คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1395/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยมีหน้าที่ตรวจสอบอุบัติเหตุรถยนต์ที่ประกันภัยไว้กับจำเลย จำเลยกำหนดเวลาทำงานปกติ 8.30 นาฬิกา ถึง 17.00 นาฬิกา เวลาพักวันละ 1 ชั่วโมง วันทำงานปกติ คือ วันจันทร์ถึงวันศุกร์วันหยุดประจำสัปดาห์คือวันเสาร์และวันอาทิตย์ วันหยุดตามประเพณีปีละ 13 วัน การทำงานของโจทก์ไม่ต้องไปทำงาน ณ สถานที่ทำการของจำเลยแต่จะประจำอยู่ที่บ้านโจทก์ เมื่อมีลูกค้าของจำเลยแจ้งต่อจำเลยว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้น จำเลยจะโทรศัพท์แจ้งโจทก์เพื่อให้โจทก์ไปดำเนินการตรวจสอบอุบัติเหตุ เมื่อดำเนินการเสร็จโจทก์เดินทางกลับบ้านเพื่อรอรับโทรศัพท์แจ้งเหตุรายต่อไป ในการตรวจสอบอุบัติเหตุแต่ละครั้ง โจทก์ต้องทำรายงานเพื่อส่งแก่จำเลย งานดังกล่าวของโจทก์จะมีขึ้นต่อเมื่อรถยนต์ที่ประกันภัยไว้กับจำเลยเกิดอุบัติเหตุซึ่งไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด จึงเป็นงานที่มีลักษณะหรือสภาพที่ต้องออกไปทำนอกสถานที่ และโดยลักษณะหรือสภาพของงานไม่อาจกำหนดเวลาที่แน่นอนได้ ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 65 (6) การที่โจทก์ประจำอยู่ที่บ้านแม้จะเตรียมพร้อมที่จะออกไปทำงานตรวจสอบอุบัติเหตุเมื่อได้รับแจ้งจากจำเลย แต่ตราบใดที่ยังไม่ได้ทำการตรวจสอบอุบัติเหตุให้แก่จำเลยก็ยังถือว่าทำงานให้แก่จำเลยไม่ได้ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยกับโจทก์ได้มีข้อตกลงให้โจทก์ทำงานวันละกี่ชั่วโมง จึงต้องถือกำหนดเวลาทำงานแต่ละวันไม่เกิน 8 ชั่วโมง และเมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้วสัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกิน 48 ชั่วโมง ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 23 วรรคสอง โจทก์นำสืบแต่เพียงว่า โจทก์ทำงานนอกเวลาทำงานปกติตั้งแต่เวลา 17.00 นาฬิกา ถึง 8.30 นาฬิกาของวันรุ่งขึ้น โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ทำงานเกินกว่าวันละ 8 ชั่วโมงในวันใด จำนวนเท่าใด จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าตอบแทน 226,991.32 บาท ค่าทำงานในวันหยุด 39,698.74 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าตอบแทน 11,830.66 บาท และจ่ายค่าทำงานในวันหยุด 38,633.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ฟ้อง (15 สิงหาคม 2546) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยมีหน้าที่ตรวจสอบอุบัติเหตุที่ประกันภัยไว้กับจำเลย จำเลยมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานซึ่งกำหนดเวลาทำงานปกติ 8.30 นาฬิกา ถึง 17.00 นาฬิกา เวลาพักวันละ 1 ชั่วโมง วันทำงานปกติ คือ วันจันทร์ถึงวันศุกร์ วันหยุดประจำสัปดาห์คือวันเสาร์และวันอาทิตย์ วันหยุดตามประเพณีปีละ 13 วัน คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า งานที่โจทก์ทำเป็นงานที่มีลักษณะหรือสภาพที่ต้องทำนอกสถานที่และโดยลักษณะหรือสภาพของงานไม่อาจกำหนดเวลาแน่นอนหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า การทำงานของโจทก์ไม่ต้องไปทำงาน ณ สถานที่ทำงานของจำเลย แต่จะประจำอยู่ที่บ้าน เมื่อมีลูกค้าของจำเลยแจ้งต่อจำเลยว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้น จำเลยจะโทรศัพท์แจ้งโจทก์เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบอุบัติเหตุ โจทก์จะเดินทางโดยใช้รถจักรยานยนต์ซึ่งเป็นของโจทก์ เมื่อถึงที่เกิดเหตุก็จะตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับการเกิดอุบัติเหตุ เส้นทางที่เกิดอุบัติเหตุ ถ่ายรูป พิจารณาว่ารถที่เอาประกันไว้กับจำเลยกับรถคู่กรณีฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดหรือฝ่ายถูก หากรถที่เอาประกันไว้กับจำเลยเป็นฝ่ายถูกก็จะเรียกร้องค่าเสียหายจากคู่กรณี หากรถที่เอาประกันไว้กับจำเลยเป็นฝ่ายผิดก็จะออกใบแจ้งเพื่อจัดการซ่อมให้แก่คู่กรณี ในกรณีที่ไม่อาจตกลงกันได้ก็จะไปที่สถานีตำรวจท้องที่เพื่อลงบันทึกประจำวันดำเนินคดีไปตามกฎหมาย เมื่อดำเนินการดังกล่าวข้างต้นเสร็จ โจทก์ก็จะเดินทางกลับไปบ้านพักเพื่อรอรับโทรศัพท์แจ้งเหตุรายต่อไป ในการไปตรวจสอบอุบัติเหตุแต่ละครั้ง โจทก์จะต้องทำรายงานซึ่งประกอบด้วยเอกสารต่าง ๆ รวมทั้งแผนที่เกิดเหตุเพื่อส่งแก่จำเลย เห็นว่า งานที่โจทก์ทำให้แก่จำเลยคือการออกไปตรวจสอบอุบัติเหตุรถยนต์ที่ประกันภัยไว้กับจำเลยซึ่งต้องออกไปทำนอกสถานที่ทำการของจำเลย และงานดังกล่าวจะมีขึ้นเมื่อรถยนต์ที่ประกันภัยไว้กับจำเลยเกิดอุบัติเหตุซึ่งไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด จึงเป็นงานที่มีลักษณะหรือสภาพที่ต้องออกไปทำนอกสถานที่และโดยลักษณะหรือสภาพของงานไม่อาจกำหนดเวลาที่แน่นอนได้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 65 (6) การที่โจทก์ประจำอยู่ที่บ้านแม้จะเตรียมพร้อมที่จะออกไปทำงานตรวจสอบอุบัติเหตุเมื่อได้รับแจ้งจากจำเลย แต่ตราบใดที่ยังไม่ได้ทำการตรวจสอบอุบัติเหตุให้แก่จำเลย ก็ยังถือว่าทำงานให้แก่จำเลยไม่ได้ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยสั่งให้โจทก์ทำงานล่วงเวลาหรือไม่ และจำเลยต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า งานที่โจทก์ทำให้แก่จำเลยเป็นงานที่ต้องทำนอกสถานที่และโดยลักษณะหรือสภาพของงานไม่อาจกำหนดเวลาที่แน่นอนได้ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 65 (6) และการที่โจทก์เตรียมพร้อมจะทำงานให้จำเลยอยู่ที่บ้านนั้นไม่ใช่การทำงานให้แก่จำเลย นอกจากนี้ แม้จำเลยจะมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน กำหนดเวลาทำงานปกติตั้งแต่เวลา 8.30 นาฬิกา ถึง 17.00 นาฬิกา เวลาพักวันละ 1 ชั่วโมง ก็ใช้สำหรับลูกจ้างของจำเลยที่ทำงานอยู่ ณ ที่ทำการของจำเลยเท่านั้น ไม่อาจใช้กับงานของโจทก์ ซึ่งไม่อาจกำหนดเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของการทำงานแต่ละวันได้เนื่องจากลักษณะหรือสภาพของงาน กรณีนี้นายจ้างและลูกจ้างสามารถตกลงกันกำหนดชั่วโมงทำงานแต่ละวันไม่เกิน 8 ชั่วโมง และเมื่อรวมเวลาทำงานทั้งสิ้นแล้วสัปดาห์หนึ่งต้องไม่เกิน 48 ชั่วโมงตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 23 วรรคสอง เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยกับโจทก์ได้มีข้อตกลงให้ทำงานวันละกี่ชั่วโมง จึงต้องถือกำหนดเวลาตามมาตรา 23 วรรคสอง คือ กำหนดให้ทำงานไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมง คดีนี้โจทก์เพียงแต่นำสืบว่าโจทก์ทำงานนอกเวลาทำงานปกติตั้งแต่เวลา 17.00 นาฬิกา 8.30 นาฬิกา วันรุ่งขึ้นโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ทำงานเกินกว่าวันละ 8 ชั่วโมง ในวันใด จำนวนเท่าใด จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์ อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน.

Share