คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1402/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยให้การต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม แต่ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้และจำเลยก็มิได้โต้แย้ง จึงถือว่าจำเลยยินยอมดำเนินกระบวนพิจารณาเท่าที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นไว้เท่านั้น เมื่อจำเลยยกข้อต่อสู้นี้ขึ้นในชั้นฎีกาจึงเป็นปัญหาที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์และมิใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 สัญญาจะซื้อขายระบุชัด ว่าโจทก์วางมัดจำเป็นเงิน 400,000 บาทจำเลยจะนำสืบโต้เถียง เพื่อให้ศาลฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นอันมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความที่ปรากฏในเอกสารหาได้ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94.

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอเลิกสัญญาและเรียกมัดจำจำนวน 400,000 บาทคืนพร้อมดอกเบี้ยและเรียกค่าเสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การว่า ได้ทำสัญญาจะซื้อขายตามเอกสารท้ายฟ้องจริง แต่โจทก์วางมัดจำด้วยรถยนต์ บี.เอ็ม.ดับบลิว.520 ซึ่งขายได้เงินเพียง 290,000 บาท จำเลยขอให้โจทก์ชำระส่วนที่ขาดให้ครบ 400,000บาท โจทก์เพิกเฉย จึงถือว่าโจทก์วางมัดจำเป็นจำนวน 290,000 บาทเท่านั้น จำเลยก่อสร้างตึกเสร็จเรียบร้อยทันตามกำหนด โจทก์เองไม่มีเงินมาชำระให้จำเลย โจทก์มิได้เสียหายตามฟ้อง ไม่มีสิทธิเรียกร้องใด ๆ เอากับจำเลยเพราะโจทก์เองเป็นฝ่ายผิดสัญญา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองคืนเงินมัดจำ 400,000บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2523 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลเห็นควรเป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อกฎหมายว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่นั้น เห็นว่า ปัญหานี้แม้จำเลยยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ในคำให้การก็ดี แต่ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเป็นประเด็นข้อพิพาทไว้ ซึ่งจำเลยก็มิได้โต้แย้ง จึงถือว่าจำเลยยินยอมดำเนินกระบวนพิจารณาเท่าที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นไว้เท่านั้น การที่จำเลยยกข้อต่อสู้นี้ขึ้นฎีกา จึงเป็นปัญหาที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และศาลอุทธรณ์ ทั้งปัญหานี้ไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนจึงต้องห้ามยกขึ้นฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยได้ก่อสร้างตึกพิพาทซึ่งตกลงจะขายให้โจทก์แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาตามสัญญาหรือไม่ ข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์ตามเอกสารภาพถ่ายหมาย จ.2 ถึง จ.5 แสดงให้เห็นสภาพของตัวอาคารทั้งภายนอกและภายในว่ายังไม่แล้วเสร็จที่บุคคลจะเข้าอยู่อาศัยในสภาพปกติได้ โดยเฉพาะห้องน้ำห้องส้วมซึ่งเป็นส่วนสาระสำคัญก็ยังมิได้ติดตั้งเครื่องสุขภัณฑ์ จำเลยคงยอมรับภาพถ่ายตามเอกสารหมาย จ.2 ส่วนภาพถ่ายอื่นซึ่งแสดงให้เห็นสภาพการก่อสร้างอันยังไม่แล้วเสร็จภายในตัวอาคาร จำเลยฎีกาโต้แย้งเป็นทำนองว่าโจทก์อาจจะไปถ่ายภาพมาจากอาคารอื่นซึ่งมิใช่อาคารที่พิพาท สำหรับปัญหานี้นอกจากโจทก์จะมีเอกสารภาพถ่ายมาแสดงดังกล่าวแล้ว โจทก์ยังมีพยานบุคคล คือ พันตำรวจตรีสุรัตน์ สำราญทรัพย์ และนายประยุทธ วงษ์อุบลมาสืบยืนยันว่า การก่อสร้างตึกพิพาทยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์โดยเฉพาะคำนายประยุทธ ซึ่งเป็นพยานคนกลางมิได้มีส่วนได้เสียในคดีย่อมมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ โดยพยานปากนี้มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาวงเวียนใหญ่ เบิกความว่าโจทก์ได้มาขอกู้เบิกเงินเกินบัญชีและประสงค์จะนำตึกพิพาทมาเป็นหลักประกัน ได้ตกลงจะทำสัญญากันในวันที่ 15 มิถุนายน 2523 อันเป็นวันเดียวกันกับที่จำเลยจะโอนตึกพิพาทมาเป็นของโจทก์ พยานจึงไปตรวจดูหลักทรัพย์ดังกล่าว ปรากฏว่าตึกพิพาทยังปลูกสร้างไม่แล้วเสร็จ จึงไม่มีการทำสัญญาและจดทะเบียนจำนองต่อกัน ส่วนคำพันตำรวจตรีสุรัตน์ ซึ่งจำเลยติว่าเป็นพิรุธ เพราะพยานรับราชการอยู่คนละท้องที่กับที่ซึ่งตึกพิพาทตั้งอยู่ แต่กลับมาเบิกความเป็นพยานให้โจทก์นั้น เห็นว่าพยานจะมีตำแหน่งประจำอยู่ในท้องที่ใดไม่สำคัญ โจทก์ชอบที่จะอ้างมาสืบในข้อเท็จจริงที่พยานรู้เห็นเพื่อประโยชน์แก่คดีของโจทก์ได้ไม่ถือเป็นพิรุธแต่อย่างใด พยานโจทก์ทั้งสองปากนี้จึงมั่นคงฟังประกอบเอกสารภาพถ่ายดังกล่าวเชื่อได้ว่าในวันที่ 15 มิถุนายน 2523อันเป็นวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 และ ล.3 นั้น ตึกพิพาทยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์จำเลยจึงตกเป็นฝ่ายผิดสัญญา จะแก้ตัวว่าตกลงซื้อขายกันในสภาพที่เป็นอยู่เช่นนั้น ย่อมฝืนต่อความเป็นจริงและสภาพปกติธรรมดา ฎีกาของจำเลยในนข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับปัญหาที่ว่า โจทก์วางมัดจำเป็นจำนวนเท่าใดนั้นตามเอกสารหมาย จ.1 และ ล.3 ระบุไว้ชัดว่าเป็นจำนวนเงิน 400,000 บาท จำเลยจะนำสืบโต้เถียงเพื่อให้ศาลฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นอันมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความที่ปรากฏในเอกสารหาได้ไม่ กรณีต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดี คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่คิดดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ นับแต่วันที่ 15 มีนาคม 2523 อันเป็นวันทำสัญญาจะซื้อขายระหว่างโจทก์จำเลยเป็นต้นไปนั้น เป็นการกำหนดดอกเบี้ยให้เกินเลยไปจากคำขอที่โจทก์บรรยายมาในฟ้อง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียใหม่ให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 400,000 บาท นับจากวันที่ 21 พฤศจิกายน 2523 อันเป็นวันที่จำเลยได้รับแจ้งการบอกเลิกสัญญาจากโจทก์เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระให้โจทก์เสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ”.

Share