แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ทั้งสองฟ้องบรรยายความเป็นมาแห่งคดีเกี่ยวกับจำเลยได้นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร และยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ตรวจพบว่าจำเลยได้สำแดงน้ำหนักสุทธิของสินค้าไม่ถูกต้อง ต่ำกว่าความเป็นจริง เป็นเหตุให้อากรขาด รวมถึงความรับผิดของจำเลยผู้สั่งสินค้ารายพิพาท ให้เป็นที่เข้าใจได้เป็นอย่างดีตามคำให้การของจำเลยก็ปรากฏว่าจำเลยเข้าใจและต่อสู้คดีได้ถูกต้องคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นคำฟ้องที่ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา และคำขอบังคับรวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาครบถ้วน ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกเอาเงินภาษีอากรส่วนที่ขาดเพราะเหตุอันเกี่ยวกับราคาแห่งสินค้าที่นำเข้า มิใช่กรณีการคิดคำนวณอากรผิดพลาดจึงมีอายุความ 10 ปี นับจากวันที่นำของเข้า จำเลยนำสินค้าเข้ามาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2531 โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน2541 ยังไม่ครบ 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
จำเลยนำแผ่นพลาสติกชนิดแข็งเข้ามาในราชอาณาจักรโดยระบุในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าว่าสินค้ามีแหล่งกำเนิดในประเทศสาธารณรัฐเกาหลี จำนวน 3,060 แผ่นน้ำหนัก 17,847 กิโลกรัม สำแดงราคา ซีแอนด์เอฟ47,959ดอลลาร์สหรัฐซึ่งตามพิกัดอัตราศุลกากรได้กำหนดให้คิดอัตราอากรร้อยละ 60 ของราคาหรือในอัตรา 14 บาทต่อ 1 กิโลกรัม เมื่อคำนวณตามน้ำหนักแล้วมีราคา2.68 ดอลลาร์สหรัฐต่อหน่วยกิโลกรัม แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าสินค้าที่จำเลยนำเข้ามีน้ำหนัก 52,311.70 กิโลกรัม มิใช่น้ำหนัก 17,847กิโลกรัม ตามที่จำเลยสำแดงราคาสินค้าของจำเลยต่อ 1 กิโลกรัมจึงคิดเป็นเงิน 0.91 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อนำราคาดังกล่าวไปเทียบกับราคาสินค้าของผู้นำเข้ารายอื่นที่นำเข้าจากประเทศไต้หวัน ซึ่งมีราคาต่อ1 กิโลกรัม เท่ากับ 1.31 ถึง 1.50 ดอลลาร์สหรัฐ ราคาสินค้าที่จำเลยสำแดงจึงต่ำกว่าราคาที่มีผู้นำเข้ารายอื่นสำแดงไว้ แม้โจทก์จะนำสินค้าที่บริษัท ล. นำเข้าซึ่งเป็นสินค้าที่อยู่ในพิกัดต่างประเภทย่อยกับสินค้าของจำเลยราคา 1.539 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 กิโลกรัม มาใช้เทียบเป็นราคาสินค้าของจำเลยก็ตาม แต่โจทก์ก็ได้ลดราคานำเข้าให้จำเลยอีกร้อยละ 10 ของราคาดังกล่าว จึงเป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดราคาสินค้าที่เหมาะสมแล้ว การที่โจทก์ทั้งสองได้ทำการประเมินราคาสินค้าใหม่และเรียกเก็บอากรขาเข้าและภาษีการค้าเพิ่มเติมจึงชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2531 จำเลยนำเข้าแผ่นพลาสติก ชนิดแข็ง (PVC GREY REGID SHEET 1220 MM X 2440 MM IN THICKNESS) จำนวน 3,060 แผ่น มีแหล่งกำเนิดในประเทศสาธารณรัฐเกาหลีจากเมืองฮ่องกงเข้ามาในราชอาณาจักรโดยทางเรือที่ท่าเรือกรุงเทพ และจำเลยได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 สำแดงสินค้าที่นำเข้ามีน้ำหนักสุทธิ 17,847 กิโลกรัม ราคาสินค้า 1,229,878.40บาท อากรขาเข้า 737,909 บาท ภาษีการค้า 205,433 บาท และได้ชำระค่าอากรก่อนที่เจ้าหน้าที่โจทก์ที่ 1 ได้ตรวจปล่อยสินค้า ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ตรวจพบว่า จำเลยสำแดงน้ำหนักสุทธิของสินค้าต่ำกว่าความเป็นจริง ซึ่งความจริงสินค้าที่นำเข้ามีน้ำหนักสุทธิ52,311.70 กิโลกรัม เป็นเหตุให้ค่าอากรขาด เจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1จึงได้ทำการประเมินราคาสินค้า 1,804,633.60 บาท อากรขาเข้า1,082,780 บาท ภาษีการค้า 301,445 บาท ปรากฏว่าจำเลยชำระอากรขาเข้าขาดไป 344,871 บาท ภาษีการค้าขาดไป 96,012 บาทค่าภาษีส่วนท้องถิ่นขาดไป 9,601.20 บาท นอกจากนี้จำเลยยังต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้า เงินเพิ่มภาษีการค้า และเงินเพิ่มภาษีส่วนท้องถิ่นคำนวณถึงวันฟ้องรวมค่าภาษีที่จำเลยจะต้องชำระให้แก่โจทก์ทั้งสิ้นเป็นจำนวน 952,699 บาท โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยขอให้จำเลยชำระค่าภาษีอากรแก่โจทก์ทั้งสองรวมเป็นเงิน 952,699 บาทพร้อมเงินเพิ่มอากรในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนจากเงินภาษีอากรขาเข้า344,871 บาท ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยได้นำเข้าแผ่นพลาสติกชนิดแข็งตามฟ้องเข้ามาในราชอาณาจักร และจำเลยได้ยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 แล้วชำระค่าอากรก่อนที่เจ้าหน้าที่โจทก์ที่ 1 ได้ตรวจปล่อยสินค้ารวมเป็นเงิน959,366 บาท พนักงานเจ้าหน้าที่โจทก์ที่ 1 ได้ตรวจสอบแล้วเห็นว่าจำเลยชำระภาษีต่าง ๆ ดังกล่าวถูกต้องมิได้โต้แย้งแต่อย่างใด ยินยอมรับชำระเงินค่าภาษีจากจำเลย และประทับตราโจทก์ที่ 1 โดยมีข้อความว่า”พอใจบัญชีราคาสินค้า” แสดงว่า ค่าภาษีที่จำเลยเสียไว้ต่อโจทก์ที่ 1 ถูกต้องและครบถ้วนแล้ว เหตุที่น้ำหนักของสินค้าผิดพลาดเกิดขึ้นจากการกระทำของบริษัทเรือขนส่งสินค้า ทำรายการน้ำหนักสินค้าคลาดเคลื่อนจากน้ำหนักของสินค้าที่บริษัทที่จำเลยสั่งซื้อนำเข้ามาเองโดยบริษัทผู้ส่งสินค้าได้ระบุน้ำหนักในขณะส่งสินค้ามาว่าสินค้ามีน้ำหนัก52,311.70 กิโลกรัม แต่เมื่อบริษัทเรือขนส่งทำรายการส่งมอบให้จำเลยกลับปรากฏว่ามีน้ำหนักเพียง 17,847 กิโลกรัม แต่ราคาสินค้ายังมีราคา1,229,878.40 บาท เท่ากับราคาที่จำเลยสั่งซื้อมาแต่ต้น จำเลยได้ชำระภาษีตามราคาสินค้าที่แท้จริง ถือว่าจำเลยได้เสียภาษีอากรต่าง ๆ ให้โจทก์ทั้งสองครบถ้วนถูกต้องแล้ว กรณีตามฟ้องโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร แต่เหตุที่โจทก์ทั้งสองคำนวณเงินอากรผิดเพราะโจทก์ทั้งสองคำนวณตามน้ำหนักมิใช่คำนวณราคาของสินค้าซึ่งมีอายุความ 2 ปี เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่ฟ้องเรียกค่าภาษีอากรต่าง ๆภายในกำหนด 2 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ และฟ้องโจทก์เคลือบคลุมขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ตามฟ้องบรรยายความเป็นมาแห่งคดีเกี่ยวกับจำเลยได้นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักรและยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ตรวจพบว่าจำเลยได้สำแดงน้ำหนักสุทธิของสินค้าไม่ถูกต้องต่ำกว่าความเป็นจริงเป็นเหตุให้อากรขาดรวมถึงความรับผิดของจำเลยผู้สั่งสินค้ารายพิพาทให้เป็นที่เข้าใจได้เป็นอย่างดีและตามคำให้การของจำเลยก็ปรากฏว่าจำเลยเข้าใจและต่อสู้คดีได้ถูกต้อง คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นคำฟ้องที่ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา และคำขอบังคับรวมทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาครบถ้วน ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม และคดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกเอาเงินภาษีอากรส่วนที่ขาดเพราะเหตุอันเกี่ยวกับราคาแห่งสินค้าที่นำเข้า มิใช่กรณีการคิดคำนวณอากรผิดพลาดจึงมีอายุความ 10 ปี นับจากวันที่นำของเข้า จำเลยนำสินค้าเข้ามาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2531 โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน2541 ยังไม่ครบ 10 ปี คดีโจทก์หาขาดอายุความไม่
ปัญหาวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์โจทก์ทั้งสองว่า ราคาสินค้าที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ประเมินเพิ่มขึ้นเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดหรือไม่ เห็นว่า จำเลยนำแผ่นพลาสติกชนิดแข็ง เข้ามาในราชอาณาจักร จำนวน 3,060 แผ่น โดยระบุในใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าว่า สินค้ามีแหล่งกำเนิดในประเทศสาธารณรัฐเกาหลี โดยซื้อผ่านเมืองฮ่องกง จำนวน 3,060 แผ่น น้ำหนัก 17,847 กิโลกรัม สำแดงราคา ซี แอนด์ เอฟ 47,959ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการคิดอัตราอากรสำหรับสินค้าดังกล่าว ตามพิกัดอัตราศุลกากรได้กำหนดให้คิดร้อยละ 60 ของราคา หรือในอัตรา14 บาทต่อ 1 กิโลกรัม เมื่อคำนวณตามน้ำหนักแล้วสินค้าที่จำเลยแสดงมีน้ำหนัก 17,847 กิโลกรัม จึงมีราคา 2.68 ดอลลาร์สหรัฐต่อหน่วยกิโลกรัม และเมื่อเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ที่ 1 นำราคาดังกล่าวเปรียบเทียบกับราคาสินค้าที่มีผู้นำเข้ารายอื่นนำเข้ามาในราชอาณาจักร ราคาสินค้าดังกล่าวสูงกว่าราคาที่ผู้นำเข้ารายอื่นสำแดงราคาไว้แต่ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าสินค้าที่จำเลยนำเข้ามีน้ำหนัก52,311.70 กิโลกรัม มิใช่น้ำหนัก 17,847 กิโลกรัม ตามที่จำเลยสำแดงไว้ราคาสินค้าของจำเลยต่อ 1 กิโลกรัม จึงคิดเป็นเงิน 0.91 ดอลลาร์สหรัฐโจทก์ทั้งสองได้นำราคาตามที่จำเลยสำแดงจำนวน 47,959 ดอลลาร์สหรัฐหรือเท่ากับ 0.91 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อหน่วยกิโลกรัม ไปเทียบกับราคาสินค้าของผู้นำเข้ารายอื่นตามรายการเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 55 และ 56ได้ความว่า มีผู้นำเข้าจากประเทศในละแวกใกล้เคียงกัน คือไต้หวันโดยมีราคาต่อ 1 กิโลกรัม เท่ากับ 1.31 ถึง 1.50 ดอลลาร์สหรัฐราคาสินค้าที่จำเลยสำแดงจึงต่ำกว่าราคาที่มีผู้นำเข้ารายอื่นสำแดงไว้แม้ได้ความว่าโจทก์ทั้งสองนำสินค้ารายบริษัทหลุยส์ ทีเลียวโนเวนส์(ประเทศไทย) จำกัด ราคา 1.539 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 กิโลกรัมมาใช้เทียบเป็นราคาสินค้าของจำเลย ซึ่งเป็นสินค้าที่อยู่ในพิกัดต่างประเภทย่อยกับสินค้าของจำเลยก็ตาม แต่ก็ได้ลดราคานำเข้าให้จำเลยอีกร้อยละ 10 ของราคาดังกล่าว อันเป็นการใช้ดุลพินิจกำหนดราคาสินค้าที่เหมาะสมแล้ว การที่โจทก์ทั้งสองได้ทำการประเมินราคาสินค้าใหม่เป็นผลให้ค่าอากรขาดไป 344,871 บาท ภาษีการค้าขาดไป96,012 บาท ค่าภาษีส่วนท้องถิ่นขาดไป 9,601.20 บาท และเงินเพิ่มอากรขาเข้า 396,601.65 บาท เงินเพิ่มภาษีการค้า 96,012 บาทเงินเพิ่มภาษีส่วนท้องถิ่น 9,601.20 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 952,699 บาทจึงชอบแล้ว
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 952,699 บาทพร้อมเงินเพิ่มอากรอัตราร้อยละหนึ่งในต้นเงินอากรขาเข้า จำนวน344,871 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์