คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1407/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เป็นเจ้าของที่ดินอยู่แปลงหนึ่งแล้ว ต่อมาได้รับโอนที่ดินมาอีกแปลงหนึ่ง แม้ที่ดินที่ได้รับโอนมาใหม่จะมีเขตติดต่อกับที่ดินแปลงเดิม ก็ย่อมต้องถือว่าเป็นที่ดินคนละแปลง ฉะนั้นเมื่อโอนขายที่ดินแปลงที่ได้รับโอนมาภายหลังให้แก่คนอื่นไปทั้งแปลง ดังนี้ จะถือว่าเป็นที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนจากที่ดินแปลงเดิมของเจ้าของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1350 ไม่ได้ เพราะเป็นที่ดินต่างแปลงกันมาแต่เดิม เมื่อปรากฏว่า ที่ดินแปลงหลังถูกล้อมไม่มีทางออก ก็จะนำมาตรา 1350 มาใช้บังคับไม่ได้ ต้องใช้มาตรา 1349 บังคับ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินของโจทก์ตกอยู่ในที่ล้อมไม่มีทางออกเดิมจำเลยเคยยอมให้ผ่านที่ดินของจำเลย ออกสู่ทางสาธารณะจนตกอยู่ในภารจำยอม บัดนี้ จำเลยปิดเสีย จึงขอให้เปิด

ศาลชั้นต้นฟังว่า ทางเดินไม่ใช่ทางภารจำยอม และไม่ใช่ทางจำเป็น จึงยกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ทางพิพาทถูกปิดมิให้ใช้มา 10 ปีแล้ว จึงไม่ตกอยู่ในภารจำยอม แต่ปรากฏว่าที่ดินของโจทก์ถูกล้อมรอบโดยที่ดินของผู้อื่นไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ นางเถียะเจ้าของที่ดินของโจทก์แต่เดิมเคยใช้ทางพิพาทนี้เข้าออกสู่ทางสาธารณะ ต่อมานางเถียะจำนองที่ดินแก่นางโถแล้วหลุดเป็นสิทธิแก่นางโถ แล้วนางโถขายแก่โจทก์ นางโถมีที่ดินอีก 1 แปลงต่างหากอยู่ทางเหนือติดต่อกับที่ดินที่ขายให้โจทก์นี้

ฉะนั้น จะถือว่า ที่ดินของโจทก์ เป็นที่ดินแบ่งแยกหรือแบ่งโอนจากนางโถไม่ได้ เพราะเป็นที่ดินต่างแปลงกันมาแต่เดิม โจทก์ไม่มีสิทธิจะเรียกร้องเอาทางเดินจากนางโถได้ ฉะนั้นโจทก์จึงมีความจำเป็นที่จะต้องขอเดินตามเส้นทางพิพาท โดยอาศัยสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1349

จึงพิพากษากลับว่า โจทก์มีสิทธิทำทางผ่านที่ของจำเลยตามแนวเส้นสีแดงในแผนที่สังเขปท้ายฟ้องได้ แต่ไม่ตัดสิทธิของจำเลยที่จะว่ากล่าวในเรื่องค่าทดแทนตามมาตรา 1349 วรรคท้าย

Share