คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1375/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตาม ประกาศกระทรวงมหาดไทยออกโดย อาศัยอำนาจตาม ความในมาตรา 6แห่ง พ.ร.ฎ. แบ่งส่วนราชการกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2508ข้อ 8 กำหนดให้กองปราบปรามมีเขตอำนาจรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ตาม ป.วิ.อ. และตาม บทกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับความผิดอาญาทั้งหลายทั่วราชอาณาจักร และตาม ระเบียบกรมตำรวจว่าด้วยกำหนดหน้าที่การงานในราชการกรมตำรวจ (ฉบับที่ 24) ลงวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2519ข้อ 15(ก)7 กำหนดให้กองกำกับการ 7 ซึ่ง เป็นหน่วยงานสังกัดกองปราบปรามมีอำนาจหน้าที่สืบสวนคดีอาญาต่าง ๆ ตาม กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ฯลฯ ทั่วราชอาณาจักร ดังนั้น การสอบสวนคดีความผิดตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษฯ ซึ่ง มิได้ทำการสอบสวนโดย พนักงานสอบสวนท้องที่ที่ความผิดได้ เกิดขึ้น แต่ เป็นการสอบสวนโดย เจ้าพนักงานตำรวจแผนก 3 กองกำกับการ 7 กองปราบปราม จึงถือ ว่าเป็นการสอบสวนโดยเจ้าพนักงานซึ่ง กฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวน และเป็นการสอบสวนที่ ชอบด้วย กฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2(6)120พนักงานอัยการจึงยื่นฟ้องคดีต่อ ศาลอาญา ซึ่ง มี อำนาจรับพิจารณาพิพากษาคดีที่เกิดขึ้นนอกเขตอำนาจได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 100, 102ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ให้การรับสารภาพ
จำเลยที่ 4 ที่ 5 ให้การรับสารภาพ แต่ภายหลังขอถอนคำให้การเดิมเป็นให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 6 ที่ 7 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่6 มีความผิดฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและฐานจำหน่ายเฮโรอีนตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66วรรคสอง ทั้งสองฐานซึ่งมีโทษเท่ากัน ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83ให้ลงโทษประหารชีวิตในข้อหาฐานจำหน่ายเฮโรอีน จำเลยที่ 4แม้ขณะกระทำผิดเป็นข้าราชการ ซึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 100 ให้ระวางโทษเป็นสามเท่า แต่เมื่อต้องโทษประหารชีวิตแล้วจึงไม่ต้องเพิ่มระวางโทษอีก คำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 ประกอบกับมาตรา 52(2) ที่แก้ไขแล้ว คงให้จำคุกตลอดชีวิตสำหรับจำเลยที่ 7 ให้ยกฟ้อง
โจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 อุทธรณ์ ส่วนจำเลยที่ 2 อุทธรณ์แต่ขอถอนอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนสำหรับจำเลยที่ 2 มายังศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 245
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 7 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 66 วรรคสองประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเฮโรอีน เป็นความผิดกรรมเดียว ซึ่งมีโทษเท่ากันให้ลงโทษฐานจำหน่ายเฮโรอีน ให้ประหารชีวิตจำเลยที่ 7 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยทั้ง 4 ฎีกาค้านว่า การสอบสวนคดีนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมิได้ทำการสอบสวนโดยพนักงานสอบสวนท้องที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งความผิดได้เกิดขึ้นแต่เป็นการสอบสวนโดยเจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามนั้น เห็นว่าตามประกาศกระทรวงมหาดไทยออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6แห่งพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทยพ.ศ. 2508 ข้อ 8 กำหนดให้กองปราบปรามมีเขตอำนาจรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และตามบทกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับความผิดคดีอาญาทั้งหลายทั่วราชอาณาจักรและตามระเบียบกรมตำรวจว่าด้วยกำหนดหน้าที่การงานในราชการกรมตำรวจ(ฉบับที่ 24) ลงวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2519 ข้อ 15(ก) 7 กำหนดให้กองกำกับการ 7 ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดกองปราบปรามมีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดีอาญาต่าง ๆ ตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ฯลฯทั่วราชอาณาจักร ดังนั้นการสอบสวนคดีนี้ซึ่งดำเนินการโดยร้อยตำรวจโทสมจิตต์ วิชัย เจ้าพนักงานแผนก 3 กองกำกับการ 7กองปราบปราม จึงถือว่าเป็นการสอบสวนโดยเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายให้มีอำนาจและหน้าที่ทำการสอบสวน และเป็นการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(6), 120พนักงานอัยการจึงยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญา ซึ่งมีอำนาจรับพิจารณาพิพากษาคดีที่เกิดขึ้นนอกเขตอำนาจได้…”
พิพากษายืน.

Share