แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.พ.พ. มาตรา 429 บัญญัติให้บิดามารดาต้องร่วมรับผิดในผลที่ผู้เยาว์กระทำละเมิดต่อบุคคลอื่น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น ตามคำให้การ จำเลยที่ 2 และที่ 3 หาได้ยกความข้อนี้ขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสองให้ชัดแจ้ง คงให้การเพียงว่าไม่มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวพันกับการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ใช่ความหมายอย่างเดียวกันกับการใช้ความระมัดระวังตามควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น คำให้การของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ชัดแจ้ง ย่อมไม่มีประเด็นที่จะนำสืบพิสูจน์ให้พ้นความรับผิดตามกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 145,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และ 150,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 145,000 บาท และ 150,000 บาท ตามลำดับ นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 141,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวและร่วมกันชำระเงิน 150,000 บาท แก่โจทก์ที่ 2 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 29 พฤศจิกายน 2550) จนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยกำหนดค่าทนายความรวม 5,000 บาท
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า คำให้การของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแล จึงเป็นคำให้การที่ไม่ชอบ ไม่มีประเด็นที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะนำสืบ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบิดามารดาผู้ใช้อำนาจปกครองจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ในขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 ที่บัญญัติให้บิดามารดาต้องร่วมรับผิดในผลที่ผู้เยาว์ทำละเมิดต่อบุคคลอื่น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น แต่ตามคำให้การของจำเลยที่ 2 และที่ 3 หาได้ยกความข้อนี้ขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสองให้ชัดแจ้ง คงให้การเพียงว่าไม่มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวพันกับการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ใช่ความหมายอย่างเดียวกันกับการใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น คำให้การของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ชัดแจ้ง ย่อมไม่มีประเด็นที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะนำสืบพิสูจน์ให้พ้นความรับผิดตามกฎหมาย ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำสืบว่า ก่อนเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทราบว่าจำเลยที่ 1 ไปพักอาศัยกับผู้ตาย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็พยายามติดต่อเพื่อนำตัวจำเลยที่ 1 กลับบ้านและขอร้องผู้ตายให้เลิกยุ่งเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ก็หลบหนีไปหาผู้ตายอีกจนเกิดเหตุขึ้นนั้น เป็นการนำสืบนอกเหนือจากคำให้การ ไม่อาจรับฟังได้ แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยกขึ้นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค 6 รับวินิจฉัยให้ก็เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นเป็นการไม่ชอบ ส่วนที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 แก้ฎีกาว่า โจทก์ทั้งสองมีหน้าที่ต้องนำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำละเมิดอย่างไร เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่นำสืบจึงรับฟังไม่ได้นั้น ในข้อนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบิดามารดาต้องนำสืบพิสูจน์ว่าตนไม่ต้องรับผิดเพราะเหตุใด หาใช่เป็นหน้าที่นำสืบของโจทก์ทั้งสองไม่ เมื่อโจทก์ทั้งสองนำสืบไว้แล้วว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบิดามารดาของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์ แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้กล่าวอ้างถึงความไม่ต้องรับผิดของตนมาในคำให้การ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดได้ ข้อเท็จจริงจึงต้องรับฟังว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดนั้นด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีการะหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้เป็นพับ