คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1387/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ที่ 1 กับพวกและจำเลยเป็นทายาทของ พ.เมื่อพ. ตายจำเลยยื่นคำร้องขอรับมรดกในที่ดินพิพาท แต่ถูกโจทก์ที่ 1 กับพวกคัดค้าน เจ้าพนักงานที่ดินให้คู่กรณีไปฟ้องร้องกันภายใน 60 วันเพราะตกลงกันไม่ได้ จำเลยมิได้ฟ้องร้องภายในกำหนดจนเจ้าพนักงานที่ดินได้จดทะเบียนให้โจทก์ที่ 1 กับพวกและจำเลยเป็นผู้รับมรดกของ พ. ร่วมกัน ดังนี้ แม้จำเลยจะอยู่ในที่พิพาทตลอดมาก็แสดงว่าจำเลยยอมละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 192 วรรคแรก โจทก์ที่ 1 กับพวกมีสิทธิร่วมกับจำเลยในที่ดินพิพาท เมื่อโจทก์ที่ 1 กับพวกขอออกโฉนดที่ดินพิพาท แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะจำเลยมิได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานที่ดินด้วย ย่อมทำให้สิทธิของโจทก์ที่ 1 กับพวกถูกกระทบกระเทือน และจำเลยมีหน้าที่ต้องอนุมัตตามความต้องการของเจ้าของส่วนข้างมาก โจทก์ที่ 1 มีสิทธิฟ้องขอให้ถือเอาคำพิพากษาแสดงเจตนาของจำเลยได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามใบไต่สวนเดิมเป็นของนางแพและนางหนูคนละครึ่ง โจทก์ที่ 1 และจำเลยกับทายาทอื่นร่วมกันรับมรดกในที่พิพาทเฉพาะส่วนของนางแพซึ่งถึงแก่กรรมแล้ว ส่วนโจทก์ที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนางหนู แล้วทั้งหมดต่างครอบครองที่ดินพิพาทร่วมกันหรือแทนกันตลอดมา ต่อมาผู้ถือกรรมสิทธิ์ขอออกโฉนดที่ดินดังกล่าวและแบ่งกรรมสิทธิ์รวมเพื่อขาย แต่เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการให้ไม่ได้เพราะจำเลยมิได้ยื่นคำขอด้วย โจทก์แจ้งให้จำเลยดำเนินการดังกล่าวแล้ว จำเลยเพิกเฉย ขอให้จำเลยดำเนินการขอออกโฉนดที่ดินทั้งแปลงแล้วแบ่งกรรมสิทธิ์รวมตามส่วน หากแบ่งแยกไม่ได้ ให้ขายที่ดินพิพาทแล้วนำเงินมาแบ่งตามส่วน ถ้าจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นของนางแพตกได้แก่จำเลยซึ่งเป็นทายาท และจำเลยได้ยึดถือเพื่อตนมาโดยตลอด โจทก์ที่ 1กับพวกไม่มีสิทธิรับมรดก และคดีขาดอายุความรับมรดกแล้ว เพราะที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามใบไต่สวนซึ่งไม่ใช่เอกสารสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ฟ้องของโจทก์ที่ 2 เป็นฟ้องซ้ำโจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิออกโฉนดขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ที่ 2 ขอถอนฟ้อง ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยดำเนินการขอออกโฉนดที่ดินแล้วแบ่งกรรมสิทธิ์ หากแบ่งแยกไม่ได้ให้ขายที่ดินพิพาทแล้วเอาเงินแบ่งกันตามส่วน ถ้าจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ 1
โจทก์ที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าโจทก์ที่ 1 กับพวกมีสิทธิในที่พิพาทร่วมกับจำเลยหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จำเลยจะอยู่ในที่พิพาทตลอดมาก็ตาม แต่โจทก์ที่ 1 กับพวกก็มิได้ทอดทิ้งที่พิพาทและได้หวงกันตลอดมา จะเห็นได้จากเมื่อครั้งนางแพเจ้ามรดกตายจำเลยได้ไปยื่นคำร้องขอรับมรดกแต่ผู้เดียว เมื่อปี 2508 โจทก์ที่ 1กับพวกก็ได้ไปยื่นคำร้องคัดค้านการรับมรดกของจำเลย จนเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการได้เจรจาทำความปรองดอง หากแต่ตกลงกันไม่ได้เจ้าพนักงานที่ดินจึงได้บันทึกไว้โดยให้คู่กรณีไปฟ้องร้องกันภายใน60 วัน ปรากฏตามคำสั่งของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการเอกสารหมาย จ.10 แต่จำเลยก็มิได้ไปจัดการฟ้องร้องตามที่เจ้าพนักงานที่ดินสั่ง จนพ้นกำหนด 60 วัน เจ้าพนักงานที่ดินจึงได้จดทะเบียนโจทก์ที่ 1 กับพวก และจำเลยเป็นผู้รับมรดกของนางแพ เมื่อกรณีเป็นดังนี้ ย่อมแสดงว่าจำเลยยอมละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความมรดกในอันที่จะต่อสู้โจทก์ที่ 1 กับพวกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 192 วรรคแรก นอกจากนี้ยังถือได้ว่าจำเลยครอบครองแทนโจทก์ที่ 1 กับพวกด้วยจำเดิมแต่นั้นมา ครั้นต่อมาปี 2528 เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการได้เรียกจำเลยไปสอบถามเกี่ยวกับการออกใบแทนใบไต่สวน จำเลยก็ได้ให้ถ้อยคำไว้ในเอกสารหมาย จ.15 ว่า จำเลยประสงค์จะขอออกใบแทนใบไต่สวนสำหรับที่พิพาทร่วมกับโจทก์ที่ 1 กับพวกอันเป็นการยืนยันเจตนาเดิมของจำเลยว่าตนมีความตั้งใจให้โจทก์ที่ 1 กับพวกในฐานะ บุตรหลานมีสิทธิในที่พิพาทร่วมกับตนด้วย…คดีฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 กับพวกมีสิทธิร่วมกับจำเลยในที่พิพาทจำเลยย่อมมีหน้าที่ที่จะอนุวัตตามความต้องการของเจ้าของส่วนข้างมากซึ่งต้องการออกโฉนดสำหรับที่พิพาท โจทก์นำสืบได้ความว่า ถ้าจำเลยไม่ยื่นคำร้องเจ้าพนักงานที่ดินก็ออกโฉนดให้ไม่ได้ ทำให้สิทธิของโจทก์ที่ 1 กับพวกถูกกระทบกระเทือน ย่อมมีสิทธิฟ้องศาลขอให้ถือเอาคำพิพากษาแสดงเจตนาของจำเลยได้
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 393 ปรับ 800 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้านั้นกฎหมายประสงค์จะลงโทษผู้ที่ดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าแต่ฝ่ายเดียวโดยที่ผู้ถูกดูหมิ่นนั้นมิได้กล่าว ถ้อยคำดูหมิ่นโต้ตอบด้วย การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกับจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 8747/2530 ของศาลชั้นต้นต่างสมัครใจกล่าวถ้อยคำดูหมิ่นซึ่งกันและกันจึงเป็นเรื่องต่างฝ่ายต่างด่าโต้ตอบกัน การกระทำของจำเลยย่อมไม่เป็นความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้าตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 393 จะนำหลักวินิจฉัยในกรณีที่ต่างทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกันมาปรับเข้าคดีนี้ดังที่โจทก์ฎีกาหาได้ไม่
พิพากษายืน.

Share