คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1400/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

อำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 เป็นอำนาจของเจ้าหนี้ โจทก์ที่ 1 อ้างว่าโจทก์ที่ 1 ได้ภาระจำยอมโดยอายุความในทางเดินผ่านที่ดินของจำเลยที่ 1 อันเป็นการกล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิในทรัพย์ของผู้อื่นในลักษณะของทรัพยสิทธิ เมื่อเป็นเรื่องของทรัพยสิทธิ โจทก์ที่ 1 จึงไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามมาตรา 237 แต่ต้องไปว่ากล่าวเอาตาม ป.พ.พ. บรรพ 4 ในส่วนที่ว่าด้วยภาระจำยอม ส่วนโจทก์ที่ 2 นั้นได้ความเพียงว่าเป็นผู้เช่าที่ดินจากโจทก์ที่ 1 โดยไม่ปรากฏว่ามีนิติสัมพันธ์ใดๆ กับจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 2 จึงไม่ใช่เจ้าหนี้ที่จะมีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิกถอนการฉ้อฉลได้เช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทกี่ 1 ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 28239 เนื้อที่ 100 ตารางวา จากจำเลยที่ 1 ที่ดินแปลงดังกล่าวไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ จำเลยที่ 1 จึงให้โจทก์ที่ 1 และบริวารเดินบนที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 28242 ของจำลยที่ 1 ซึ่งมีสภาพเป็นร่องสวนกว้าง 1 เมตร ออกสู่ถนนสาธารณะตรอกวัดโพธิแก้ว ต่อมาโจทก์ที่ 1 แบ่งที่ดินบางส่วนให้โจทก์ที่ 2 เช่า โจทก์ที่ 1 และบริวารใช้ทางดังกล่าวเป็นทางเดินออกสู่ถนนสาธารณะตลอดมาเป็นเวลาประมาณ 15 ปี จนได้ภาระจำยอมในทางดังกล่าวแล้ว ต่อมาโจทก์ที่ 1 แจ้งให้จำเลยที่ 1 ไปดำเนินการจดทะเบียนภาระจำยอมให้ แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย โจทก์ที่ 1 จึงฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาในข้อหาขายของโดยหลอกลวงผู้ซื้อตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 ต่อศาลแขวงธนบุรี คดีถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง หลังศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้วโจทก์ที่ 1 ได้ใช้แผ่นคอนกรีตปูนบนทางภาระจำยอมทำเป็นถนน จำเลยที่ 2 จึงไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ทั้งสองในข้อหาบุกรุก และฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นคดีแพ่งในข้อหาละมิด จากคำฟ้องคดีแพ่งดังกล่าว ทำให้โจทก์ทั้งสองรู้ว่าจำเลยที่ 1 โอนที่ดินที่มีทางภาระจำยอมให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่สุจริต เป็นการฉ้อฉลโจทก์ทั้งสอง ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการยกให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 28242 ตำบลบางปะกอก (บางปะแก้ว) อำเภอราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร ระหว่างจำเลยทั้งสอง
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้ว พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 หรือไม่ โจทก์ทั้งสองฎีกาในทำนองว่า โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องครบองค์ประกอบตามมาตรา 237 แล้ว และการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้อง เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 327 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ซึ่งนิติกรรมใดๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ…” อำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลซึ่งนิติกรรมที่ลูกหนี้ได้กระทำลงโดยรู้ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้จึงเป็นอำนาจของเจ้าหนี้ แต่ตามข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสองบรรยายมาในคำฟ้องนั้น โจทก์ที่ 1 อ้างว่าโจทก์ที่ 1 ได้ภาระจำยอมโดยอายุความในทางเดิมผ่านที่ดินของจำเลยที่ 1 อันเป็นการกล่าวอ้างว่าตนมีสิทธิในทรัพย์ของผู้อื่นในลักษณะของทรัพยสิทธิ เมื่อเป็นเรื่องของทรัพยสิทธิ โจทก์ที่ 1 จึงไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตามบทบัญญัติมาตรา 237 ดังกล่าวได้แต่ต้องไปว่ากล่าวเอาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 4 ในส่วนที่ว่าด้วยภาระจำยอม ส่วนโจทก์ที่ 2 นั้นได้ความเพียงว่าเป็นผู้เช่าที่ดินจากโจทก์ที่ 1 โดยไม่ปรากฏว่ามีนิติสัมพันธ์ใดๆ กับจำเลยที่ 1 โจทก์ที่ 2 จึงไม่ใช่เจ้าหนี้ที่จะมีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิกถอนการฉ้อฉลได้เช่นกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษายืน

Share