คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1384/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การตรวจพิสูจน์เหล็กเส้นของกลางของโจทก์ที่ 1 และของจำเลยที่ 6 เปรียบเทียบกันพบว่ากรรมวิธีการผลิตข้อต่อแบบเชิงกลของแท่งเหล็กเส้นเสริมแรงสำหรับคอนกรีตโดยใช้เกลียวละเอียดของจำเลยที่ 6 เป็นการประดิษฐ์ที่มีลักษณะทางเทคนิคที่แตกต่างจากกรรมวิธีการผลิตที่ใช้เกลียวธรรมดาหรือเกลียวหยาบของโจทก์ที่ 1 ในรายละเอียดเพียงเล็กน้อย และเป็นเพียงลักษณะของการใช้กรรมวิธีการทำให้เกิดผลทำนองเดียวกันได้กับของโจทก์ที่ 1 ส่วนการทำเกลียวของจำเลยที่ 6 ให้หน้าตัดเส้นผ่าศูนย์กลางแท่งเหล็กเส้นที่โคนหรือร่องเกลียวมีขนาดเล็กกว่าของแท่งเหล็กเส้นเดิมก่อนขยายปลายก็เป็นเพียงกรรมวิธีที่มีลักษณะทางเทคนิคที่แตกต่างไปเล็กน้อย และเป็นเพียงลักษณะของกรรมวิธีที่ทำให้เกิดผลทำนองเดียวกันได้เช่นกัน
กรรมวิธีการผลิตของจำเลยที่ 6 ที่ให้แตกต่างไปจากกรรมวิธีของโจทก์ที่ 1 เป็นเพียงแต่การหาหรือใช้กรรมวิธีอื่นที่ทดแทนกรรมวิธีของโจทก์ที่ 1 ไม่ก่อให้เกิดคุณสมบัติในการใช้งานเพิ่มเติมขึ้นเป็นพิเศษยิ่งกว่าคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ที่ใช้กรรมวิธีของโจทก์ที่ 1 แต่อย่างใด บุคคลอื่นที่มีความชำนาญในระดับสามัญในศิลปะหรือวิทยาการเกี่ยวกับการประดิษฐ์ ซึ่งไม่จำต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญก็เห็นได้ว่า ผลิตภัณฑ์ที่ใช้กรรมวิธีการผลิตของจำเลยที่ 6 มีคุณสมบัติ ประโยชน์ใช้สอยและทำให้เกิดผลทำนองเดียวกับผลิตภัณฑ์ที่ใช้กรรมวิธีการผลิตของโจทก์ที่ 1 ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 36 ทวิ วรรคสอง การผลิตข้อต่อแท่งเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตของจำเลยที่ 6 จึงละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ในกรรมวิธีตามสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 1

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเก้าตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 36, 77, 85, 88 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83 และสั่งริบของกลาง
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลเฉพาะจำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ให้ประทับฟ้อง สำหรับจำเลยที่ 9 ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 8 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้น พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 7 ถึงแก่ความตาย ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 7
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8 มีความผิดตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 36 วรรคแรก (2) ประกอบมาตรา 85, 88 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ลงโทษปรับคนละ 100,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 เว้นแต่จำเลยที่ 1 และที่ 6 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ริบของกลาง
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 8 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ว่าการขยายปลายแท่งเหล็กเส้นเพียงร้อยละ 10 ของจำเลยที่ 6 จะอยู่ในข้อถือสิทธิของฝ่ายโจทก์ข้อที่ 1 และข้อที่ 3 ที่ว่า ขยายปลายเหล็กเส้นด้วยวิธีอัดเย็นให้ใหญ่ขึ้นเท่ากันหรือน้อยกว่าร้อยละ 30 ตามที่โจทก์ที่ 1 ได้รับการจดทะเบียนสิทธิบัตรแล้วหรือไม่นั้น การตรวจพิสูจน์แท่งเหล็กเส้นของกลางของโจทก์ที่ 1 และของจำเลยที่ 6 เปรียบเทียบกัน กรรมวิธีการผลิตข้อต่อแบบเชิงกลของแท่งเหล็กเสริมแรงสำหรับคอนกรีต โดยใช้เกลียวละเอียดของจำเลยที่ 6 ดังกล่าว จึงเป็นการประดิษฐ์ที่มีลักษณะทางเทคนิคที่แตกต่างจากกรรมวิธีการผลิตที่ใช้เกลียวธรรมดาหรือเกลียวหยาบของโจทก์ที่ 1 ในรายละเอียดเพียงเล็กน้อย และเป็นเพียงลักษณะของการใช้กรรมวิธีการทำให้เกิดผลทำนองเดียวกันได้กับของโจทก์ที่ 1 ส่วนการทำเกลียวของจำเลยที่ 6 ให้หน้าตัดเส้นผ่าศูนย์กลางแท่งเหล็กเส้นที่โคนหรือร่องเกลียวมีขนาดเล็กกว่าของแท่งเหล็กเส้นเดิมก่อนขยายปลายก็เป็นเพียงกรรมวิธีที่มีลักษณะทางเทคนิคที่แตกต่างไปเล็กน้อย และเป็นเพียงลักษณะของกรรมวิธีที่ทำให้เกิดผลทำนองเดียวกันได้เช่นกัน นอกจากนี้เมื่อพิจารณาถึงคุณสมบัติการใช้งานและประโยชน์ใช้สอย ที่นายพิชัยพยานจำเลยเบิกความว่า ยิ่งขยายเส้นผ่าศูนย์กลางของแท่งเหล็กเส้นน้อยจะทำให้โมเลกุลของเหล็กไม่ถูกเปลี่ยนแปลงมาก คุณสมบัติของเหล็กจะดีขึ้น (กว่าการขยายให้ใหญ่กว่าของโจทก์ที่ 1) เพราะจะทำให้การแตกร้าวของเหล็กน้อยลง ใช้พลังงานในการผลิตเพื่อขยายแท่งเหล็กเส้นน้อยลงซึ่งทำให้เสียค่าใช้จ่ายน้อย แม่พิมพ์สึกหรอน้อยลงเนื่องจากถูกแรงกระแทกจากเครื่องอัดไฮโดรลิกน้อยลง และการใช้เกลียวละเอียดสามารถรับแรงดึงได้สูงกว่าเกลียวหยาบ ตามความเห็นของนายพิชัยที่ให้แก่กองพิสูจน์หลักฐานเอกสารหมาย ล. 12 นั้น นายพิชัยก็เบิกความต่อไปว่าพยานเข้าใจเองว่าเป็นเช่นนั้น และเบิกความต่อไปกับตอบคำถามค้านว่า ตามความเห็นของพยานการกำหนดคุณสมบัติเกลียวของโจทก์ที่ 1 ให้หน้าตัดเส้นผ่าศูนย์กลางที่โคนหรือร่องเกลียวต้องมากกว่าหรือเท่ากับเส้นผ่าศูนย์กลางของแท่งเหล็กเส้นเดิมก็มาจากข้อเท็จจริงทางวิศวกรรมที่ว่า หากเส้นผ่าศูนย์กลางของแท่งเหล็กเส้นที่ทำเกลียวแล้วน้อยกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางของแท่งเหล็กเส้นที่ยังไม่ทำเกลียว เมื่อนำมาทดสอบโดยใช้เครื่องดึงจะพบว่าส่วนใหญ่จะแตก พัง หรือขาดที่เส้นผ่าศูนย์กลางที่น้อยที่สุดของแท่งเหล็กเส้นที่กลึงแล้ว ดังนั้น กรรมวิธีการผลิตข้อต่อแบบเชิงกลแท่งเหล็กเส้นเสริมแรงสำหรับคอนกรีตของจำเลยที่ 6 จึงพัฒนาเกลียวให้สามารถรับน้ำหนักได้สูงขึ้นโดยใช้เกลียวละเอียด แต่ก็มีความเสี่ยงที่แท่งเหล็กจะขาดส่วนที่ทำเกลียว จึงบังคับว่าต้องควบคุมการผลิตทุกขั้นตอน หากผลิตไม่ตรงตามข้อกำหนดจะไม่ผ่านการทดสอบ ที่ผลิตภัณฑ์ของจำเลยที่ 6 ไม่ขาดที่รอยต่อก็เพราะมีปลอกเกลียวซึ่งใช้เกลียวละเอียดมาหุ้มเสริมช่วยให้พื้นที่หน้าตัดของแท่งเหล็กมีมากขึ้นและสามารถรับน้ำหนักได้มากขึ้น ทั้งนายพิชัยยังเบิกความตอบคำถามค้านและคำถามติงอีกว่าเกลียวละเอียดจะเสียหายได้ง่ายกว่าเกลียวหยาบเพราะสันเกลียวบางกว่า ซึ่งจากคำเบิกความของนายพิชัยพยานจำเลยดังนี้ แสดงว่ากรรมวิธีการผลิตข้อต่อของจำเลยที่ 6 ที่ให้แตกต่างไปจากกรรมวิธีของโจทก์ที่ 1 สามประการดังกล่าวเป็นเพียงการหาหรือใช้กรรมวิธีอื่นที่ทดแทนกรรมวิธีของโจทก์ที่ 1 ไม่ก่อให้เกิดคุณสมบัติในการใช้งานเพิ่มเติมขึ้นเป็นพิเศษยิ่งกว่าคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ที่ใช้กรรมวิธีเดียวกันของโจทก์ที่ 1 แต่อย่างใด บุคคลอื่นที่มีความชำนาญในระดับสามัญในศิลปะหรือวิทยาการเกี่ยวกับการประดิษฐ์ ซึ่งไม่จำต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญอย่างนายพิชัยพยานจำเลยก็เห็นได้ว่า ผลิตภัณฑ์ที่ใช้กรรมวิธีการผลิตของจำเลยที่ 6 มีคุณสมบัติประโยชน์ใช้สอย และทำให้เกิดผลทำนองเดียวกับผลิตภัณฑ์ที่ใช้กรรมวิธีการผลิตของโจทก์ที่ 1 ตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 36 ทวิ วรรคสอง ที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้วดังกล่าว การผลิตข้อต่อแท่งเหล็กเส้นเสริมแรงคอนกรีตของจำเลยที่ 6 จึงละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ในกรรมวิธีตามสิทธิบัตรของโจทก์ที่ 1 จำเลยที่ 6 จึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ.2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสิทธิบัตร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 36, 36 ทวิ, 85 โดยจำเลยที่ 8 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนของจำเลยที่ 6 ด้วยคนหนึ่ง ตามหนังสือรับรองบริษัทเอกสารหมาย จ. 9 ต้องรับโทษด้วยตามมาตรา 88 ซึ่งบัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคล ผู้ดำเนินกิจการหรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้นต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนดสำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการกระทำของนิติบุคคลนั้นได้กระทำโดยตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วย ซึ่งตามคำเบิกความของจำเลยที่ 8 จำเลยที่ 8 ก็รู้ว่าก่อตั้งบริษัทจำเลยที่ 6 มาเพื่อผลิตข้อต่อแท่งเหล็กเส้นโดยใช้กรรมวิธีการผลิตเช่นเดียวกับของโจทก์ที่ 1 …
พิพากษายืน

Share