แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์เท่านั้น แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นทายาทอยู่ในฐานะอันควรได้มรดกเช่นเดียวกับโจทก์ ศาลมีอำนาจแบ่งมรดกรายนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ได้ เนื่องจากจำเลยที่ 1 เป็นคู่ความในคดีตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1749 วรรคสองอยู่แล้ว โดยไม่จำต้องร้องสอดเข้ามาขอส่วนแบ่งในคดีแต่อย่างใด
ย่อยาว
คดีที่เดิมศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกับสำนวนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๒๕๐๗/๒๕๓๙ ของศาลชั้นต้น โดยให้เรียกนายชาญชัย แจ้งยุบล โจทก์ ในสำนวนคดีนี้ว่า โจทก์เรียกนางกันยาศิริ พุทธสถิตย์หรือแจ้งยุบล จำเลยที่ ๑ ในสำนวนคดีนี้ และเป็นโจทก์ในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๒๕๐๗/๒๕๓๙ ของศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ ๑ และเรียกนายอภิชาติ แจ้งยุบล จำเลยที่ ๒ ในสำนวนคดีนี้ และเป็นจำเลยในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๒๕๐๗/๒๕๓๙ ของศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ ๒ แต่คดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๒๕๐๗/๒๕๓๙ ของศาลชั้นต้นยุติแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยคู่ความมิได้ฎีกา คงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาเฉพาะคดีนี้
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๐๒๑๓ (ที่ถูก ๒๓๑๑๓) ตำบลจรเข้บัว อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ในส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของนางนวลไฉน แจ้งยุคล ซึ่งเป็นมารดาโจทก์และจำเลยที่ ๑ ให้โจทก์จำนวน ๒๖ ตารางวา โดยให้โอนใส่ชื่อโจทก์ในสารบาญจดทะเบียนสิทธินิติกรรมที่ดินสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาลาดพร้าว หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาแสดงแทนเจตนา
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมกับพันตำรวจเอกพิชิต แจ้งยุบล ซึ่งเป็นบิดาโจทก์และจำเลยทั้งสองในที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๐๒๑๓ (ที่ถูก ๒๓๑๑๓) ตำบลจรเข้บัว อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นสินสมรสระหว่างพันตำรวจเอกพิชิตกับนางนวลไฉน เมื่อนางนวลไฉนถึงแก่กรรม พันตำรวจเอกพิชิตครอบครองที่ดินแทนทายาทซึ่งคือโจทก์และจำเลยที่ ๑ จึงมีสิทธิรับมรดกของนางนวลไฉนมาโดยตลอด พันตำรวจเอกพิชิตจึงไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกที่ดินเนื้อที่ ๒๖ ตารางวา ที่ตกทอดแก่จำเลยที่ ๑ ให้แก่ผู้ใดได้ แต่เนื่องจากการแบ่งมรดกจำเลยที่ ๑ ไม่อาจกระทำได้ด้วยตนเองเพราะจำเลยที่ ๒ เป็นผู้จัดการมรดก รวมทั้งจำเลยที่ ๒ อ้างพินัยกรรมว่าพันตำรวจเอกพิชิตยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ ๒ และนางสาวบังอรศิริได้ ขอให้ยกฟ้องสำนวนคดีแรก
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า ฟ้องโจทก์และจำเลยที่ ๑ เคลือบคลุม เพราะมิได้บรรยายให้ชัดเจนว่า นางนวลไฉนกับพันตำรวจเอกพิชิตได้จดทะเบียนสมรสกันหรือเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย อันจะทำให้มีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทหรือไม่ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เนื่องจากโจทก์มิได้อยู่ในฐานะทายาทผู้ครอบครองทรัพย์มรดก และฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกเกินกว่า ๑ ปี นับแต่วันรู้ว่านางนวลไฉนเจ้ามรดกถึงแก่กรรมและเกินกว่า ๑๐ ปี นับแต่วันที่เจ้ามรดกถึงแก่กรรม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของพันตำรวจเอกพิชิต แจ้งยุบล ตามคำสั่งศาลในคดีหมายเลขแดงที่ ๒๐๓๑/๒๕๓๗ ดำเนินการแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๐๒๑๓ (ที่ถูกคือ ๒๓๑๑๓) ตำบลจรเข้บัว อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์และจำเลยที่ ๑ คนละ ๒๖ ตารางวา หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยที่ ๒ ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความในแต่ละคดีเป็นเงิน ๑๐,๐๐๐ บาท
โจทก์ จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์และจำเลยที่ ๑ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกินจำนวน ๑๑,๐๕๐ บาท แก่จำเลยที่ ๒
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยแล้วเห็นว่า สำหรับสำนวนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๒๕๐๗/๒๕๓๙ ของศาลชั้นต้นนั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง เมื่อจำเลยที่ ๑ ไม่ฎีกา ดังนั้น สำนวนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๒๕๐๗/๒๕๓๙ จึงยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีคงมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาเฉพาะสำนวนคดีนี้ ซึ่งข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า พันตำรวจเอกพิชิต แจ้งยุบล มีภริยา ๒ คน คนแรกชื่อนางนวลไฉน มีบุตรด้วยกัน ๒ คน คือ โจทก์กับจำเลยที่ ๑ ภริยาคนที่ ๒ ชื่อนางอ่อนศรี มีบุตรด้วยกัน ๒ คน คือจำเลยที่ ๒ กับนางสาวบังอรศิริ พันตำรวจเอกพิชิตกับนางนวลไฉนอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาตั้งแต่ปี ๒๔๘๓ โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ในระหว่างที่พันตำรวจเอกพิชิตกับนางนวลไฉนอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาในปี ๒๕๑๐ พันตำรวจเอกพิชิตซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๐๒๑๓ (ที่ถูก ๒๓๑๑๓) ตำบลจรเข้บัว อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ ๑ ไร่ ๓ งาน ๕๔ ตารางวา ใส่ชื่อพันตำรวจเอกพิชิต โจทก์ และจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม ปี ๒๕๑๒ มีการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมโดยแบ่งที่ดินแปลงดังกล่าวออกเป็น ๕ แปลง มีชื่อพันตำรวจเอกพิชิตเป็นเข้าของกรรมสิทธิ์ ๓ แปลง ชื่อพันตำรวจเอกพิชิตและโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ๑ แปลง ที่ดินทั้ง ๔ แปลงนี้ได้ขายไปแล้ว กับคงเหลือที่ดินพิพาทมีชื่อพันตำรวจเอกพิชิตและจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม เนื้อที่ ๓ งาน ๑๒ ตารางวา เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๒๕ นางนวลไฉนถึงแก่กรรม โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนางนวลไฉนตามคำสั่งศาลชั้นต้น ต่อมาวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๓๕ พันตำรวจเอกพิชิตถึงแก่กรรม จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นผู้จัดการมรดกของพันตำรวจเอกพิชิตร่วมกันตามคำสั่งของศาลชั้นต้น ก่อนที่พันตำรวจเอกพิชิตถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๒๕ พันตำรวจเอกพิชิตได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทครึ่งหนึ่งทางด้านทิศใต้เนื้อที่ ๑ งาน ๕๖ ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ ๑ และนางสาวบังอรศิริ ตามสำเนาพินัยกรรมเอกสารหมาย จ. ๕ ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงประการเดียวว่าฟ้องของโจทก์ขาดอายุความคดีมรดกตามที่จำเลยที่ ๒ ยกขึ้นต่อสู้หรือไม่ เห็นว่า ที่ดินพิพาทส่วนที่พันตำรวจเอกพิชิตทำพินัยกรรมยกให้แก่จำเลยที่ ๒ และนางสาวบังอรศิริเนื้อที่ ๑ งาน ๕๖ ตารางวา พันตำรวจเอกพิชิตได้ซื้อมาในระหว่างที่พันตำรวจเอกพิชิตและนางนวลไฉนอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา นางนวลไฉนจึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมด้วย พันตำรวจเอกพิชิตไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกที่ดินส่วนที่เป็นของนางนวลไฉนกึ่งหนึ่งเนื้อที่ ๗๘ ตารางวา ให้แก่จำเลยที่ ๒ และนางสาวบังอรศิริ ที่ดินส่วนของนางนวลไฉนดังกล่าวตกเป็นทรัพย์มรดกแก่ทายาทของนางนวลไฉนซึ่งได้แก่โจทก์และจำเลยที่ ๑ เพียง ๒ คน ส่วนพันตำรวจเอกพิชิตนั้นข้อเท็จจริงฟังได้ว่า พันตำรวจเอกพิชิตมิได้จดทะเบียนสมรสกับนางนวลไฉนโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่เป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกส่วนของนางไฉน เมื่อโจทก์ฟ้องคดีขอให้บังคับจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของพันตำรวจพิชิตโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของนางนวลไฉนให้แก่โจทก์ โดยที่ที่ดินส่วนดังกล่าวไม่ได้เป็นทรัพย์มรดกของพันตำรวจเอกพิชิต ทั้งพันตำรวจเอกพิชิตมิใช่ทายาทผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดกที่ดินของนางนวลไฉนส่วนดังกล่าวดังวินิจฉัยมาแล้ว จำเลยที่ ๒ จึงไม่ใช่ผู้สืบสิทธิของทายาทอันจะอ้างอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๕๔ มาตัดฟ้องโจทก์ อายุความตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวไม่อาจนำมาปรับใช้กับคดีนี้ จำเลยทั้งสองในฐานะผู้จัดการมรดกของพันตำรวจพิชิตตามคำสั่งศาลชั้นต้นต้องดำเนินการแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์จำนวน ๒๖ ตารางวา ตามที่โจทก์ฟ้องมา ส่วนที่โจทก์อ้างว่าเฉพาะโจทก์และจำเลยที่ ๑ เท่านั้นที่เป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกของนางนวลไฉน ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาให้ที่ดินส่วนของนางนวลไฉนตกได้แก่โจทก์และจำเลยที่ ๑ คนละครึ่งคือคนละ ๓๙ ตารางวานั้น โจทก์เพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาอันเป็นข้อที่มิได้กล่าวในฟ้องและเกินไปกว่าที่ปรากฏในฟ้อง จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๙ วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย จึงให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่โจทก์เสียเกินมาจำนวน ๕,๕๒๕ บาท ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์คดีนี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง แม้โจทก์จะฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์เท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ ๑ เป็นทายาทอยู่ในฐานะอันควรได้มรดกเช่นเดียวกับโจทก์ ศาลมีอำนาจแบ่งมรดกรายนี้ให้แก่จำเลยที่ ๑ ด้วย เนื่องจากจำเลยที่ ๑ เป็นคู่ความในคดีตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๔๙ วรรคสอง อยู่แล้ว โดยไม่จำต้องร้องสอดเข้ามาขอส่วนแบ่งในคดีแต่อย่างใด
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองดำเนินการแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๐๒๑๓ (ที่ถูกคือ ๒๓๑๑๓) ตำบลจรเข้บัว อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์และจำเลยที่ ๑ ตามสำนวนคดีนี้จำนวนคนละ ๒๖ ตารางวา หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการให้ถือตามคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่เสียเกินมาจำนวน ๕,๕๒๕ บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลตามสำนวนคดีนี้ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.