ วิเศษแพทยา ทายาทกองมรดกของนายสิงห์ กลิ่นสุนทร ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนนายประสิทธิศักดิ์ กลิ่นสุนทร กับนายประเสริฐ สมะลาภา ออกจากเป็นผู้จัดการมรดกของนายสิงห์ กลิ่นสุนทร

ศาลชั้นต้นเห็นว่า คำร้องของผู้ร้องเป็นคดีมีข้อพิพาท จึงสั่งให้ผู้ร้องไปดำเนินการฟ้องร้องเข้ามาเป็นอีกคดีหนึ่งต่างหาก

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องของผู้ร้องไว้ดำเนินการและมีคำสั่งต่อไปตามรูปคดีค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งใหม่

นายประสิทธิ์ศักดิ์ กลิ่นสุนทร และนายประเสริฐ สมะลาภา ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลได้มีคำสั่งตั้งให้ผู้ร้องทั้งสามเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ผู้ร้องจึงมีสิทธิและหน้าที่จัดการทรัพย์มรดกนั้นไปตามบทบังคับแห่งกฎหมาย หากปรากฏว่าผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่หรือมีเหตุอันสมควรแก่การที่จะถอดถอนอย่างอื่นใด ผู้มีส่วนได้เสียก็ชอบที่จะร้องขอให้ศาลถอนผู้จัดการมรดกนั้นเสียได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1727 ซึ่งบัญญัติให้ร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลง อันหมายถึงการร้องเข้ามาในคดีเดิมนั้นเอง โดยบทบัญญัติดังกล่าวใช้คำว่าร้องขอ ซึ่งเมื่อศาลตั้งผู้ร้องทั้งสามให้เป็นผู้จัดการมรดกแล้ว การสั่งถอนก็ต้องสั่งในคดีเดิม เพราะมีประเด็นเช่นเดียวกันว่าผู้ร้องทั้งสามสมควรจะเป็นผู้จัดการมรดกนั้นต่อไปเพียงไรหรือไม่ กรณีนี้ นางอุทิศ วิเศษแพทยา ผู้ร้องเป็นทายาทในกองมรดกของนายสิงห์ กลิ่นสุนทร เป็นผู้มีส่วนได้เสียผู้หนึ่ง ย่อมมีสิทธิขอให้ถอนผู้จัดการมรดกได้โดยยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีนี้ ไม่จำต้องฟ้องเป็นคดีขึ้นมาใหม่ต่างหาก

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำสั่งในคดีนี้

Share