คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1404/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การทะเลาะวิวาทระหว่างโจทก์กับ ฉ.เป็นการโต้เถียงเพียงเล็กน้อยไม่ร้ายแรง หลังจากเลิกรากันแล้วอ.ได้ขึ้นมาบนรถจึงมีการทะเลาะวิวาทกันระหว่างอ.กับฉ.อีกครั้งหนึ่ง และ อ.ได้ทำร้ายร่างกายฉ. โจทก์มิได้เป็นผู้กระทำ ถือได้ว่าโจทก์มิได้ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีร้ายแรง จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชยและค่าเสียหายให้แก่โจทก์นั้น เป็นการอุทธรณ์โต้แย้งว่าโจทก์ได้ร่วมกับอ.บุตรชายโจทก์ทำร้ายฉ. ดังที่ศาลแรงงานวินิจฉัยหรือไม่เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่วินิจฉัย อุทธรณ์โจทก์ที่ว่า โจทก์ได้ทำงานเกินเวลาทำงานปกติและทำงานในวันหยุดตามประเพณีและวันหยุดพักผ่อนประจำปีนั้นเป็นการโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลแรงงานที่ว่าโจทก์นำสืบไม่ถึงในส่วนที่เกี่ยวกับเวลาทำงานที่เกินจากปกติ ตลอดจนส่วนที่เกี่ยวกับการทำงานในวันหยุดตามประเพณีหรือในวันหยุดพักผ่อนประจำปี ศาลแรงงานจึงไม่กำหนดค่าทำงานและค่าจ้างให้ตามที่โจทก์เรียกร้อง อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวนี้เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์วางเงินประกันจำนวน5,000 บาท ต่อจำเลยเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2526 โจทก์ได้ทำงานมาตลอดตั้งแต่ปี 2526 จนถึงปี 2535 ในเดือนที่มีการเลิกจ้างจำเลยแสดงหนังสือรับสภาพหนี้ที่โจทก์รับสภาพต่อจำเลยในช่วงปี 2534 นอกจากนี้มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นอีกตามเอกสารหมาย ล.3 พยานโจทก์ไม่อาจหักล้างเรื่องหนี้ที่เกิดจากการกระทำของโจทก์ในระหว่างการทำงานให้จำเลย ซึ่งโจทก์ต้องรับผิดชอบ จำเลยจึงมีสิทธิยึดหน่วงเงินประกันได้อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าโจทก์ได้ผ่อนชำระหนี้ให้จำเลยไปแล้วความเสียหายตามเอกสารหมาย ล.3 ไม่ยืนยันว่าโจทก์จะต้องรับผิดทางแพ่ง จึงเป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยทำงานตำแหน่งพนักงานขับรถยนต์โดยสารประจำทางปรับอากาศ สายกรุงเทพ-สงขลามาตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2526 เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม2535 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิดและไม่บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณี ค่าทำงานเกินเวลาทำงานปกติ จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ขาดรายได้ และจำเลยยังไม่ได้คืนเงินประกันให้โจทก์ 5,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 399,170 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า โจทก์เริ่มทำงานกับจำเลยเมื่อวันที่8 กุมภาพันธ์ 2526 และถูกเลิกจ้างไปในปี 2534 ต่อมาปลายปี 2534โจทก์มาสมัครงานใหม่ จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อวันที่30 สิงหาคม 2535 เนื่องจากโจทก์กระทำผิดอาญาและทุจริตต่อหน้าที่ จงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายและฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยอย่างร้ายแรง โดยเมื่อวันที่28 สิงหาคม 2535 โจทก์ได้ขนสินค้าหนีภาษีติดมากับรถยนต์โดยสารของจำเลย เมื่อนางสาวฉวีวรรณ แซ่โล่ พนักงานต้อนรับตรวจพบโจทก์กลับใช้กำลังประทุษร้าย นางสาวฉวีวรรณจนได้รับบาดเจ็บจำเลยจึงมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ โจทก์มีวันหยุดพักผ่อนประจำปีจากลักษณะการทำงานอยู่แล้ว รายได้ของพนักงานขับรถเช่นโจทก์ขึ้นอยู่กับความขยันในการทำงาน โจทก์มีรายได้ประจำเดือนเดือนละ 1,200 บาท และเมื่อขับรถจะได้รับค่าจ้าง ค่าล่วงเวลาเที่ยวละ 575 บาท ซึ่งจำเลยก็ได้ชำระให้โจทก์ครบถ้วนแล้วในระหว่างทำงานโจทก์ก่อให้เกิดความเสียหายเป็นจำนวนหลายแสนบาทจำเลยมีสิทธิยึดหน่วงเงินประกันจำนวน 5,000 บาท ของโจทก์ได้ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัด โจทก์จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่ารถยนต์โดยสารประจำทางปรับอากาศ สายกรุงเทพ-สงขลา จะออกจากกรุงเทพมหานคร เวลา 18.15 นาฬิกา ถึงจังหวัดสงขลาเวลา8.30 นาฬิกาหรือ 9 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น และถ้ารถออกจากจังหวัดสงขลาเวลา 17 นาฬิกา จะถึงกรุงเทพมหานคร เวลา 8 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น หากโจทก์ขับรถยนต์โดยสารประจำทางแบบธรรมดาการคำนวณค่าจ้างจะถือจากการแบ่งรายได้อัตราร้อยละ 5 จากยอดเงินค่าโดยสารทั้งหมดที่เก็บมาและยังไม่หักค่าใช้จ่ายซึ่งแตกต่างจากการขับรถยนต์โดยสารประจำทางปรับอากาศ
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์และนายอนิวรรต ทองบุญ บุตรชายโจทก์ร่วมกันทำร้ายนางสาวฉวีวรรณ แซ่โล่ พนักงานต้อนรับจริง การกระทำของโจทก์ที่ทำร้ายร่างกายพนักงานอื่นเป็นความผิดอาญา การกระทำของโจทก์จึงเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของจำเลยอย่างร้ายแรง จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยให้โจทก์จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมไม่มีเหตุจะต้องพิจารณาโจทก์อ้างว่าทำงานล่วงเวลา แต่นำสืบถึงเวลาที่ทำเกินจากปกติของการทำงานไม่ได้ ทั้งโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 36(3) และจำเลยได้จ่ายให้โจทก์ครบถ้วนถูกต้องจากการทำงานแล้ว สำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและวันหยุดตามประเพณีที่โจทก์เรียกร้องค่าจ้างและค่าทำงาน โจทก์นำสืบมิได้จึงไม่กำหนดให้จำเลยมีสิทธิยึดหน่วงเงินประกันไว้ก่อนได้พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์เป็นข้อแรกว่าตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น การทะเลาะวิวาทระหว่างโจทก์กับนางสาวฉวีวรรณเป็นการโต้เถียงเพียงเล็กน้อยไม่ร้ายแรงหลังจากเลิกรากันแล้ว นายอนิวรรตได้ขึ้นมาบนรถจึงมีการทะเลาะวิวาทกันระหว่างนายอนิวรรตกับนางสาวฉวีวรรณอีกครั้งหนึ่ง และนายอนิวรรตได้ทำร้ายร่างกายนางสาวฉวีวรรณโจทก์มิได้เป็นผู้กระทำ ถือได้ว่าโจทก์มิได้ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีร้ายแรง จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าชดเชยและค่าเสียหายให้แก่โจทก์นั้น เป็นการอุทธรณ์โต้แย้งว่าโจทก์ได้ร่วมกับนายอนิวรรตบุตรชายโจทก์ร่วมกันทำร้ายนางสาวฉวีวรรณดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยหรือไม่เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้
อุทธรณ์โจทก์ข้อต่อมาที่ว่า โจทก์ได้ทำงานเกินเวลาทำงานปกติและทำงานในวันหยุดตามประเพณีและวันหยุดพักผ่อนประจำปีนั้นเป็นการโต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางที่ว่าโจทก์นำสืบไม่ถึงในส่วนที่เกี่ยวกับเวลาทำงานที่เกินจากปกติ ตลอดจนส่วนที่เกี่ยวกับการทำงานในวันหยุดตามประเพณีหรือในวันหยุดพักผ่อนประจำปี ศาลแรงงานกลางจึงไม่กำหนดค่าทำงานและค่าจ้างให้ตามที่โจทก์เรียกร้อง อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวนี้จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน
โจทก์อุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า หนี้ที่โจทก์รับสภาพหนี้ไว้กับจำเลย โจทก์ได้ผ่อนชำระให้จำเลยไปแล้วโดยมีการหักเงินเดือนของโจทก์เป็นการชำระหนี้ ส่วนความเสียหายตามเอกสารหมาย ล.3 และตามภาพถ่ายหมาย ล.4 ถึง ล.6 นั้นไม่เป็นการยืนยันว่าโจทก์จะต้องรับผิดในทางแพ่งเพื่อชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บุคคลใด และบริษัทประกันภัยผู้ชำระค่าเสียหายย่อมจะใช้สิทธิในการไล่เบี้ยเอากับคู่กรณีหรือโจทก์ได้จำเลยไม่มีสิทธิยึดหน่วงเงินประกันของโจทก์ไว้ได้นั้นเห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์วางเงินประกันจำนวน 5,000 บาท ต่อจำเลยเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2526โจทก์ได้ทำงานมาตลอดตั้งแต่ปี 2526 จนถึงปี 2535 ในเดือนที่มีการเลิกจ้างจำเลยแสดงหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย ล.7และ ล.8 ที่โจทก์รับสภาพต่อจำเลยในช่วงปี 2534 นอกจากนี้มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นอีกตามเอกสารหมาย ล.3 พยานโจทก์ไม่อาจหักล้างเรื่องหนี้ที่เกิดจากการกระทำของโจทก์ในระหว่างการทำงานให้จำเลย ซึ่งโจทก์ต้องรับผิดชอบ จำเลยจึงมีสิทธิยึดหน่วงเงินประกันได้ อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้
พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์

Share