แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 91 บัญญัติว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วมีมติว่าข้อกล่าวหาใดไม่มีมูลให้ข้อกล่าวหานั้นเป็นอันตกไป ข้อกล่าวหาใดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่ามีมูลความผิดให้ดำเนินการดังต่อไปนี้ (1) ถ้ามีมูลความผิดทางวินัย ให้ดำเนินการตามมาตรา 92 ซึ่งบัญญัติว่า ในกรณีมีมูลความผิดทางวินัย เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดแล้วมีมติว่าผู้ถูกกล่าวหาผู้ใดกระทำความผิดวินัย ให้ประธานกรรมการส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่ พร้อมทั้งความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาผู้นั้นเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก ในการพิจารณาโทษทางวินัยแก่ผู้ถูกกล่าวหาให้ถือว่ารายงานเอกสารและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัยตามกฎหมายหรือระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหานั้นๆ แล้วแต่กรณี บทบัญญัติดังกล่าวบังคับเฉพาะกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดวินัยเท่านั้นที่ให้ถือตามรายงานเอกสารและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้บังคับในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูลความผิด จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จึงยังคงมีอำนาจมีมติให้คณะกรรมการสอบสวนวินัยสอบสวนโจทก์ได้ ไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 ที่ใช้บังคับในขณะนั้น มาตรา 25 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ให้มีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคล และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยมีประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด มาตรา 28 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งมีเลขาธิการคนหนึ่ง ซึ่งประธานกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2542 ข้อ 76 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า พนักงานผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้เลขาธิการหรือประธานกรรมการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ แล้วแต่กรณี สั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออกตามความร้ายแรงแห่งกรณี และ ( 2 ) กำหนดว่า สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ให้ประธานกรรมการเป็นผู้สั่งการ ดังนั้น แม้คณะกรรมการสอบสวนวินัยรายงานการสอบสวนโจทก์ว่าเห็นควรยุติเรื่องและจำเลยที่ 1 เห็นชอบ ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นผู้มีอำนาจให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งและลงโทษโจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ในฐานะคณะกรรมการการเลือกตั้งจึงมีอำนาจมีมติให้คณะกรรมการสอบสวนวินัยสอบสวนโจทก์ต่อไปได้ ไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 83 และ 91 กับนับโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในคดีดังกล่าว
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสี่ให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จำเลยที่ 3 ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) ให้จำหน่ายคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาประการแรกว่า การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าข้อกล่าวหาโจทก์ไม่มีมูล ให้ยุติเรื่อง จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ไม่มีอำนาจมีมติให้คณะกรรมการสอบสวนวินัยสอบสวนโจทก์ได้อีก เห็นว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 91 บัญญัติว่า เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วมีมติว่าข้อกล่าวหาใดไม่มีมูลให้ข้อกล่าวหานั้นเป็นอันตกไป ข้อกล่าวหาใดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่ามีมูลความผิดให้ดำเนินการดังต่อไปนี้ (1) ถ้ามีมูลความผิดทางวินัย ให้ดำเนินการตามมาตรา 92 ซึ่งบัญญัติว่า ในกรณีมีมูลความผิดทางวินัย เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้พิจารณาพฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดแล้วมีมติว่าผู้ถูกกล่าวหาผู้ใดได้กระทำความผิดวินัย ให้ประธานกรรมการส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่ พร้อมทั้งความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ถูกกล่าวหาผู้นั้นเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีมติโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอีก ในการพิจารณาโทษทางวินัยแก่ผู้ถูกกล่าวหาให้ถือว่ารายงานเอกสารและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะกรรมการสอบสวนวินัย ตามกฎหมายหรือระเบียบหรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลของ ผู้ถูกกล่าวหานั้นๆ แล้วแต่กรณี บทบัญญัติดังกล่าวบังคับเฉพาะกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำความผิดวินัยเท่านั้นที่ให้ถือตามรายงานเอกสารและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้บังคับในกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูลความผิด จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 จึงยังคงมีอำนาจมีมติให้คณะกรรมการสอบสวนวินัยสอบสวนโจทก์ได้ ไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 2/2546 ที่โจทก์อ้างมีข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้
โจทก์ฎีกาประการที่สองว่า การที่คณะกรรมการสอบสวนวินัยซึ่งนายปราโมทย์เป็นประธานกรรมการรายงานการสอบสวนเห็นควรยุติเรื่อง และจำเลยที่ 1 เห็นชอบแล้ว จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ในฐานะคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่มีอำนาจมีมติให้คณะกรรมการสอบสวนวินัยสอบสวนโจทก์ต่อไป เห็นว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 ที่ใช้บังคับในขณะนั้น มาตรา 25 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ให้มีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นหน่วยงานของรัฐมีฐานะเป็นนิติบุคคล และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยมีประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด มาตรา 28 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งมีเลขาธิการคนหนึ่ง ซึ่งประธานกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ.2542 ข้อ 76 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า พนักงานผู้ใดกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้เลขาธิการหรือประธานกรรมการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการ แล้วแต่กรณี สั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออกตามความร้ายแรงแห่งกรณี และ ( 2 ) กำหนดว่า สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ให้ประธานกรรมการเป็นผู้สั่งการ ดังนั้น แม้คณะกรรมการสอบสวนวินัยรายงานการสอบสวนโจทก์ว่าเห็นควรยุติเรื่องและจำเลยที่ 1 เห็นชอบ ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งซึ่งเป็นผู้มีอำนาจให้ความเห็นชอบในการแต่งตั้งและลงโทษโจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ในฐานะคณะกรรมการการเลือกตั้งจึงมีอำนาจมีมติให้คณะกรรมการสอบสวนวินัยสอบสวนโจทก์ต่อไปได้ ไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
โจทก์ฎีกาประการที่สามว่า การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ดำเนินการสอบสวนวินัยโจทก์เพียงผู้เดียว ไม่แต่งตั้งกรรมการสอบสวนวินัยคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาด้วยเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพื่อกลั่นแกล้งโจทก์ เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ เห็นว่า โจทก์ไม่ได้ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบในเรื่องนี้ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยก็เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง จึงไม่วินิจฉัย
โจทก์ฎีกาประการสุดท้ายว่า การที่จำเลยที่ 2 แต่งตั้งนายมนตรี ข้าราชการรัฐสภาสามัญ เป็นประธานกรรมการ และพลตำรวจโทเสรีพิศุทธิ์ ข้าราชการตำรวจ เป็นกรรมการ เพื่อดำเนินการสอบสวนวินัยโจทก์เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะนายมนตรีกับพลตำรวจโทเสรีพิศุทธิ์ไม่ใช่ข้าราชการฝ่ายพลเรือน เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องคัดค้านว่าคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยโจทก์ไม่ชอบ จำเลยที่ 1 ก็มีคำสั่งเปลี่ยนแปลงกรรมการสอบสวนโดยแต่งตั้งนายปราโมทย์และกรรมการอีก 2 คน แทน โจทก์มิได้คัดค้านว่าคำสั่งเปลี่ยนแปลงและแต่งตั้งกรรมการสอบสวนวินัยโจทก์ดังกล่าวไม่ชอบอีก จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่านายมนตรีและพลตำรวจโทเสรีพิศุทธิ์เป็นข้าราชการฝ่ายพลเรือนหรือไม่ ไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน