แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เงินตราต่างประเทศ ที่เกินกว่า 1000 บาท ซึ่งจำเลยพยายามนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ย่อมเป็นความผิดตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร 2469และตามมาตรา 16 แห่ง พระราชบัญญัติศุลกากร(ฉบับที่ 9)2482 ด้วย จึงเป็นของต้องริบตาม พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่9) พ.ศ.2482 มาตรา 17
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องหาว่า จำเลยสมคบกันพยายามนำเงินตราต่างประเทศประเทศอินโดจีนเข้ามาในราชอาณาจักรไทยเป็นจำนวน 10,000 เหรียญเป็นราคาเงินไทย 6,250 บาท ซึ่งเกินกว่าจำนวนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนดให้นำติดตัวเข้ามาได้ 5,250 บาทขอให้ลงโทษและริบของกลาง จำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่า เงินของกลางเป็นของจำเลย 1,000 เหรียญ จำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่า เงินของกลางเป็นของจำเลย 9,000 เหรียญ เมื่อถึงท่าด่านศุลกากรเจ้าพนักงานด่านตรวจถาม จำเลยก็นำออกแสดงทันที แต่เจ้าพนักงานจับจำเลยโดยไม่ให้โอกาสจำเลยขออนุญาตนำเงินส่วนที่เกินกำหนดนั้นเสียก่อน ศาลชั้นต้นฟังคดีสมข้อต่อสู้จำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ฟังว่าได้พยายามนำเงิน 9,000 เหรียญเข้ามาในราชอาณาจักรจริง พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาในราชอาณาจักรและพระราชบัญญัติศุลกากรและกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 60 แต่จำเลยเป็นเด็กอายุ 12 ปี ให้ว่ากล่าวภาคทัณฑ์ ส่วนจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้อง ธนบัตรของกลาง1,000 เหรียญ ให้คืนจำเลยที่ 1 นอกนั้นให้ริบเฉพาะส่วนที่เกินกว่าจำนวน 1,000 บาท
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 มีผิดตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ด้วย และตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 บัญญัติว่า “ของใด ๆ อันเนื่องด้วยความผิดตามมาตรา 27 แห่ง พระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 ประกอบด้วย มาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 ท่านให้ริบเสียทั้งสิ้นโดยมิพักต้องคำนึงว่าบุคคลใดจะต้องรับโทษหรือหาไม่” ดังนี้ เงินตราต่างประเทศของกลางรายนี้ จึงเป็นของต้องริบตามพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 17
พิพากษายืน