คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1387/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ตกลงค้ำประกันจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้อันเกิดจากสัญญากู้เงินต่อโจทก์โดยจำเลยที่ 2 ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมมีจำเลยที่ 3ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมในหนังสือให้ความยินยอมไว้โดยระบุว่าจำเลยที่ 3 ยินยอมให้ จำเลยที่ 2 คู่สมรสของจำเลยที่ 3 ทำนิติกรรมทุกอย่างกับโจทก์ได้ ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้ให้สัตยาบันในหนี้ดังกล่าวหนี้ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าว จึงเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1490(4) ซึ่งจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดชดใช้หนี้ร่วมกันต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์จำนวน600,000 บาท ยินยอมให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี และยอมให้โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยได้ โดยตกลงผ่อนชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยรวมกันไม่น้อยกว่าเดือนละ 8,600 บาท กำหนดชำระเงินคืนให้เสร็จภายใน 120 เดือน แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะเรียกร้องให้ชำระเงินต้นและดอกเบี้ยก่อนกำหนด หากจำเลยผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยเป็นเวลาหนึ่งปียอมให้โจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างทบเข้าเป็นเงินต้นแล้วคิดดอกเบี้ยในเงินที่เข้าทบนั้นได้ในการกู้ยืมเงินดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้จำนองที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 17882 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 เป็นประกัน ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้รับเงินที่กู้ไปจากโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม โดยจำเลยที่ 3 ในฐานะภริยาของจำเลยที่ 2ได้ทำหนังสือให้ความยินยอมการทำนิติกรรมของจำเลยที่ 2 อันถือว่าเป็นลูกหนี้ร่วมภายหลังทำสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน817,663.03 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของเงินต้น600,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จหากจำเลยทั้งสามไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองรวมทั้งทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามนำออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ในการกู้เงินของจำเลยที่ 1 จากโจทก์จำเลยที่ 2 มิได้รู้เห็นหรือมีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด ต่อมาพนักงานโจทก์ฉ้อฉลจำเลยที่ 2 ให้ลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันหลายฉบับ โดยอ้างว่าเพื่อให้ถูกต้องตามระเบียบของโจทก์โดยจะไม่นำมาเกี่ยวพันกับการกู้เงินของจำเลยที่ 1 ไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 ทั้งจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์หลายครั้งจึงไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อในหนังสือให้ความยินยอมแก่จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมกับโจทก์ในฐานะคู่สมรสเท่านั้น จึงไม่มีผลผูกพันให้จำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 817,350.70 บาท แก่โจทก์ พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ19 ต่อปี ของเงินต้น จำนวน 600,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ถ้าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชำระให้ยึดทรัพย์ที่จำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์หากไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 และที่ 2 นำออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน สำหรับจำเลยที่ 3 ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าที่จำเลยที่ 2 ตกลงค้ำประกันจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้อันเกิดจากสัญญากู้เงินซึ่งจำเลยที่ 2 กระทำต่อโจทก์นั้น จำเลยที่ 2ยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมในหนังสือให้ความยินยอมโดยระบุว่าจำเลยที่ 3 ยินยอมให้จำเลยที่ 2 คู่สมรสของจำเลยที่ 3ทำนิติกรรมทุกอย่างกับโจทก์ได้จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้ร่วมรับรู้หนี้ที่จำเลยที่ 2 ได้ก่อให้เกิดขึ้นตามสัญญาค้ำประกันและจำเลยที่ 3 ได้ให้สัตยาบันในหนี้ดังกล่าว หนี้ตามสัญญาค้ำประกัน จึงเป็นหนี้ร่วมระหว่าง จำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490(4) ซึ่งจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดใช้หนี้ร่วมกันต่อโจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2และที่ 1 ชำระเงินจำนวน 817,350.70 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 600,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share