แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์จำเลยทำสัญญาซื้อขายสินค้ากัน โดยมีข้อกำหนดในสัญญาว่า ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ จำเลยผู้ขายมีสิทธิแก้ไขและปรับราคาสินค้าใหม่ได้ ข้อตกลงเช่นนี้เห็นได้ว่าเพื่อประโยชน์ของผู้ขาย ในกรณีที่สินค้าราคาสูงขึ้นเพราะการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ แม้ตามข้อตกลงดังกล่าวจะมิได้กำหนดให้ถืออัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของประเทศใดเป็นหลัก แต่ก็ย่อมหมายถึงเงินตราต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายสินค้านี้เท่านั้น เมื่อปรากฏว่ามีเงินตราต่างประเทศที่เกี่ยวข้องอยู่ 2 สกุล คือเงินดอลล่าร์ของอเมริกาที่จำเลยใช้ชำระราคาสินค้า กับเงินมาร์คของเยอรมันเจ้าของสินค้าที่ซื้อขายกันและอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลล่าร์เปลี่ยนแปลงอันมีผลทำให้เงินมาร์คมีราคาสูงขึ้น จำเลยจึงมีสิทธิปรับราคาสินค้าที่ตกลงขายให้โจทก์สูงขึ้นได้ตามข้อกำหนดในสัญญาดังกล่าว แต่เมื่อโจทก์ไม่ยินยอม จำเลยก็ย่อมมีสิทธิที่จะไม่ส่งสินค้าให้โจทก์ และจะว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาซื้อขายกรดฟอสฟอริคจากจำเลย แต่จำเลยผิดสัญญาไม่ส่งมอบสินค้าให้โจทก์ จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยส่งมอบ หรือชดใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า จำเลยมีสิทธิปรับราคาสินค้าได้ เพราะอัตราแลกเปลี่ยนเงินมาร์คสูงขึ้น แต่โจทก์ไม่ยอม จำเลยจึงบอกเลิกสัญญา โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย
ศาลชั้นต้นพิจารณาให้จำเลยส่งสินค้าตามฟ้องให้โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยนำสืบข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยนำสืบได้ความว่า เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๑๖ อเมริกาได้ลดค่าเงินดอลล่าร์ของตนลง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ แม้ประเทศไทยจะลดค่าเงินบางตามลงมา อันทำให้ค่าของเงินบาทและดอลล่าร์ยังคงเดิม แต่โดยผลของการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนเงินนี้ทำให้เงินมาร์คของเยอรมันมีค่าสูงขึ้นเรื่อย ๆ ดังปรากฏตามอัตราซื้อขายเงินตราต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์ในตลาดกรุงเทพฯ ตามเอกสารหมาย ล.๘ เหตุนี้จึงฟังได้ว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแล้ว สินค้ากรดรายนี้จำเลยสั่งซื้อจากเยอรมัน เมื่อเงินมาร์คซึ่งเป็นเงินตราของเยอรมันมีค่าขึ้นย่อมเป็นธรรมดา สินค้านี้จะต้องมีราคาสูงขึ้น และปรากฏตามสัญญาซื้อขายสินค้านี้ที่โจทก์จำเลยทำไว้ต่อกัน คู่กรณีได้ตกลงกันตามข้อกำหนด และเงื่อนไขในสัญญาข้อ ๒ ไว้ว่า ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ผู้ขายมีสิทธิแก้ไขและปรับราคาสินค้าใหม่ ข้อตกลงเช่นนี้เห็นได้ว่า เพื่อประโยชน์ของผู้ขายในกรณีที่สินค้าราคาสูงขึ้นเพราะการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ผู้ขายมีสิทธิปรับราคาสินค้าใหม่ได้ แม้ตามข้อตกลงดังกล่าวจะมิได้กำหนดให้ถืออัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของประเทศใดเป็นหลัก แต่ก็ย่อมหมายถึงเงินตราต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายสินค้านี้เท่านั้น เมื่อปรากฏว่ามีเงินตราต่างประเทศที่เกี่ยวข้องอยู่ ๒ สกุล คือเงินดอลล่าร์ของอเมริกาที่จำเลยใช้ชำระราคาสินค้า กับเงินมาร์คของเยอรมันเจ้าของสินค้าที่ซื้อขายกัน เมื่ออัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลล่าร์เปลี่ยนแปลง อันมีผลทำให้เงินมาร์คมีราคาสูงขึ้นดังกล่าว จำเลยก็มีสิทธิจะปรับราคาสินค้าที่ตกลงขายให้โจทก์นั้นสูงขึ้นได้ตามที่ได้ตกลงข้อกำหนด และเงื่อนไขไว้ในสัญญาดังกล่าวแล้วนั้น และก็ได้ความว่าจำเลยได้ให้นายย่งเชียงแปะพนักงานขายสินค้าของจำเลยไปติดต่อกับโจทก์ เพื่อขอปรับราคาสินค้าให้สูงขึ้นตามข้อกำหนด และเงื่อนไขในสัญญาข้อ ๒ แล้ว แต่ไม่อาจตกลงกันในเรื่องราคาได้ โดยโจทก์ไม่ยินยอม จำเลยจึงไม่ส่งสินค้าให้โจทก์ เหตุผลเป็นเช่นนี้ ที่จำเลยไม่ส่งสินค้าให้โจทก์จะถือว่าจำเลยผิดสัญญาไม่ได้ สวนในข้อที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยมิได้บอกเลิกสัญญานั้น นายสมศักดิ์ เชียรวิจิตร ตำแหน่งรองหัวหน้าฝ่ายธุรการทั่วไปของบริษัทจำเลยเบิกความว่า เมื่อโจทก์ไม่ยอมให้ปรับราคาสินค้าใหม่ จำเลยจึงบอกเลิกสัญญากับโจทก์ แต่อย่างไรก็ดีศาลฎีกาเห็นว่า ตามข้อเท็จจริงจำเลยมีสิทธิที่จะปรับราคาสินค้าใหม่ได้ตามที่ระบุไว้ตามข้อกำหนดและเงื่อนไขในสัญญา แต่เมื่อโจทก์ไม่ยินยอมให้จำเลยปรับราคาสินค้าให้สูงขึ้น เพื่อให้สัญญามีผลผูกพันกัน จะได้ปฏิบัติตามสัญญากันต่อไปได้แล้ว จะถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาโดยไม่ส่งสินค้าให้แก่โจทก์ตามราคาในสัญญาหาได้ไม่ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน