คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1394/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องขัดทรัพย์ยื่นคำร้องขัดทรัพย์ว่า ได้ซื้อเรือนที่โจทก์นำยึดโดยทำสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานแล้ว ขอให้ถอนการยึด แต่จะขอสืบพยานว่า ขัดข้องในการจดทะเบียน เพราะเจ้าของที่ดินไม่ยอม จึงได้จัดการที่จะรื้อถอนไป ซึ่งเป็นการซื้ออสังหาริมทรัพย์เพียงแต่ทำสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือก็ใช้ได้เช่นนี้ หาได้ไม่ เพราะเป็นการขอสืบพยานผิดไปจากที่ตั้งประเด็นวิวาทไว้

ย่อยาว

เดิมศาลพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน ๒๐,๐๐๐ บาท กับดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยไม่ชำระโจทก์นำเจ้าพนักงานยึดเรือน ๑ หลัง อ้างว่าเป็นเรือนของจำเลย
ผู้ร้องขัดทรัพย์ว่า เรือนพิพาทเป็นของผู้ร้อง ได้รับโอนมาโดยมีค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนการโอนต่อเจ้าพนักงานโดยชอบแล้ว ขอให้สั่งปล่อยเรือนที่ยึด
โจทก์ว่า เรือนพิพาทเป็นของจำเลยผู้เดียว ผู้ร้อง ไม่ได้รับโอนโดยเสียค่าตอบแทนและไม่ได้จดทะเบียน
ผู้ร้องแถลงว่า ได้ทำหนังสือซื้อเรือนพิพาทตามเอกสารหมาย ร.๑ แต่ที่ไม่ได้จดทะเบียนเพราะเป็นการซื้อเพื่อรื้อไป ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนก็ใช้ได้ ผู้ร้องจะขอสืบพยานว่าสัญญาซื้อขายหมาย ร.๑ ซึ่งทำกันเองและไม่ได้จดทะเบียนที่อำเภอ โดยผู้ร้องตั้งใจจะรื้อไป
ศาลแพ่งสั่งงดสืบพยานแล้วสั่งว่า ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๔๕๖ การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ต้องทำเป็นหนังสืออดและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงาน เอกสาร ร.๑ ทำกันเองเป็นโมฆะ เรือนพิพาทยังเป็นของจำเลย จึงสั่งให้ยกคำร้องขัดทรัพย์ของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า เรือนพิพาทเป็นสังหาริมทรัพย์ เพราะเจ้าของที่ดิน คือ กรมประชาสงเคราะห์ กำลังขับไล่ผู้ ที่ปลูกเรือนอยู่ในที่รายนี้ ผู้ร้องจึงไปโอนทางทะเบียนไม่ได้ ตกลงจะรื้อถอนไปปลูกที่อื่น สัญญาซื้อขายเรือนรายนี้จึงไม่ต้องทำหนังสือโดยจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงาน ผู้ร้องขอให้สืบพยานต่อไป
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เดิมร้องขัดทรัพย์ว่า จำเลยโอนเรือนพิพาทให้ผู้ร้องโดยจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงาน แสดงว่า ผู้ร้องถือว่าเรือนพิพาทเป็นอสังหาริมทรัพย์ ครั้นถึงวันสืบพยาน ผู้ร้องกลับถือว่า เป็นสังหาริมทรัพย์ จึงเห็นว่า ผู้ร้องนำสืบไม่ได้เพราะนอกประเด็น ถือได้ว่า ผู้ร้องไม่มีพยานมาพิสูจน์ตามีคำร้องขัดทรัพย์ พิพากษายืนในผลแห่งคำสั่งศาลแพ่ง
ผู้ร้องฎีกาข้อความทำนองเดียวกับชั้นอุทธรณ์
ศาลฎีกาเห็นว่า ผู้ร้องขัดทรัพย์ยื่นคำร้องขัดทรัพย์ว่า ได้ซื้อเรือนที่โจทก์นำยึดโดยทำสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานแล้ว ขอให้ถอนการยึด แต่จะขอสืบพยานว่า ขัดข้องในการจดทะเบียน เพราะเจ้าของที่ดินไม่ยอม จึงได้จัดการที่จะรื้อถอนไป ซึ่งเป็นการซื้ออสังหาริมทรัพย์เพียงแต่ทำสัญญาซื้อขายเป็นหนังสือก็ใช้ได้เช่นนี้ หาได้ไม่ เพราะเป็นการขอสืบพยานผิดไปจากที่ตั้งประเด็นวิวาทไว้ อ้างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๘๖ วรรค ๒ พิพากษายืน

Share