แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยทั้งสามร่วมรู้เห็นร่วมมือกันในการดำเนินการจัดทำบัตรชั่งน้ำหนักและบันทึกการจับกุมฉบับใหม่แทนฉบับเดิมให้น้ำหนักที่เกินอยู่จำนวนมาก เป็นเกินอยู่เพียงจำนวนน้อยเพื่อช่วยเหลือ ข. ซึ่งถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมดำเนินคดีในข้อหาความผิดฐานขับรถยนต์บรรทุกน้ำหนักเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด แล้วนำไปมอบให้ร้อยตำรวจโท ป. พนักงานสอบสวนใช้แทนบัตรชั่งน้ำหนักและบันทึกการจับกุมฉบับเดิมโดยไม่ได้มีการชั่งน้ำหนักใหม่ การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการร่วมกันปลอมบันทึกการจับกุมอันเป็นเอกสารราชการ และเมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้นำบันทึกการจับกุมฉบับดังกล่าวไปมอบแก่ร้อยตำรวจโท ป. เพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงน้ำหนักที่ลงไว้เดิมในบันทึกประจำวันในครั้งแรก จำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมนั้นด้วย
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยเรียกจำเลยในสำนวนแรกว่าจำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90, 91, 157, 264, 265, 268
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265 ประกอบมาตรา 83, มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265, 83 และจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำเลยที่ 2 ที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 จำเลยทั้งสามเป็นผู้ใช้และปลอมเอกสารราชการ ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารราชการปลอมตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265 แต่กระทงเดียวตามมาตรา 268 วรรคสองการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 157 ลงโทษจำเลยที่ 2 ที่ 3 ตามมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1มีกำหนด 3 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 3 มีกำหนดคนละ 2 ปี
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอมสำหรับจำเลยที่ 1 กับลดโทษให้จำเลยที่ 1 หนึ่งในสาม และลดโทษให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 คนละหนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 ที่ 3 มีกำหนดคนละ 1 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2532เวลาประมาณ 15 นาฬิกา ร้อยตำรวจเอกชูชาติ ต่ายดำรงค์ จ่าสิบตำรวจสำรอง ทองขาวและจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจทางหลวงกับนายประกิจ ศรีชู และจำเลยที่ 2ที่ 3 กับพวกซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เขตการทางสงขลาร่วมกันตรวจชั่งน้ำหนักรถยนต์บรรทุกถั่วที่มีนายไข่ดำ สมบูรณ์ เป็นผู้ขับ ได้น้ำหนัก 28,500 กิโลกรัม เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดไป 7,500 กิโลกรัม จำเลยที่ 3 เป็นผู้ทำบัตรชั่งน้ำหนัก ร้อยตำรวจเอกชูชาติ จ่าสิบตำรวจสำรอง และจำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันจับกุมนายไข่ดำและทำบันทึกการจับกุมนายไข่ดำโดยจ่าสิบตำรวจสำรองเป็นผู้เขียนและลงชื่อเป็นพยาน ร้อยตำรวจเอกชูชาติลงชื่อเป็นผู้จับกุม จำเลยที่ 1 และนายประกิจลงชื่อเป็นพยานและผู้จับกุมแล้วนำตัวนายไข่ดำพร้อมรถบรรทุกของกลาง บัตรชั่งน้ำหนัก และบันทึกการจับกุมดังกล่าวไปมอบให้ร้อยตำรวจโทประยุทธ สีมาธรรม พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอรัตภูมิเพื่อดำเนินคดี ต่อมาวันที่ 23 เมษายน 2532 จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันชั่งน้ำหนักรถบรรทุกของนายไข่ดำใหม่ แล้วมีผู้นำบัตรชั่งน้ำหนักฉบับใหม่ที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันทำและมีจำเลยที่ 3 ลงชื่อเป็นผู้ชั่งตามเอกสารหมาย จ.10 และบันทึกการจับกุมฉบับใหม่ที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้เขียนตามเอกสารหมาย จ.9 ไปมอบให้ร้อยตำรวจโทประยุทธแทนบัตรชั่งน้ำหนักและบันทึกการจับกุมฉบับเดิมโดยอ้างว่าการชั่งน้ำหนักรถบรรทุกของนายไข่ดำครั้งแรกไม่ถูกต้องและมีการชั่งใหม่แล้ว ปรากฏว่าน้ำหนักเกินเพียง 1,500 กิโลกรัม เท่านั้นร้อยตำรวจโทประยุทธจึงทำสำนวนการสอบสวนส่งพนักงานอัยการประจำศาลแขวงสงขลาฟ้องนายไข่ดำต่อศาลแขวงสงขลาในวันที่ 24 เมษายน 2532 ว่าขับรถยนต์บรรทุกน้ำหนักเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด 1,500 กิโลกรัม ศาลแขวงสงขลาพิจารณาแล้วพิพากษาลงโทษนายไข่ดำจำคุก 1 เดือน และปรับ 1,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ ส่วนคำขอริบรถบรรทุกของกลางเห็นว่า บรรทุกน้ำหนักเกินเพียงเล็กน้อยยังไม่สมควรริบ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยในประการแรกตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ปลอมลายมือชื่อของร้อยตำรวจเอกชูชาติในช่องผู้จับกุมและลายมือชื่อของจ่าสิบตำรวจสำรองในช่องพยาน ผู้บันทึกและอ่านในบันทึกการจับกุม ตามสำเนาเอกสารหมาย จ.9 หรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องเชื่อมโยงประกอบด้วยเหตุผลและมีพยานเอกสารสนับสนุน โดยเฉพาะพันตำรวจโทปรีชาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดและเป็นผู้บังคับบัญชาระดับสูงของจำเลยที่ 1 ไม่มีเหตุอันน่าระแวงว่าจะปรักปรำให้ร้ายแก่จำเลยที่ 1 นอกจากนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ถูกตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัยจำเลยที่ 1 ก็ได้ให้การรับต่อคณะกรรมการสอบสวนว่า เมื่อทำบันทึกการจับกุมใหม่แล้ว จำเลยที่ 1ติดต่อร้อยตำรวจเอกชูชาติและจ่าสิบตำรวจสำรองไม่ได้ แต่คดีจะครบกำหนดส่งฟ้องศาลในวันรุ่งขึ้น จึงถือวิสาสะเซ็นชื่อของร้อยตำรวจเอกชูชาติและของจ่าสิบตำรวจเอกสำรองลงไปตามเอกสารหมาย จ.1 อันเป็นเหตุผลที่สนับสนุนพยานหลักฐานโจทก์ให้มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ลงชื่อของร้อยตำรวจเอกชูชาติและของจ่าสิบตำรวจสำรองลงในบันทึกการจับกุมตามสำเนาเอกสารหมาย จ.9 จริง โดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าของลายมือชื่อแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ปลอมลายมือชื่อของร้อยตำรวจเอกชูชาติและจ่าสิบตำรวจสำรองในบันทึกการจับกุมตามสำเนาเอกสารหมาย จ.9 จริงตามฟ้อง
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้กระทำความผิดดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยมาหรือไม่ เห็นว่า ตามพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสามที่อ้างว่าร่วมกันชั่งน้ำหนักรถบรรทุกของนายไข่ดำแล้วจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ร่วมกันทำหลักฐานมีการชั่งน้ำหนักขึ้นใหม่ และจำเลยที่ 1 ทำบันทึกการจับกุมขึ้นใหม่เพราะได้รับการร้องเรียนจากนายไข่ดำว่าการชั่งน้ำหนักในครั้งแรกไม่ถูกต้องขอให้ชั่งใหม่ โดยร้อยตำรวจเอกชูชาติยินยอมและนายประกิจ ศรีชู ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยินยอมแล้วแต่ร้อยตำรวจเอกชูชาติเบิกความว่า นายไข่ดำไม่เคยร้องเรียนต่อพยานว่าการชั่งน้ำหนักไม่ถูกต้องและนายประกิจเบิกความตอบโจทก์และตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่าพยานไม่ทราบว่ามีการชั่งน้ำหนักใหม่หรือไม่ และไม่เคยทราบว่ามีการร้องเรียนให้ชั่งน้ำหนักใหม่แต่อย่างใด อีกทั้งร้อยตำรวจโทประยุทธก็เบิกความปฏิเสธว่ามิได้มีการชั่งน้ำหนักใหม่ต่อหน้าตนดังที่จำเลยทั้งสามอ้างเลย เมื่อทำหลักฐานใหม่กันขึ้นแล้วจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็นำบัตรชั่งน้ำหนักและบันทึกการจับกุมที่ทำขึ้นใหม่ไปมอบแก่ร้อยตำรวจโทประยุทธ ซึ่งร้อยตำรวจโทประยุทธก็ได้มีการดำเนินการแก้ไขบันทึกประจำวันเกี่ยวกับน้ำหนักบรรทุกที่ได้ชั่งใหม่นั้น ซึ่งทั้งหลักฐานบัตรชั่งน้ำหนักและบันทึกการจับกุมที่ทำขึ้นใหม่ตามสำเนาเอกสารหมาย จ.9 และ จ.10 จำเลยทั้งสามต่างลงวันที่ย้อนหลังว่ามีการชั่งในวันจับกุม อันส่อแสดงว่าจำเลยทั้งสามร่วมรู้เห็นร่วมมือกันในการดำเนินการจัดทำบัตรชั่งน้ำหนักและบันทึกการจับกุมฉบับใหม่แทนฉบับเดิมให้น้ำหนักที่เกินอยู่จำนวนมากเป็นเกินอยู่เพียงจำนวนน้อยเพื่อช่วยเหลือนายไข่ดำแล้วนำไปมอบให้ร้อยตำรวจโทประยุทธใช้แทนบัตรชั่งน้ำหนักและบันทึกการจับกุมฉบับเดิมโดยไม่ได้มีการชั่งน้ำหนักใหม่ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันปลอมบันทึกการจับกุมอันเป็นเอกสารราชการจริง และเมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้นำบันทึกการจับกุมฉบับดังกล่าวไปมอบแก่ร้อยตำรวจโทประยุทธเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงน้ำหนักที่ลงไว้เดิมในบันทึกประจำวันในครั้งแรก จำเลยที่ 2 และที่ 3 ย่อมมีความผิดฐานใช้เอกสารปลอมนั้นด้วยดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยมา
พิพากษายืน