คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1395/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490มาตรา 71 การที่ศาลจะสั่งให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จจำต้อง พิจารณาจากระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดขึ้นระเบียบดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริง รัฐมนตรีได้ออกระเบียบไว้หรือไม่มีเงื่อนไขการจ่ายเงินบำเหน็จไว้อย่างไร จึงเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ต้องบรรยายฟ้องมาให้ศาลทราบหรือแนบระเบียบดังกล่าวมาด้วย เพื่อที่ศาลจะได้พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จโดยถูกต้อง เมื่อโจทก์มิได้แนบระเบียบดังกล่าวมาให้ศาลทราบศาลจึงไม่อาจที่จะพิพากษาให้จำเลยจ่ายบำเหน็จได้ ทั้งนี้เนื่องจากการที่ศาลจะพิพากษาให้จำเลยจ่ายบำเหน็จเป็นเรื่องสำคัญมีผลเท่ากับลงโทษทางอาญาแก่จำเลย เพราะหากจำเลยไม่จ่ายเงินบำเหน็จแล้ว บทบัญญัติมาตรานี้ให้บังคับชำระเช่นเดียวกับการบังคับชำระค่าปรับในคดีอาญาโจทก์จึงต้องบรรยายฟ้องหรือแนบระเบียบดังกล่าวมาให้ศาลทราบ ระเบียบดังกล่าวคือข้อเท็จจริงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเท่าที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดี ตามมาตรา 19 แห่ง พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499ปัญหาเรื่องข้อบกพร่องของคำฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยศาลย่อมยกขึ้นมาพิพากษาให้เป็นประโยชน์แก่จำเลยได้ ดังนี้ การที่ศาลยกเรื่องการจ่ายเงินบำเหน็จขึ้นมาพิพากษา จึงมิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2541 เวลากลางคืนก่อนเที่ยงจำเลยใช้เครื่องมืออวนลากคานถ่างแผ่นตะเข้ที่ใช้กับเรือยนต์ทำการประมงในบริเวณพื้นที่ทะเลอ่าวพังงาอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงวันที่ 1สิงหาคม 2522 เหตุเกิดที่ตำบลเขาทอง อำเภอเมืองกระบี่จังหวัดกระบี่ มีผู้แจ้งความนำจับ จับจำเลยได้พร้อมเรือยนต์ 1 ลำเครื่องมืออวนลากคานถ่างแผ่นตะเข้ 1 ชุด และสัตว์น้ำที่ได้มาจากการกระทำผิด 10 กิโลกรัม เป็นของกลางขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 มาตรา 4,32, 60, 65, 69, 70, 71 ริบของกลางและจ่ายเงินบำเหน็จแก่ผู้นำจับตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 32, 60, 65, 69, 70, 71ลงโทษจำคุก 4 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 2 เดือน ของกลางริบ และให้จ่ายเงินบำเหน็จแก่ผู้นำจับ 2,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ปรับบทตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 มาตรา 71 ให้ปรับจำเลย6,000 บาท อีกสถานหนึ่ง ลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้วคงปรับ 3,000 บาทโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 ไม่จ่ายเงินบำเหน็จแก่ผู้นำจับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าบันทึกคำฟ้องด้วยวาจาของโจทก์ ต้องแนบระเบียบการจ่ายเงินบำเหน็จแก่ผู้นำจับตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดขึ้นหรือไม่ พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 มาตรา 71 บัญญัติว่า “ผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องจ่ายเงินบำเหน็จแก่ผู้นำจับตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด แต่ต้องไม่เกินสองพันบาท ในกรณีที่ศาลลงโทษผู้กระทำความผิด ให้ศาลพิพากษาให้ผู้กระทำความผิดชำระเงินดังกล่าวแล้ว ถ้าไม่ชำระให้จัดการตาม มาตรา 18แห่งกฎหมายลักษณะอาญา โดยถือเหมือนว่าเป็นค่าปรับ”ตามบทบัญญัตินี้การที่ศาลจะสั่งให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จจำต้องพิจารณาจากระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดขึ้นและระเบียบดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริง รัฐมนตรีได้ออกระเบียบไว้หรือไม่มีเงื่อนไขการจ่ายเงินบำเหน็จไว้อย่างไร เป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ต้องบรรยายฟ้องมาให้ศาลทราบหรือแนบระเบียบดังกล่าวมาด้วยเพื่อที่ศาลจะได้พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จโดยถูกต้องเช่นเดียวกับที่โจทก์ได้แนบประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฉบับที่ 1 เรื่องกำหนดเขตห้ามใช้อวนลากและอวนชุน ทำการประมงในบริเวณอ่าว พังงา มาแล้วท้ายฟ้อง เมื่อโจทก์มิได้แนบระเบียบดังกล่าวมาให้ศาลทราบ ศาลจึงไม่อาจที่จะพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จได้ ทั้งนี้เนื่องจากการที่ศาลจะพิพากษาให้จำเลยจ่ายบำเหน็จเป็นเรื่องสำคัญมีผลเท่ากับลงโทษทางอาญาแก่จำเลย เพราะหากจำเลยไม่จ่ายเงินบำเหน็จแล้ว บทบัญญัติมาตรานี้ให้บังคับชำระเช่นเดียวกับการบังคับชำระค่าปรับในคดีอาญาโจทก์จึงต้องบรรยายฟ้องหรือแนบระเบียบดังกล่าวมาให้ศาลทราบระเบียบดังกล่าวคือข้อเท็จจริงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเท่าที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดี ตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยกเรื่องการจ่ายเงินบำเหน็จขึ้นมาพิพากษามิใช่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้อง หากแต่ยกเรื่องข้อบกพร่องของคำฟ้องซึ่งเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยมาพิพากษาให้เป็นประโยชน์แก่จำเลยศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share