คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13806/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำเลยซึ่งจดทะเบียนแล้วที่กำหนดว่าจะไม่จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์กรณีลูกจ้างลาออกจากงานเพื่อไปทำงานกับบริษัทคู่แข่งทางธุรกิจนั้น มีลักษณะเป็นไปเพื่อคุ้มครองดูแลผลประโยชน์ในทางการค้าของจำเลยร่วมซึ่งเป็นนายจ้างแต่ฝ่ายเดียว และเป็นการห้ามลูกจ้างไปทำงานกับบริษัทคู่แข่งทางธุรกิจหลังจากนิติสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างไม่มีต่อกัน ทั้งเป็นการตัดสิทธิลูกจ้างไม่ให้ได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์โดยที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำการที่ไม่ชอบไม่ถูกต้องไม่ควรในขณะที่เป็นลูกจ้าง จึงเป็นข้อกำหนดที่ขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันและสวัสดิการแก่ลูกจ้างเมื่อออกจากงานตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 5 และหมายเหตุท้าย พ.ร.บ. ดังกล่าว และเป็นการตัดสิทธิของลูกจ้างโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 9 (8) ถือว่าข้อบังคับดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะ ใช้บังคับไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบ 23,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ในระหว่างพิจารณาบริษัทดาต้าโปรดักส์ทอปปังฟอร์ม จำกัด ยื่นคำร้องสอดขอเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลแรงงานกลางอนุญาต
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 23,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 13 กรกฎาคม 2553) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ สำหรับจำเลยร่วมให้ยกฟ้อง
จำเลยและจำเลยร่วมอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมา และตามคำฟ้องคำให้การและทางนำสืบของคู่ความที่รับกันและไม่โต้แย้งกันได้ความว่า เดิมโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยร่วม ระหว่างทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยร่วม จำเลยร่วมจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำเลยขึ้น โจทก์สมัครเข้าเป็นสมาชิกของจำเลยโดยโจทก์จัดส่งเงินสะสมและจำเลยร่วมจัดส่งเงินสมทบ วันที่ 10 มกราคม 2553 โจทก์ยื่นหนังสือลาออกจากการทำงานต่อจำเลยร่วมโดยให้มีผลวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2553 แล้วต่อมาเดือนมีนาคม 2553 โจทก์ไปทำงานเป็นลูกจ้างของบริษัททีเอส อินเตอร์พริ้น จำกัด ซึ่งเป็นคู่แข่งทางธุรกิจกับจำเลยร่วมโดยผลิตสินค้าชนิดเดียวกันคือนามบัตรและปฏิทินพก จำเลยจ่ายเงินสะสมและผลประโยชน์ของเงินสะสมแก่โจทก์แต่ปฏิเสธการจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบ แล้ววินิจฉัยว่า ข้อบังคับของจำเลยและจำเลยร่วมที่ระบุห้ามจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบกรณีลาออกเพื่อไปทำงานกับคู่แข่งเป็นการห้ามประกอบอาชีพโดยไม่ระบุตำแหน่งหน้าที่ พื้นที่และระยะเวลา ถือเป็นข้อจำกัดทางทำมาหาได้ของลูกจ้างที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะใช้บังคับไม่ได้ ส่วนที่จำเลยร่วมให้การว่าการที่โจทก์ไปทำงานกับบริษัทคู่แข่งทางธุรกิจถือว่าจงใจทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอันเป็นการปฏิบัติผิดข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอีกข้อหนึ่งนั้นอยู่นอกเหนือคำให้การของจำเลย จำเลยร่วมจึงไม่มีอำนาจให้การต่อสู้ตั้งประเด็นใหม่ นอกจากนี้ไม่ปรากฏว่าจำเลยร่วมได้รับความเสียหาย แม้ว่าจำเลยจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบแก่จำเลยร่วมไปแล้ว แต่จำเลยยังคงมีหน้าที่จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบแก่โจทก์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยและจำเลยร่วมว่า ข้อบังคับของจำเลยที่กำหนดว่าจะไม่จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ให้แก่ลูกจ้างที่ลาออกไปเพื่อทำงานกับบริษัทคู่แข่งทางธุรกิจใช้บังคับได้หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 5 บัญญัติว่า “กองทุนจะมีขึ้นได้ต่อเมื่อลูกจ้างและนายจ้างตกลงกันจัดตั้งขึ้นและได้จดทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ เพื่อเป็นหลักประกันแก่ลูกจ้างในกรณีที่ลูกจ้างตาย ออกจากงาน หรือลาออกจากกองทุน โดยลูกจ้างจ่ายเงินสะสมและนายจ้างจ่ายเงินสมทบตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อบังคับกองทุนนี้ ทั้งนี้จะจัดตั้งเป็นกองทุนนายจ้างเดียวหรือกองทุนหลายนายจ้างซึ่งอาจมีนโยบายการลงทุนนโยบายเดียวหรือหลายนโยบายก็ได้” มาตรา 8 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในการขอจดทะเบียนกองทุน ถ้าได้ปฏิบัติถูกต้องครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 และมีข้อบังคับถูกต้องตามมาตรา 9 และข้อบังคับนั้นไม่ขัดต่อกฎหมายหรือวัตถุประสงค์ของกองทุน ให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนได้และออกใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนให้แก่กองทุนนั้น” และมาตรา 9 บัญญัติว่า ข้อบังคับของกองทุนอย่างน้อยต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้…(8) “ข้อกำหนดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์วิธีการและระยะเวลาในการจ่ายเงินเมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพหรือเมื่อกองทุนเลิกตามมาตรา 25 ทั้งนี้ ข้อกำหนดนั้นจะต้องไม่ตัดสิทธิของลูกจ้างโดยปราศจากเหตุอันสมควร” ประกอบกับหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติฉบับนี้ระบุเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ว่า “โดยที่เป็นการสมควรส่งเสริมให้มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยความสมัครใจของนายจ้างและลูกจ้างเพื่อประสงค์จะให้เป็นสวัสดิการแก่ลูกจ้างเมื่อออกจากงาน ระดมเงินออมภาคเอกชนเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งในการนี้สมควรวางหลักเกณฑ์การดำเนินการและการจัดการกองทุนเพื่อให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมั่นคงและเป็นประโยชน์แก่ลูกจ้าง จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้” เช่นนี้ เมื่อข้อบังคับของจำเลย ข้อ 3 กำหนดว่า กองทุนจะไม่จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบ กรณี 3.7 ลาออกจากบริษัทนายจ้าง (จำเลยร่วม) เพื่อไปทำงานกับบริษัทคู่แข่งทางธุรกิจ จึงมีลักษณะเป็นไปเพื่อคุ้มครองดูแลผลประโยชน์ในทางการค้าของจำเลยร่วมซึ่งเป็นนายจ้างแต่ฝ่ายเดียว และเป็นการห้ามลูกจ้างไปทำงานกับบริษัทคู่แข่งทางธุรกิจหลังจากนิติสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างไม่มีต่อกัน อีกทั้งเป็นการตัดสิทธิลูกจ้างไม่ให้ได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์โดยที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำการที่ไม่ชอบไม่ถูกต้องไม่ควรในขณะที่เป็นลูกจ้าง ดังนั้นข้อบังคับของจำเลยที่กำหนดว่าจะไม่จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์กรณีลูกจ้างลาออกจากงานเพื่อไปทำงานกับบริษัทคู่แข่งทางธุรกิจจึงขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันและสวัสดิการแก่ลูกจ้างเมื่อออกจากงาน และเป็นข้อกำหนดที่ตัดสิทธิของลูกจ้างโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 9 (8) ถือว่าข้อบังคับดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะ ใช้บังคับไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 จำเลยจะปฏิเสธไม่จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์โดยอ้างว่าโจทก์ลาออกจากงานเพื่อไปทำงานกับบริษัทคู่แข่งทางธุรกิจไม่ได้ ที่ศาลแรงงานกลาง พิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์แก่โจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยและจำเลยร่วมฟังไม่ขึ้น ส่วนอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยและจำเลยร่วมไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน

Share