คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8368/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยนอกจากจะให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่ได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์หลอกลวงให้จำเลยลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับหนังสือมอบอำนาจโดยไม่ได้กรอกข้อความ จำเลยยังได้ให้การอีกว่า ในขณะที่จำเลยกระทำการดังกล่าว จำเลยไม่สามารถรู้สึกผิดชอบอย่างบุคคลทั่วไป การแสดงเจตนาของจำเลยเป็นไปโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม แม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดประเด็นว่า จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทและลงลายมือชื่อในเอกสารท้ายฟ้องรวมทั้งมอบหนังสือมอบอำนาจให้โอนที่ดินพิพาทโดยถูกโจทก์หลอกลวงอันเป็นเหตุให้นิติกรรมซื้อขายเป็นโมฆะหรือไม่ แต่ก็ได้วินิจฉัยว่าจำเลยป่วยเป็นโรคจิตทางอารมณ์และเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล เป็นผู้มีจิตไม่สมประกอบจนศาลมีคำสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ โจทก์หลอกลวงจำเลยในขณะที่จำเลยมีสติสัมปชัญญะไม่สมประกอบ ให้ส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาท และลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับหนังสือมอบอำนาจโดยจำเลยไม่มีเจตนาที่จะขายที่ดินให้แก่โจทก์ นิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆะ กรณีถือได้ว่าข้อที่ว่า ในขณะที่จำเลยกระทำการดังกล่าวจำเลยมีสติสัมปชัญญะหรือรู้สำนึกผิดชอบหรือไม่เป็นประเด็นแห่งคดีรวมอยู่ในประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ด้วยทั้งโจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่า ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นที่กำหนดไว้แต่อย่างใด คงอุทธรณ์โต้แย้งว่า โจทก์ไม่ได้หลอกลวงจำเลยและจำเลยมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ อันถือเป็นการยอมรับว่าประเด็นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยเป็นประเด็นในคดี ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์แก้ไขประเด็นเป็นว่าขณะที่จำเลยลงลายมือชื่อในเอกสารตามฟ้อง จำเลยสามารถรู้สำนึกผิดชอบอย่างบุคคลทั่วไปหรือไม่ จึงยังคงอยู่ในประเด็นแห่งคดีและที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวก็หาเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นไม่ โจทก์รู้ดีว่าจำเลยป่วยมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ แม้อาการป่วยของจำเลยจะไม่ถึงขนาดไม่สามารถรู้สำนึกผิดชอบอันเป็นการขาดเจตนาในการทำนิติกรรมก็ตาม แต่เมื่อจำเลยกระทำในขณะที่มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์และโจทก์รู้อยู่แล้วสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทที่จำเลยกระทำไปก็ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 32(เดิม) จำเลยมีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 137(เดิม) เมื่อจำเลยได้บอกล้างภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 143(เดิม) แล้ว สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจึงตกเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 138 วรรคหนึ่ง (เดิม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 34871 และ 44489 โดยซื้อมาจากจำเลยเมื่อวันที่6 กุมภาพันธ์ 2533 ต่อมาวันที่ 18 มิถุนายน 2533 จำเลยได้ขออายัดที่ดินดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานที่ดินโดยอ้างว่าโจทก์หลอกลวงเอาโฉนดที่ดินดังกล่าวของจำเลยไปแล้วโอนกรรมสิทธิ์เป็นของโจทก์ ซึ่งไม่เป็นความจริง การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์เสียหายโดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าโจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวกับบุคคลภายนอกหากไม่สามารถโอนให้บุคคลภายนอกได้โจทก์จะถูกปรับเป็นเงิน 220,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยยกเลิกการอายัด ห้ามจำเลยยุ่งเกี่ยวและกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับที่ดินตามฟ้อง หากไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยกับให้จำเลยชดใช้เงินจำนวน 220,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่เคยขายที่ดินพิพาทตามฟ้องให้แก่โจทก์ เมื่อประมาณต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2533โจทก์ได้หลอกลวงจำเลยโดยขอยืมโฉนดที่ดินตามฟ้องของจำเลยเพื่อนำไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้กู้ยืมของโจทก์แล้วโจทก์ได้หลอกลวงจำเลยให้ลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 โดยยังไม่ได้กรอกข้อความ แต่แล้วโจทก์กลับกรอกข้อความเป็นสัญญาขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์อันเป็นเอกสารปลอม นอกจากนี้โจทก์ยังให้จำเลยลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจโดยยังไม่ได้กรอกข้อความเช่นกันโดยอ้างว่าจะเป็นผู้ไปดำเนินการจดทะเบียนจำนองแทนจำเลย แต่แล้วโจทก์กลับกรอกข้อความว่าจำเลยได้มอบอำนาจให้โจทก์ไปดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ และได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์2533 ขณะที่จำเลยลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท และหนังสือมอบอำนาจนั้นจำเลยไม่สามารถรู้สำนึกผิดชอบอย่างบุคคลทั่วไป โดยกำลังป่วยมีอาการทางจิตและอยู่ในระหว่างรักษาพยาบาลการแสดงเจตนาของจำเลยเป็นไปโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรม นิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยตกเป็นโมฆะ จำเลยได้อายัดที่ดินพิพาทโดยสุจริตในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง การกระทำของจำเลยไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้องโจทก์และพิพากษาว่านิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยตกเป็นโมฆะ ให้โจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกลับคืนมาเป็นของจำเลย หากโจทก์ไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์กับให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของราคาที่ดินพิพาทในต้นเงิน 700,000 บาท นับแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์2533 จนกว่าโจทก์จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทกลับคืนมาเป็นของจำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับโจทก์อย่างถูกต้อง และจำเลยลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจด้วยความเต็มใจและมีสติสัมปชัญญะเช่นคนธรรมดาทั่วไป โจทก์ไม่เคยหลอกลวงจำเลยด้วยประการใด ๆ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้นิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาท ระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นโมฆะ ให้โจทก์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 34871 และ 44489 กลับคืนมาเป็นของจำเลยหากโจทก์ไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ คำขออื่นของจำเลยนอกจากนี้ให้ยกและให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังยุติได้ว่า เดิมที่ดินพิพาทตามโฉนดเลขที่ 34871 และ 44489 เป็นของจำเลย ต่อมามีการจดทะเบียนโอนเป็นของโจทก์ จำเลยได้อายัดที่ดินพิพาทต่อเจ้าพนักงานที่ดิน
คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ในข้อแรกว่า ประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดว่า จำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทและลงลายมือชื่อในเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 รวมทั้งหนังสือมอบอำนาจให้โอนที่ดินพิพาทโดยถูกโจทก์หลอกลวงอันเป็นเหตุให้นิติกรรมซื้อขายเป็นโมฆะหรือไม่ ชอบด้วยคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลย กับคำให้การแก้ฟ้องแย้งของโจทก์แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์แก้ไขประเด็นเป็นว่าขณะที่จำเลยลงลายมือชื่อในเอกสารตามฟ้องจำเลยสามารถรู้สำนึกผิดชอบอย่างบุคคลทั่วไปหรือไม่เป็นการไม่ชอบ และที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยตามประเด็นที่แก้ไขใหม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นนั้น เห็นว่า จำเลยนอกจากจะให้การและฟ้องแย้งว่าจำเลยไม่ได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์หลอกลวงให้จำเลยลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3กับหนังสือมอบอำนาจโดยไม่ได้กรอกข้อความแล้ว ยังให้การและฟ้องแย้งว่า ในขณะที่จำเลยกระทำการดังกล่าวจำเลยไม่สามารถรู้สึกผิดชอบอย่างบุคคลทั่วไปโดยกำลังป่วยมีอาการทางจิตการแสดงเจตนาของจำเลยเป็นไปโดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมเป็นโมฆะ ดังนี้ แม้ศาลชั้นต้นจะกำหนดประเด็นว่าจำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทและลงลายมือชื่อในเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 รวมทั้งหนังสือมอบอำนาจให้โอนที่ดินพิพาทโดยถูกโจทก์หลอกลวงอันเป็นเหตุให้นิติกรรมซื้อขายเป็นโมฆะหรือไม่แต่ก็ได้วินิจฉัยว่าจำเลยป่วยเป็นโรคจิตทางอารมณ์ และเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2532 เป็นผู้มีจิตไม่สมประกอบจนศาลมีคำสั่งเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2533ให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ โจทก์หลอกลวงจำเลยในขณะที่จำเลยมีสติสัมปชัญญะไม่สมประกอบให้ส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทและลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ.3 กับหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.4 โดยจำเลยไม่มีเจตนาที่จะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ นิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆะ กรณีถือได้ว่าข้อที่ว่าในขณะที่จำเลยกระทำการดังกล่าว จำเลยมีสติสัมปชัญญะหรือรู้สำนึกผิดชอบหรือไม่ เป็นประเด็นแห่งคดีรวมอยู่ในประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ด้วย ทั้งโจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่าที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นที่กำหนดไว้แต่อย่างใด คงอุทธรณ์โต้แย้งว่าโจทก์ไม่ได้หลอกลวงจำเลยและจำเลยมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์อันถือเป็นการยอมรับว่าประเด็นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยเป็นประเด็นในคดี ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์แก้ไขประเด็นเป็นว่า ขณะที่จำเลยลงลายมือชื่อในเอกสารตามฟ้องจำเลยสามารถรู้สำนึกผิดชอบอย่างบุคคลทั่วไปหรือไม่ จึงยังคงอยู่ในประเด็นแห่งคดีดังได้วินิจฉัยมา หาเป็นการไม่ชอบไม่ และที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวก็หาเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นไม่
ปัญหาข้อต่อไปซึ่งโจทก์ฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้หลอกลวงจำเลยและขณะที่จำเลยลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.3 กับหนังสือมอบอำนาจให้โอนที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ.4 จำเลยรู้สำนึกผิดชอบมีสติสัมปชัญญะอย่างบุคคลทั่วไปเห็นว่า แม้จำเลยจะไม่มีพยานรู้เห็นในขณะที่จำเลยลงลายมือชื่อในเอกสารดังกล่าวจำเลยไม่สามารถรู้สำนึกผิดชอบหรือมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์อย่างบุคคลทั่วไปก็ตาม แต่ปรากฏว่าจำเลยเริ่มไปให้แพทย์ตรวจรักษาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2532 จนกระทั่งวันที่ 30 สิงหาคม 2533 และแพทย์ที่รักษาจำเลยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2533 ยืนยันว่าจำเลยมีความผิดปกติทางความคิดและอารมณ์ จัดว่าเป็นผู้ป่วยประเภทโรคจิตทางอารมณ์ ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ มีความผิดปกติในความคิดเป็นบางครั้ง คิดในลักษณะมีเหตุมีผลดังเช่นคนปกติไม่ได้ การตัดสินใจบกพร่อง ทำงานอย่างคนปกติไม่ได้ คนไข้ประเภทนี้เกิน 80 เปอร์เซ็นต์ จะรักษาไม่หายจึงเชื่อว่าในขณะที่จำเลยลงลายมือชื่อในสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ.3 และหนังสือมอบอำนาจให้โอนที่ดินพิพาทเอกสารหมายจ.4 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2533 จำเลยกระทำไปโดยมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ แล้วศาลฎีกาวินิจฉัยต่อไปว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์กับจำเลยรู้จักสนิทสนมกัน จึงเชื่อว่าโจทก์รู้ดีว่าจำเลยป่วยมีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์แม้อาการป่วยของจำเลยจะไม่ถึงขนาดไม่สามารถรู้สำนึกผิดชอบอันเป็นการแสดงเจตนาในการทำนิติกรรมก็ตาม แต่เมื่อจำเลยกระทำในขณะที่มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์และโจทก์รู้อยู่แล้วดังได้วินิจฉัยมา สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทที่จำเลยกระทำไปก็ตกเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 32 (เดิม) จำเลยมีสิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 137 (เดิม) และการที่จำเลยให้การต่อสู้คดีและฟ้องแย้งคดีนี้เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2533 ซึ่งนับแต่วันที่จำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2533 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี ถือได้ว่าเป็นการบอกล้างภายใน 1 ปี นับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 143 (เดิม) แล้ว สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจึงตกเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 138 วรรคหนึ่ง (เดิม)
พิพากษายืน

Share