คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4095/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย…” คำว่า คดีมรดก ตามบทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่า คดีที่พิพาทกันระหว่างทายาทที่มีสิทธิในทรัพย์มรดกด้วยกันด้วยเรื่องสิทธิเรียกร้องส่วนแบ่งทรัพย์มรดก ฉะนั้น จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาของทายาทคือจำเลยที่ 1 จึงมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดกของ บ. และโจทก์ ในฐานะผู้จัดการมรดกของ บ. ฟ้องคดีนี้เพื่อเรียกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินจากจำเลยทั้งสองเพื่อนำมาแบ่งปันแก่ทายาทของ บ. กรณีมิใช่เรื่องเรียกร้องส่วนแบ่งในทรัพย์มรดก จำเลยที่ 2 ไม่อาจยกอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ขึ้นกล่าวอ้างได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 25 ตำบลบางแก้ว อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ ให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตาม ให้เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครสวรรค์ สาขาอำเภอบรรพตพิสัย ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์แทนฉบับที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนด 1 ปี นับแต่นายบุตรถึงแก่ความตาย ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองคืนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 25 ให้โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เสียเกินมาทั้งสองศาลแก่โจทก์เป็นเงิน 6,600 บาท
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นบุตรของนายบุตร สุริยะ จำเลยที่ 2 เป็นภริยาจำเลยที่ 1 เมื่อนายบุตรถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายบุตรตามสำเนาคำสั่งศาลชั้นต้นเอกสารหมาย จ.2 นายบุตรมีทรัพย์มรดกคือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 25 ตำบลบางแก้ว อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ เอกสารหมาย ล.3 จำเลยทั้งสองเป็นผู้ครอบครองหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าว คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยทั้งสองครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่นายบุตรถึงแก่ความตายจนถึงปัจจุบัน เมื่อโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายบุตรฟ้องเรียกให้จำเลยทั้งสองส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทของนายบุตรยึดถือไว้เพื่อนำมาจัดการมรดกตามหน้าที่ จึงเป็นการฟ้องคดีเกี่ยวกับเรื่องมรดก นายบุตรถึงแก่ความตายเมื่อปี 2515 และโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 28 กรกฎาคม 2540 ซึ่งพ้นกำหนด 10 ปี นับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1754 โจทก์หมดสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์และจำเลยทั้งสองครอบครองทำกินเป็นของตนเอง โจทก์ฟ้องเมื่อพ้น 1 ปี นับแต่นายบุตรตายเป็นการฟ้องร้องในเรื่องมรดก จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ 1 มิได้ฎีกาคดีสำหรับจำเลยที่ 1 จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 คงมีปัญหาวินิจฉัยเฉพาะฎีกาในส่วนของจำเลยที่ 2 เท่านั้น ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย…” คำว่าคดีมรดก ตามบทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่าคดีที่พิพาทกันระหว่างทายาทที่มีสิทธิในทรัพย์มรดกด้วยกันด้วยเรื่องสิทธิเรียกร้องส่วนแบ่งทรัพย์มรดก ฉะนั้น จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภริยาจำเลยที่ 1 มิใช่ทายาทผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดกของนายบุตร และโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายบุตรฟ้องคดีนี้เพื่อเรียกหนังสือรับรองการทำประโยชน์คืนจากจำเลยทั้งสองเพื่อนำมาแบ่งปันแก่ทายาทของนายบุตร กรณีมิใช่เรื่องเรียกร้องส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกจำเลยที่ 2 ไม่อาจยกอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ขึ้นกล่าวอ้างได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ไม่ได้สั่งค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share