แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
สัญญาเช่าซื้อระบุว่า ผู้เช่าซื้อคือจำเลยที่ 1 ต้องประกันภัยรถยนต์คันที่เช่าซื้อไปจากโจทก์ และเสียค่าเบี้ยประกันภัย โดยโจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ จำเลยที่ 1 จึงได้เอาประกันภัยรถพิพาทไว้กับบริษัทประกันภัย ต่อมาระหว่างชำระค่าเช่าซื้อไม่เสร็จ เช่นนี้ ตามสัญญาเช่าซื้อมีว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อการสูญหายและเสียหายทุกชนิดอันเกิดขึ้นแก่รถยนต์ที่เช่าซื้อ เมื่อรถยนต์ที่เช่าซื้อไปเกิดสูญหายขึ้น โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญาใช้ราคารถยนต์ได้โดยตรง และที่ข้อสัญญาที่ให้ผู้เช่าซื้อต้องประกันภัยและเสียเบี้ยประกันภัยดังกล่าวข้างต้น ก็เป็นการที่ตกลงกันเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกคือโจทก์ ให้ได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากการสูญหายของรถยนต์ได้จากบริษัทประกันภัยอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งสิทธิของโจทก์จะเกิดมีขึ้นก็ต่อเมื่อได้แสดงเจตนาแก่บริษัทประกันภัยว่า จะถือเอาประโยชน์จากสัญญา และบริษัทประกันภัยก็อาจยกข้อต่อสู้อันเกิดแต่สัญญาประกันภัยที่มีต่อจำเลยที่ 1 ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 376 การที่โจทก์ไม่ใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัย แต่ได้เรียกร้องต่อจำเลยที่ 1 โดยตรงแม้จะเป็นเวลาภายหลังที่รถยนต์ได้หายไปแล้วเป็นเวลาถึง 3 ปี ก็หาใช่โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแต่อย่างใดไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์มีจำเลยที่ ๒ ค้ำประกัน จำเลยที่ ๑ ค้างชำระค่าเช่าซื้อเกินกว่า ๒ งวด ติด ๆ กัน โจทก์จึงบอกเลิกสัญญา เรียกให้ส่งมอบรถยนต์คืน และชำระค่าเช่าซื้อที่ค้าง จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนรถยนต์หรือใช้ราคา ๕๐,๐๐๐ บาท และใช้ค่าเสียหายอีก ๓๖,๖๖๖ บาท
่จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ได้เช่าซื้อรถพิพาทจริงและโจทก์ได้มีประกันภัยกับบริษัทประกันภัย โดยจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ชำระเบี้ยประกันภัยระบุให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์รถยนต์พิพาทหายไป จำเลยที่ ๑ ได้แจ้งโจทก์แล้ว สัญญาเช่าซื้อจึงระงับ ค่าเสียหายสูงเกินไปโจทก์เพิกเฉยปล่อยเวลาล่วงเลยนาน ไม่เรียกร้องจากบริษัทประกันภัย จนบริษัทประกันภัยเลิกกิจการไป จึงมาเรียกร้องจากจำเลย เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่๒ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ชำระเงิน ๓,๔๙๒ บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระราคารถยนต์ให้โจทก์ ๓๖,๖๖๖ บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปรากฏข้อความตามหนังสือของโจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายและส่งมอบรถคืนหรือให้ใช้ราคาลงวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๒๐ (เอกสารหมาย จ.๕ ต.๖) ว่า ฯลฯ จำเลยรับจะติดต่อบริษัทประกันภัยเพื่อชดใช้เงินให้ตามกรมธรรม์ประกันภัย แต่โจทก์ยังไม่ได้รับชดใช้จากจำเลยหรือบริษัทประกันภัยแต่อย่างใด และที่โจทก์ขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ ทรัพย์จากทรัพย์สินของบริษัทสหพันธ์ประกันภัย จำกัด ที่ถูกฟ้องล้มละลาย ๓ รายการตามเอกสารหมาย ล.๒ คือหนี้ ตามคำพิพากษาและหนี้ตามกรมธรรม์ประกันภัย อีก ๒ รายการ ก็ปรากฏว่า หนี้ตามคำพิพากษา (เอกสารหมาย ล.๕) ไม่ระบุให้แน่ชัดว่ามีหนี้ค่ารถยนต์คันหมายเลข กท.อ.๙๕๔๔ ที่จำเลยเลขที่ ๑ เช่าซื้อจากโจทก์ไปรวมอยู่ด้วยหรือไม่ ส่วนกรมธรรม์ประกันภัย ๒ ฉบับ (เอกสารหมาย ล.๓ ล.๔) ก็ไม่ใช้สิทธิเรียกร้องให้บริษัทสหพันธ์ประกันภัย จำกัด ชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาประกันภัยที่จำเลยที่ ๑ ได้ทำไว้กับบริษัทสหพันธ์ประกันภัย จำกัด ล้มละลาย ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย เมื่อฟังข้อเท็จจริงแล้วดังนี้ จึงมีปัญหาวินิจฉัยต่อไปว่า การที่โจทก์เลือกใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ ๑ ใช้ราคารถยนต์ที่สูญหาย แต่ไม่เรียกร้องให้บริษัทสหพันธ์ประกันภัย จำกัด ใช้ค่าสินไหมทดแทน เพื่อความสูญหายของรถยนต์ที่จำเลยที่ ๑เช่าซื้อ ได้สูญหายเป็นเวลา ๓ ปี เศษแล้วเช่นนี้ เป็นการที่โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือ ไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า ตามสัญญาเช่าซื้อ )เอกสารหมาย จ.๓) ที่โจทก์และจำเลยที่ ๑ ทำไว้ต่อกัน ข้อ ๓ (ก) มีข้อตกลงว่า จำเลยที่ ๑ จะต้องรับผิดต่อการสูญหายและเสียหายทุกชนิดอันเกิดขึ้นแก่รถยนต์ที่เช่าซื้อ ฯลฯ ตามสัญญาข้อนี้เมื่อรถยนต์ที่จำเลยที่ ๑ เช่าซื้อไปเกิดสูญหายขึ้น โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นคู่สัญญาใช้ราคารถยนต์ได้โดยตรงอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นเวลาเนิ่นนานเพียงใดแต่ภายในอายุความ ส่วนข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ ๓ (ฉ) ที่ให้จำเลยที่ ๑ ต้องประกันภัยรถยนต์ที่เช่าซื้อ โดยจำเลยที่ ๑ เป็นผู้เสียเบี้ยประกันภัยและมอบกรมธรรม์ประกันภัยกับใบเสร็จรับเงินเบี้ยประกันภัยให้แก่โจทก์ ซึ่งจำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญาประกันภัยกับบริษัทสหพันธ์ประกันภัยจำกัด ระบุให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ดังเช่นกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย ล.๓ล.๔ นั้นก็เป็นการที่ตกลงกันเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกคือโจทก์ให้ได้รับชดใช้ค่าเสียหายทดแทนเนื่องจากการสูญหายของรถยนต์ที่จำเลยที่ ๑ เช่าซื้อได้จากบริษัทสหพันธ์ประกันภัย จำกัด อีกทางหนึ่งด้วย อันมีผลบังคับตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา๓๗๔ ซึ่งสิทธิของโจทก์จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อได้แสดงเจตนาแก่บริษัทสหพันธ์ประกันภัย จำกัด ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นแล้ว แต่บริษัทสหพันธ์ประกันภัย จำกัด ก็อาจยกข้อต่อสู้อันเกิดแก่สัญญาประกันภัยที่มีอยู่ต่อจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นคู่สัญญาขึ้นต่อสู้โจทก์ผู้รับประโยชน์ได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๗๖ การที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องให้บริษัทสหพันธ์ประกันภัย จำกัด ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในการสูญหายของรถยนต์ที่จำเลยที่ ๑ เช่าซื้อโจทก์ไป จึงมีขั้นตอนและเสี่ยงต่อการที่จะไม่ได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทนยิ่งกว่าที่โจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดต่อการสูญหายของรถยนต์ที่จำเลยที่ ๑ เช่าซื้อไปโดยตรงตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อ ข้อ ๓ (ก) ทั้งไม่มีข้อตก
ลงให้โจทก์จำต้องใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนต่อบริษัทสหพันธ์ประกันภัย จำกัด แต่ได้เรียกร้องต่อจำเลยที่ ๑ โดยตรง แม้จะเป็นเวลาภายหลังจากที่รถยนต์ได้สูญหายไปแล้วเป็นเวลาถึง ๓ ปีเศษ จึงหาใช่โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแต่อย่างใดไม่ และเมื่อรถยนต์ที่จำเลยที่ ๑ เช่าซื้อโจทก์ได้สูญหายไปภายหลังที่จำเลยที่ ๑ ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ได้เพียง ๓ งวด จำเลยก็ต้องรับผิดชำระราคารถยนต์ที่ยังขาดอยู่ ๓๖,๖๖๖ บาท ให้แก่โจทก์ดังที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยให้เหตุผลไว้แล้ว
พิพากษายืน