แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้คัดค้านได้ยื่นบัญชีพยานระบุว่าพินัยกรรมของผู้ตายอยู่ที่ผู้ร้อง และได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้ออกคำสั่งเรียกพินัยกรรมดังกล่าวจากผู้ร้อง 2 ครั้ง ศาลชั้นต้นออกคำสั่งเรียกให้ตามขอวันนัดไต่สวนพยานผู้คัดค้าน ผู้ร้องยื่นคำแถลงต่อศาลชั้นต้นว่าผู้ร้องไม่เคยมีพินัยกรรมของผู้ตายไว้ในครอบครอง ดังนี้จึงเป็นเรื่องหาต้นฉบับเอกสารไม่ได้ เมื่อผู้คัดค้านได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกคำสั่งเรียกต้นฉบับพินัยกรรมของผู้ตายจากผู้ร้อง อันเป็นการแสดงเหตุจำเป็นที่ส่งต้นฉบับเอกสารเป็นพยานไม่ได้ไว้ก่อนแล้ว การที่ศาลชั้นต้นรับฟังสำเนาเอกสารดังกล่าวจึงเท่ากับศาลชั้นต้นอนุญาตให้นำสำเนาเอกสารหรือพยานบุคคลมาสืบได้ ไม่เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(2) คำร้องขอถอนผู้จัดการมรดกและขอตั้งผู้คัดค้านเป็นแทนนั้นไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องมีพยานเอกสารมาแสดงประกอบคำร้องขอทั้งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 มิได้ห้ามการนำสืบหักล้างพยานเอกสารด้วยพยานเอกสาร ผู้คัดค้านมีสิทธินำสืบเกี่ยวกับพินัยกรรมได้แม้สัญญาประนีประนอมยอมความจะระบุว่าไม่มีพินัยกรรมการนำสืบของผู้คัดค้านไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านคำร้องของผู้คัดค้านว่า ผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ พินัยกรรมที่ผู้คัดค้านอ้างเป็นพินัยกรรมปลอม มิได้โต้เถียงว่าพินัยกรรมเป็นโมฆะ เพราะพยานในพินัยกรรมมิได้ลงลายมือชื่อในขณะทำพินัยกรรม ปัญหาว่าพินัยกรรมของผู้ตายเป็นโมฆะหรือไม่จึงมิใช่ประเด็นข้อพิพาทและมิใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ แม้ปัญหาดังกล่าวจะเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ศาลฎีกาไม่เห็นสมควรจะยกขึ้นวินิจฉัย จึงไม่รับวินิจฉัย ผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินของผู้ตายทั้งหมดให้แก่กิจการกุศลสาธารณประโยชน์โดยตั้งให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามพินัยกรรม เมื่อผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่กิจการกุศลสาธารณประโยชน์อันถือว่าผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายถูกตัดมิให้รับมรดกของผู้ตายเสียแล้ว ผู้ร้องย่อมไม่มีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตาย กรณีจึงมีเหตุสมควรที่จะถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1727 และตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแทน.
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากผู้ร้องได้รับแต่งตั้งจากศาลชั้นต้นให้เป็นผู้จัดการมรดกของนายหมัดใจบุญมาเลิศ ผู้ตาย ต่อมาผู้คัดค้านที่ 1ถึงที่ 3 ยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านทั้งสามเป็นทายาทของผู้ตายผู้ร้องไม่จัดการแบ่งมรดกให้ถูกฟ้อง จึงขอให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก และตั้งให้ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และนายทวีศักดิ์วงษ์มาน เป็นผู้จัดการมรดกต่อไป
ผู้คัดค้านที่ 4 ถึงที่ 7 ยื่นคำร้องทำนองเดียวกันว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมไว้ ตามพินัยกรรมตั้งให้ผู้คัดค้านที่ 4 ถึงที่ 7เป็นผู้จัดการมรดกเพื่อจัดตั้งเป็นมูลนิธิ ต่อมาผู้คัดค้านที่ 4ถึงที่ 7 ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับผู้ร้องว่า จะไม่จัดการมรดกตามพินัยกรรมและให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดก หลังจากผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ผู้ร้องไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงจัดตั้งมูลนิธิและเบียดบังทรัพย์มรดก จึงขอให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก และตั้งผู้คัดค้านที่ 4 ถึงที่ 7 เป็นผู้จัดการมรดกต่อไป
ผู้ร้องยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้ร้องจัดการมรดกไปโดยชอบ ผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้แต่อย่างใด ลายพิมพ์นิ้วมือในพินัยกรรมไม่ใช่ลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ตาย จึงเป็นพินัยกรรมปลอม
ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 ขอถอนคำร้องเฉพาะที่ขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก ศาลชั้นต้นอนุญาต
ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 ยื่นคำคัดค้านคำร้องของผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5 ว่า ผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5 มิใช่ทายาทของผู้ตาย ผู้ตายมิได้ทำพินัยกรรมไว้ พินัยกรรมที่ผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5 อ้างนั้นเป็นพินัยกรรมปลอม ขอคัดค้านการตั้งผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ตั้งผู้คัดค้านที่ 4 ถึงที่ 7 ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ให้ยกคำร้องของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3
ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้คัดค้านที่ 4 ถึงที่ 7 ได้ยื่นบัญชีพยานระบุว่าพินัยกรรมของผู้ตายอยู่ที่ผู้ร้องและได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ขอให้ออกคำสั่งเรียกพินัยกรรมดังกล่าวจากผู้ร้องถึง2 ครั้ง ศาลชั้นต้นได้ออกคำสั่งเรียกให้ตามขอ ต่อมาวันที่ 23กรกฎาคม 2527 อันเป็นวันนัดไต่สวนพยานผู้คัดค้านที่ 6 ที่ 7ผู้ร้องได้ยื่นคำแถลงต่อศาลชั้นต้นว่า ผู้ร้องไม่เคยมีพินัยกรรมของผู้ตายไว้ในครอบครองและเชื่อว่าไม่เคยมีพินัยกรรมดังกล่าวดังนี้ เมื่อผู้คัดค้านที่ 4 ถึงที่ 7 อ้างว่าต้นฉบับอยู่กับฝ่ายผู้ร้อง ผู้ร้องปฏิเสธว่าไม่มี จึงเป็นเรื่องหาต้นฉบับเอกสารไม่ได้ทั้งผู้คัดค้านที่ 4 ถึงที่ 7 ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกคำสั่งเรียกต้นฉบับพินัยกรรมของผู้ตายจากผู้ร้อง อันเป็นการแสดงเหตุจำเป็นที่ส่งต้นฉบับเอกสารเป็นพยานไม่ได้ไว้ก่อนแล้ว การที่ศาลชั้นต้นรับฟังสำเนาเอกสารดังกล่าวจึงเท่ากับศาลชั้นต้นอนุญาตให้นำสำเนาเอกสารหรือพยานบุคคลมาสืบได้ ไม่เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93(2)
ปัญหาต่อไป ผู้ร้องฎีกาว่า การนำสืบของผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5เกี่ยวกับพินัยกรรมเป็นการนำสืบแก้ไขต้นฉบับและสำเนาสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย ค.3 และ ค.6 ที่ ระบุว่าไม่มีพินัยกรรม จึงต้องห้ามในการรับฟังพยานหลักฐานนั้น เห็นว่าคำร้องขอของผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5 ให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและตั้งผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5 เป็นแทนนั้นไม่มีกฎหมายบังคับว่าต้องมีพยานเอกสารมาแสดงประกอบคำร้องขอทั้งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 มิได้ห้ามการนำสืบหักล้างพยานเอกสารด้วยพยานเอกสาร การนำสืบของผู้คัดค้านที่ 4ที่ 5 ดังกล่าวจึงไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94
ปัญหาต่อไปที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ฎีกาว่าพินัยกรรมเป็นโมฆะเพราะพยานในพินัยกรรมมิได้ลงลายมือชื่อในขณะทำพินัยกรรมนั้นเห็นว่าทั้งผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ยื่นคำคัดค้านคำร้องของผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5 ว่า ผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ พินัยกรรมที่ผู้คัดค้านที่ 4 ที่ 5อ้างนั้นเป็นพินัยกรรมปลอม มิได้โต้เถียงเลยว่าพินัยกรรมเป็นโมฆะเพราะพยานในพินัยกรรมมิได้ลงลายมือชื่อในขณะทำพินัยกรรม ปัญหาว่าพินัยกรรมของผู้ตายเป็นโมฆะหรือไม่จึงมิใช่ประเด็นข้อพิพาทและมิใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แม้ปัญหาดังกล่าวจะเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่ศาลฎีกาไม่เห็นสมควรจะยกขึ้นวินิจฉัยให้ จึงไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาตามฎีกาของผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ข้อสุดท้ายมีว่าผู้คัดค้านที่ 4 ถึงที่ 7 มีสิทธิร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และมีเหตุสมควรถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายกับสมควรตั้งผู้คัดค้านที่ 4 ถึงที่ 7 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้แล้วว่า ผู้ตายได้พินัยกรรมไว้ ซึ่งพินัยกรรมที่ผู้ต้องทำไว้ดังกล่าวได้ยกทรัพย์สินของผู้ตายทั้งหมดให้แก่กิจการกุศลสาธารณประโยชน์โดยตั้งให้ผู้คัดค้านที่ 4 ถึงที่ 7 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามพินัยกรรม ดังนั้นผู้คัดค้านที่ 4 ถึงที่ 7 จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามพินัยกรรม มีสิทธิร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ เมื่อผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่กิจการกุศลสาธารณประโยชน์อันถือว่าผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายถูกตัดมิให้รับมรดกของผู้ตายเสียแล้ว ผู้ร้องย่อมไม่มีส่วนได้เสียในกองมรดกของผู้ตาย กรณีจึงมีเหตุสมควรที่จะถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1727 และตั้งผู้คัดค้านที่ 4 ถึงที่ 7 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายแทน
พิพากษายืน.