คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1401/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่โจทก์มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานฝ่ายบัญชีและการเงินของโจทก์ดูแลสมุดบัญชีนับว่าเป็นเรื่องปกติ มิได้หมายความว่าบุคคลที่ได้รับมอบหมายจะต้องปฏิบัติหน้าที่โดยชอบเสมอไป จะไม่มีการทุจริตแต่อย่างใด การที่โจทก์มอบหมายสมุดเงินฝากไว้แก่จำเลยที่ 1 จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำโดยประมาท
จำเลยที่ 5 จะมีลายมือชื่อของลูกค้าไว้เปรียบเทียบเพื่อตรวจสอบได้และเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 5 จะต้องตรวจสอบความถูกต้องเนื่องจากจำเลยที่ 5 เป็นผู้รับฝากเงินเป็นอาชีพและได้รับผลประโยชน์จากการประกอบธุรกิจดังกล่าว เพราะต้องเกี่ยวข้องกับประชาชนที่เข้าใช้บริการกับจำเลยที่ 5 ด้วยเหตุที่เป็นอาชีพและปริมาณลูกค้าจำนวนมาก จำเลยที่ 5 ย่อมต้องมีความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ลูกค้ารวมทั้งโจทก์ และเมื่อพิจารณาลายมือชื่อของ ม. กับ ร. ตามใบถอนเงินแล้วจะเห็นได้ว่าไม่เหมือนกับลายมือชื่อของ ม. และ ร. ที่ให้ไว้เป็นตัวอย่างแก่จำเลยที่ 5 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำที่ไม่เคยมีการถอนเงินมาก่อน และในการถอนเงินครั้งแรกเป็นการมอบอำนาจให้รับเงิน แต่ไม่ปรากฏว่ามีสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของ ม. และ ร. และการจ่ายเงินทุกครั้งก็จ่ายเป็นเงินสด เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า หากจำเลยที่ 5 ปฏิบัติหน้าที่อย่างระมัดระวังเหตุทั้งหมดจะเกิดขึ้นไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จำเลยที่ 5 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นเพียงพนักงานของจำเลยที่ 5 ถือเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 5 มิได้เป็นผู้กระทำละเมิดโดยตรงต่อโจทก์ หากแต่เป็นการกระทำโดยตรงต่อจำเลยที่ 5 เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 5 จะดำเนินการกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จะต้องรับผิดทั้งต่อโจทก์และจำเลยที่ 5 ในการกระทำความผิดครั้งเดียว ย่อมทำให้ต้องรับผิดเกินกว่าความเสียหายจริง แต่จำเลยที่ 5 มิได้นำเงินของโจทก์ไป หากแต่จำเลยที่ 1 เอาเงินของจำเลยที่ 5 ไป จำเลยที่ 5 เพียงแต่ต้องปรับแก้บัญชีของโจทก์ที่ระบุว่ามีการถอนเงินออกไปให้กลับคืนเหมือนเดิม และเงินดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 5 การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงมิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ฎีกาแต่เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 443,870.47 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 403,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 421,420.11 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 383,000 บาท และให้จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 47,381.61 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 44,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ให้การทำนองเดียวกันขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 443,870.47 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 403,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 421,420.11 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 383,000 บาท และให้จำเลยที่ 1 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 47,381.61 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 44,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 20 เมษายน 2549) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 8,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมรับผิดตามทุนทรัพย์ที่แต่ละคนจะต้องรับผิดต่อโจทก์
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 (ที่ถูก จำเลยที่ 2 และที่ 5) ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์โดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 5 ร่วมกันชำระเงิน 221,935.24 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 201,500 บาท ให้จำเลยที่ 3 และที่ 5 ร่วมกันชำระเงิน 210,710.06 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 191,500 บาท และให้จำเลยที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันชำระเงิน 23,690.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 22,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 20 เมษายน 2549) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลระหว่างจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 กับโจทก์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลอาคารชุด จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานการเงินและบัญชีของโจทก์ โดยได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้เป็นผู้เก็บรักษาสมุดบัญชีเงินฝากประจำเลขที่ 168 – 2 – 05548 – 6 ซึ่งโจทก์เปิดไว้กับจำเลยที่ 5 สาขาถนนพัฒนาการ มีเงื่อนไขว่านายมานพ ร่วมกับกรรมการอื่นอีก 2 คน สั่งถอนเงินได้ จำเลยที่ 1 ปลอมลายมือชื่อของนายมานพและนางรัญจวน กรรมการโจทก์ ในใบถอนเงินแล้วนำไปทำรายการถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำดังกล่าวของโจทก์ 6 ครั้ง คือ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2547 วันที่ 8 ธันวาคม 2547 วันที่ 7 มกราคม 2548 วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2548 วันที่ 1 เมษายน 2548 และวันที่ 8 เมษายน 2548 ซึ่งจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 พนักงานของจำเลยที่ 5 ไม่ตรวจสอบให้รอบคอบ โดยทำรายการให้จำเลยที่ 1 ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำดังกล่าวของโจทก์เพราะความคุ้นเคยกับจำเลยที่ 1 ไป 333,000 บาท 333,000 บาท 70,000 บาท 50,000 บาท 34,000 บาท และ 10,000 บาท ตามลำดับ รวมเป็นเงิน 830,000 บาท ขณะนี้จำเลยที่ 1 อยู่ในระหว่างหลบหนีการจับ มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่า โจทก์มีส่วนประมาทเลินเล่อในครั้งนี้หรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์มอบหมายให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานฝ่ายบัญชีและการเงินของโจทก์ดูแลสมุดบัญชีนับว่าเป็นเรื่องปกติ ซึ่งจำเลยที่ 5 เองก็ต้องมอบหมายให้พนักงานเกี่ยวกับการเงินมีหน้าที่ดูแลการทำบัญชีเกี่ยวกับการเงินเช่นกัน มิได้หมายความว่าบุคคลที่ได้รับมอบหมายจะต้องปฏิบัติหน้าที่โดยชอบเสมอไป จะไม่มีการทุจริตแต่อย่างใด การที่โจทก์มอบหมายสมุดเงินฝากไว้แก่จำเลยที่ 1 จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำโดยประมาท ส่วนที่นายอุทิศ ลงลายมือชื่อในใบถอนเงินภายหลังจากที่มีลายมือชื่อของนายมานพและนางรัญจวนอยู่ก่อนหน้าแล้ว มิได้หมายความว่าลายมือชื่อของนายมานพและนางรัญจวนจะเป็นลายมือชื่อที่แท้จริงเพราะนายอุทิศเพียงแต่ดูคร่าว ๆ ว่ามีกรรมการอื่นลงลายมือชื่อครบแล้วหรือไม่ คงไม่ได้ตรวจสอบว่าเป็นลายมือชื่อที่แท้จริงหรือไม่ เพราะไม่มีลายมือชื่อเปรียบเทียบ และมิได้มีหน้าที่ตรวจสอบ ต่างจากจำเลยที่ 5 จะมีลายมือชื่อของลูกค้าไว้เปรียบเทียบเพื่อตรวจสอบได้และเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 5 จะต้องตรวจสอบความถูกต้องเนื่องจากจำเลยที่ 5 เป็นผู้รับฝากเงินเป็นอาชีพและได้รับผลประโยชน์จากการประกอบธุรกิจดังกล่าว เพราะต้องเกี่ยวข้องกับประชาชนที่เข้าใช้บริการกับจำเลยที่ 5 ด้วยเหตุที่เป็นอาชีพและปริมาณลูกค้าจำนวนมาก จำเลยที่ 5 ย่อมต้องมีความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ลูกค้ารวมทั้งโจทก์ และเมื่อพิจารณาลายมือชื่อของนายมานพกับนางรัญจวนตามใบถอนเงิน แล้ว จะเห็นได้ว่าไม่เหมือนลายมือชื่อของนายมานพและนางรัญจวนที่ให้ไว้เป็นตัวอย่างแก่จำเลยที่ 5 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการถอนเงินจากบัญชีเงินฝากประจำที่ไม่เคยมีการถอนเงินมาก่อน และในการถอนเงินครั้งแรกเป็นการมอบอำนาจให้รับเงิน แต่ไม่ปรากฏว่ามีสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของนายมานพและนางรัญจวน และการจ่ายเงินทุกครั้งก็จ่ายเป็นเงินสด เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า หากจำเลยที่ 5 ปฏิบัติหน้าที่อย่างระมัดระวังเหตุทั้งหมดจะเกิดขึ้นไม่ได้ ด้วยเหตุนี้จำเลยที่ 5 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนการแจ้งความร้องทุกข์จะช้าหรือเร็วไม่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นเพียงพนักงานของจำเลยที่ 5 ถือเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 5 มิได้เป็นผู้กระทำละเมิดโดยตรงต่อโจทก์ หากแต่เป็นการกระทำโดยตรงต่อจำเลยที่ 5 เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 5 จะดำเนินการกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จะต้องรับผิดทั้งต่อโจทก์และจำเลยที่ 5 ในการกระทำความผิดครั้งเดียว ย่อมทำให้ต้องรับผิดเกินกว่าความเสียหายจริง แต่จำเลยที่ 5 มิได้นำเงินของโจทก์ไป หากแต่จำเลยที่ 1 เอาเงินของจำเลยที่ 5 ไป จำเลยที่ 5 เพียงแต่ต้องปรับแก้บัญชีของโจทก์ที่ระบุว่ามีการถอนเงินออกไปให้กลับคืนเหมือนเดิม และเงินดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 5 การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงมิได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ฎีกาแต่เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ ส่วนที่โจทก์ฎีกาในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมนั้น เห็นว่า เป็นดุลพินิจของศาลที่กฎหมายให้อำนาจใช้ดุลพินิจตามที่เห็นสมควรตามพฤติการณ์แห่งคดี แม้โจทก์จะเป็นฝ่ายชนะคดี ก็มิได้หมายความว่าโจทก์จะต้องได้ค่าฤชาธรรมเนียมคืนครบถ้วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 5 แก้ไขเพิกถอนรายการถอนเงินในบัญชีเงินฝากประจำของโจทก์เลขที่ 168 – 2 – 05548 – 6 ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2547 วันที่ 8 ธันวาคม 2547 วันที่ 7 มกราคม 2548 วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2548 วันที่ 1 เมษายน 2548 และวันที่ 8 เมษายน 2548 แล้วให้ดำเนินการคำนวนดอกเบี้ยเสมือนหนึ่งมิได้มีการถอนเงินดังกล่าว ให้ยกฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลของทุกฝ่ายให้เป็นพับ

Share