คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1402/2547

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 จะฟ้องรวมกันมาในคดีเดียวกันและเสียค่าขึ้นศาลรวมกันมา แต่การอุทธรณ์ฎีกาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกันเพราะเป็นเรื่องที่โจทก์แต่ละคนสามารถใช้สิทธิเฉพาะตัวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 แยกต่างหากจากกันได้ เมื่อโจทก์ที่ 1 ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์ที่ 1 เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ ราคาไร่ละ 300,000 บาท ทุนทรัพย์ในส่วนของโจทก์ที่ 1 จึงคิดเป็นเงิน 300,000 บาท เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ที่ 1 มีสิทธิในที่ดิน 1 ใน 9 ส่วน คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 86.2 ตารางวา แต่โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์ขอให้ได้ที่ดินพิพาทเนื้อที่เต็มตามฟ้อง จึงเท่ากับขอให้ได้ที่ดินเพิ่มอีก 313.8 ตารางวา คิดเป็นเงิน 235,350 บาท ซึ่งถือเป็นทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์ โจทก์ที่ 1 จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เป็นเงิน 5,885 บาท มิใช่เสียค่าขึ้นศาลในทุนทรัพย์ 412,500 บาท
โจทก์ที่ 1 ได้ทยอยนำเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาวางศาล 2 ครั้ง รวมเป็นเงิน 7,000 บาท โดยครั้งที่ 2 นำมาวางในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นขยายให้และวางเกินกว่าที่ต้องเสียแต่โจทก์ที่ 1 สำคัญผิดว่ายังชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ไม่ครบจึงขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ออกไปอีก ดังนี้ ถือว่าโจทก์ที่ 1 วางเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ครบถ้วนแล้ว ศาลชั้นต้นชอบที่จะพิจารณาสั่งอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ได้ตั้งแต่นั้นและสั่งยกคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ที่ยื่นหลังจากนั้น เพราะโจทก์ที่ 1 ไม่จำต้องขอขยายระยะเวลาวางเงินอีกต่อไปแล้ว การที่ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตขยายระยะเวลาวางเงินให้โจทก์ที่ 1 ต่อไปอีก และในที่สุดมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในครั้งต่อมาพร้อมกับสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 เพราะเหตุโจทก์ที่ 1 ไม่นำเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาวางให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนดและศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 307 คนละ 1 ใน 9 ส่วน ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจดทะเบียนที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสองตามส่วนดังกล่าวข้างต้น หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง โจทก์ที่ 1 ยื่นอุทธรณ์พร้อมกับคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตถึงวันที่ 25 เมษายน 2545 เมื่อถึงวันที่ 25 เมษายน 2545 โจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอวางเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 5,000 บาท ส่วนที่เหลือขอขยายระยะเวลาวางเงินออกไปอีก ศาลชั้นต้นอนุญาตถึงวันที่ 27 พฤษภาคม 2545 เมื่อถึงกำหนดโจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอวางเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์อีก 2,000 บาท ส่วนที่เหลือขอขยายระยะเวลาวางเงินออกไปอีก ศาลชั้นต้นอนุญาตและให้โจทก์ที่ 1 นำเงินส่วนที่เหลือทั้งหมดมาวางศาลภายในวันที่ 6 มิถุนายน 2545 มิฉะนั้นถือว่าไม่ติดใจอุทธรณ์ วันที่ 7 มิถุนายน 2545 โจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินออกไปอีก 15 วัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
โจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่ง (ที่ถูกต้องทำเป็นอุทธรณ์คำสั่ง)
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องว่านางปองหรือป้อง มหาโพธิ์ เป็นเจ้าของที่ดินเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ 3 งาน 76 ตารางวา เมื่อนางปองถึงแก่ความตายทายาทได้ตกลงแบ่งที่ดินดังกล่าวออกเป็น 3 ส่วน และต่างเข้าครอบครองที่ดินส่วนของตนด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ โดยบิดาโจทก์ที่ 1 ได้ที่ดินพิพาทส่วนที่อยู่ทางทิศเหนือและทิศตะวันตกเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ โจทก์ที่ 2 ได้ที่ดินพิพาทส่วนที่อยู่ตรงกลางเนื้อที่ประมาณ 1 งาน 50 ตารางวา และบิดาจำเลยที่ 2 ได้ที่ดินส่วนที่อยู่ทางทิศใต้หลังจากบิดาโจทก์ที่ 1 ถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 1 ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทส่วนของบิดาโจทก์ที่ 1 จนถึงปัจจุบัน ต่อมาจำเลยทั้งสองได้จดทะเบียนโอนที่ดินมรดกของนางปองซึ่งรวมทั้งที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสอง ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทส่วนที่อยู่ทางทิศเหนือและทิศตะวันตกเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ เป็นของโจทก์ที่ 1 และส่วนที่อยู่ตรงกลางเนื้อที่ประมาณ 1 งาน 50 ตารางวา เป็นของโจทก์ที่ 2 ให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนของจำเลยทั้งสองและให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 แม้โจทก์ทั้งสองจะฟ้องรวมกันมาในคดีเดียวกันและเสียค่าขึ้นศาลรวมกันมา แต่การอุทธรณ์ฎีกาก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกันเพราะเป็นเรื่องที่โจทก์แต่ละคนสามารถใช้สิทธิเฉพาะตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 แยกต่างหากจากกันได้ เมื่อโจทก์ที่ 1 ฟ้องเรียกที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์ที่ 1 เนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ ราคาไร่ละ 300,000 บาท ทุนทรัพย์ในส่วนของโจทก์ที่ 1 จึงคิดเป็นเงิน 300,000 บาท และเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ที่ 1 มีสิทธิในที่ดินมรดกของนางปอง 1 ใน 9 ส่วน คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 86.2 ตารางวา แต่โจทก์ที่ 1 ไม่พอใจ และอุทธรณ์ขอให้ได้ที่ดินพิพาทเนื้อที่เต็มตามฟ้อง จึงเท่ากับขอให้ได้ที่ดินเพิ่มอีก 313.8 ตารางวา คิดเป็นเงิน 235,350 บาท ซึ่งถือเป็นทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์ โจทก์ที่ 1 จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เป็นเงิน 5,885 บาท มิใช่เสียค่าขึ้นศาลในทุนทรัพย์ 412,500 บาท เหมือนดังที่โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 เสียรวมกันมาในศาลชั้นต้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 ได้ทยอยนำค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาวางศาล 2 ครั้ง รวมเป็นเงิน 7,000 บาท โดยครั้งที่ 2 นำมาวางเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2545 ซึ่งอยู่ในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นขยายให้และเป็นการวางเกินกว่าที่จะต้องเสียเป็นเงิน 1,115 บาท แต่โจทก์ที่ 1 สำคัญผิดว่ายังชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ไม่ครบจึงได้ขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ออกไปอีก กรณีเช่นนี้ถือว่าโจทก์ที่ 1 วางเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ครบถ้วนแล้ว ศาลชั้นต้นชอบที่จะพิจารณาสั่งอุทธรณ์ดังกล่าวของโจทก์ที่ 1 ได้ตั้งแต่นั้นและสั่งยกคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ที่ยื่นหลังจากนั้นเพราะโจทก์ที่ 1 ไม่จำต้องขอขยายระยะเวลาวางเงินอีกต่อไปแล้ว การที่ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตขยายระยะเวลาวางเงินให้โจทก์ที่ 1 ต่อไปอีกและในที่สุดมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาวางเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในครั้งต่อมาพร้อมกับสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 เพราะเหตุโจทก์ที่ 1 ไม่นำเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์มาวางให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนดและศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนนั้นจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นฎีกาศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247 และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ 1 อีกต่อไป”
พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 และยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 หากโจทก์ที่ 1 ยังประสงค์จะอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นก็ให้นำเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ที่วางและรับคืนไปแล้วมาวางศาลชั้นต้นอีกครั้งเป็นเงินจำนวน 5,885 บาท ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันทราบคำพิพากษานี้ แล้วให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ใหม่

Share