คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1373/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การร้องขอต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งเพิกถอนการเลือกตั้งและให้มีการเลือกตั้งใหม่จะต้องปรากฏว่าเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง กรรมการตรวจคะแนนหรือเจ้าหน้าที่คะแนนคนใดคนหนึ่งหรือทั้งหมดกระทำการอันฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 มาตรา 51,52เมื่อคำร้องกล่าวอ้างเหตุคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่เพียงว่า มีการรายงานผลล่าช้าน่าเชื่อว่ามีการถ่วงเวลาและมีการทุจริตในการเลือกตั้งเท่านั้น มิได้บรรยายถึงรายละเอียดว่า ได้มีการกระทำการฝ่าฝืน ข้อห้ามของกฎหมายดังกล่าวในหน่วยเลือกตั้งใด เจ้าพนักงาน ผู้ดำเนินการเลือกตั้ง กรรมการตรวจคะแนน เจ้าหน้าที่คะแนน หรือเจ้าหน้าที่อื่น ๆ คนใดกระทำการดังกล่าวนี้และมิได้มีข้อเท็จจริงว่ามีการทุจริตหรือกระทำมิชอบ ด้วยกฎหมาย ประการใด จึงเป็นคำร้องที่ไม่ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้นจึงเป็นคำร้องที่เคลือบคลุมไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2535 ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้ร้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 12 กรุงเทพมหานคร ในนามพรรคประชากรไทยได้หมายเลขประจำตัวผู้สมัครหมายเลข 4 พลตรีสมบัติ รอดโพธิ์ทองลงสมัครในเขตเดียวกันในนามพรรคพลังธรรม ได้หมายเลขประจำตัวผู้สมัครหมายเลข 2 เมื่อมีการนับคะแนนภายหลังปิดหีบเลือกตั้งสถานีโทรทัศน์ได้ถ่ายทอดผลการนับคะแนนโดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ปรากฏว่าในเขตเลือกตั้งอื่น 11 เขต แจ้งผลการนับคะแนนไม่เกินเวลา 20 นาฬิกา แต่ในเขตเลือกตั้งที่ 12 ปรากฏว่าคะแนนที่ส่งมาขาดอยู่ 15 หน่วย และมีประกาศทางโทรทัศน์ว่าผู้ร้องได้รับการเลือกตั้งโดยมีคะแนนเป็นอันดับที่ 3 ต่อมาเมื่อเช้าวันที่ 14 กันยายน 2535 ปลัดกรุงเทพมหานครได้ประกาศผลการเลือกตั้ง ปรากฏว่าพลตรีสมบัติ รอดโพธิ์ทอง ได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นคนที่ 3 ส่วนผู้ร้องได้คะแนนเป็นลำดับที่ 4 ไม่ได้รับเลือกตั้ง ทั้งนี้ เพราะการเลือกตั้งในเขตดังกล่าวมีเหตุน่าเชื่อว่าเป็นไปโดยไม่ชอบและฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2535 เนื่องจากพลตรีสมบัติ รอดโพธิ์ทอง เดิมเป็นรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแต่ได้ลาออกมาสมัครรับเลือกตั้งเป็นเหตุน่าเชื่อว่ามีการถ่วงเวลาในการส่งคะแนนให้ล่าช้าจำนวน 15 หน่วย เพื่อช่วยเหลือพลตรีสมบัติ รอดโพธิ์ทอง ให้ได้รับการเลือกตั้ง เพราะในเขตเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร มีเครื่องมืออำนวยความสะดวกครบถ้วนสถานีโทรทัศน์หลายช่อง และหนังสือพิมพ์มติชนได้รายงานข่าวว่าผู้ร้องเป็นผู้ได้รับการเลือกตั้ง การที่รายงานล่าช้าน่าเชื่อว่ามีการทุจริตในการเลือกตั้งทำให้พลตรีสมบัติ รอดโพธิ์ทองได้รับการเลือกตั้ง ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าการเลือกตั้งดังกล่าวพลตรีสมบัติ รอดโพธิ์ทอง ได้รับการเลือกตั้งโดยมิชอบให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งที่ 12 เพียงคนเดียว
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านสรุปได้ว่า คำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุมเพราะไม่ได้บรรยายให้ชัดเจนว่า เจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งกรรมการตรวจคะแนน เจ้าหน้าที่คะแนนผู้ใดและของหน่วยเลือกตั้งใดปฏิบัติหน้าที่อย่างไรที่ถือว่าไม่ชอบและฝ่าฝืนต่อกฎหมายจึงเป็นคำร้องที่ไม่แสดงให้แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองอย่างไรก็ดี ผู้คัดค้านในฐานะผู้อำนวยการเลือกตั้งในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนทุกประการ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว ทำความเห็นส่งสำนวนมายังศาลฎีกาว่า คำร้องของผู้ร้องเคลือบคลุมและผู้ร้องไม่สามารถนำสืบข้อเท็จจริงได้ว่ามีการดำเนินการเลือกตั้งโดยมิชอบ เห็นสมควรให้ยกคำร้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 มาตรา 51 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้เจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งกรรมการตรวจคะแนนหรือเจ้าหน้าที่คะแนนผู้ใดจงใจนับบัตรเลือกตั้งหรือคะแนนในการเลือกตั้งให้ผิดไปจากความจริง หรือรวมคะแนนให้ผิดไป หรือกระทำด้วยประการใดโดยมิได้มีอำนาจกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายให้บัตรเลือกตั้งชำรุดหรือเสียหายหรือให้เป็นบัตรเสีย หรือกระทำด้วยประการใดแก่บัตรเสียเพื่อให้เป็นบัตรที่ใช้ได้ หรืออ่านบัตรเลือกตั้งให้ผิดไปจากความจริง หรือทำรายงานการเลือกตั้งไม่ตรงความจริง” และมาตรา 52 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้เจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง กรรมการตรวจคะแนนหรือเจ้าหน้าที่คะแนนผู้ใดจงใจไม่ปฏิบัติการตามหน้าที่ หรือกระทำการอันใดเพื่อขัดขวางมิให้การเป็นไปตามกฎหมาย กฎกระทรวงหรือคำสั่งของศาลอันเกี่ยวกับการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัตินี้” จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการร้องขอต่อศาลเพื่อให้มีคำสั่งเพิกถอนการเลือกตั้งและให้มีการเลือกตั้งใหม่จะต้องปรากฏว่าเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง กรรมการตรวจคะแนนหรือเจ้าหน้าที่คะแนนคนใดคนหนึ่งหรือทั้งหมดกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวแต่ตามคำร้องของผู้ร้องคงกล่าวอ้างเหตุคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่เพียงว่า มีการรายงานผลล่าช้า น่าเชื่อว่ามีการถ่วงเวลาและมีการทุจริตในการเลือกตั้งเท่านั้น ซึ่งพอถือได้ว่าเป็นกรณีที่เจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้งจงใจไม่ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือกระทำการอันใดเพื่อขัดขวางมิให้การเป็นไปตามกฎหมายอันเกี่ยวกับการเลือกตั้งตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งผู้ร้องจะต้องบรรยายคำร้องถึงรายละเอียดแห่งการกล่าวอ้างดังกล่าว กล่าวคือ ได้มีการกระทำการฝ่าฝืนข้อห้ามของกฎหมายดังกล่าวในหน่วยเลือกตั้ง เจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง กรรมการตรวจคะแนน เจ้าหน้าที่คะแนนหรือเจ้าหน้าที่อื่น ๆ คนใด กระทำการดังกล่าวนี้ ทั้งนี้เนื่องจากในการดำเนินกระบวนพิจารณาคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร นั้น มาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม ดังนั้น คำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงต้องตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ด้วย เมื่อคำร้องของผู้ร้องไม่ได้บรรยายถึงรายละเอียดแห่งการกระทำดังได้วินิจฉัยมาแล้ว ทั้งผู้ร้องมิได้ยืนยันข้อเท็จจริงให้ปรากฏในคำร้องว่ามีการทุจริตหรือกระทำมิชอบด้วยกฎหมายประการใดคำร้องของผู้ร้องจึงเป็นคำร้องที่ไม่ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้นจึงเป็นคำร้องที่เคลือบคลุม ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง โดยไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงอื่นใดต่อไป
มีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง

Share