คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 649/2513

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อสัญญาว่า ผู้รับผูกขาดจะต้องชำระเงินค่าผูกขาดล่วงหน้าในปีแรกภายใน 15 วัน นับแต่วันสร้างท่าเทียบเรือเสร็จ ส่วนในปีต่อไปจะต้องชำระค่าผูกขาดภายในเดือนตุลาคมของทุก ๆ ปี ดังนี้ หมายความว่าค่าผูกขาดสำหรับปีที่ 2 และปีต่อ ๆ ไปจะต้องชำระล่วงหน้าด้วย
โจทก์ให้จำเลยผูกขาดจัดการท่าเทียบเรือ 10 ปี คิดค่าผูกขาดเป็นรายปีจำเลยผิดสัญญาไม่ชำระค่าผูกขาดปีที่ 2 โจทก์บอกเลิกสัญญาก่อนสิ้นระยะเวลาปีที่ 2 ดังนี้ จำเลยต้องใช้เงินตามควรค่าแห่งการที่ได้ใช้ท่าเทียบเรือของโจทก์นับแต่เริ่มปีที่ 2 จนถึงวันเลิกสัญญาส่วนระยะเวลาต่อจากนั้น ถ้าจำเลยยังไม่ออกไปจากท่าเทียบเรือของโจทก์โจทก์พึงได้รับค่าเสียหาย
(ข้อแรกวินิจฉัยโดยประชุมใหญ่ครั้งที่ 18/2512)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2504 จำเลยทำสัญญาเช่าผูกขาดจัดการท่าเทียบเรือท่าช้างวังหลวง มีกำหนด 10 ปี โดยมีข้อสัญญาว่าจำเลยจะต้องสร้างสะพานโป๊ะและดัดแปลงต่อเติมอาคารท่าเทียบเรือ แล้วจดทะเบียนยกกรรมสิทธิ์ให้โจทก์ และเสียค่าผูกขาดให้โจทก์ปีละ 70,000 บาท โดยปีแรกต้องชำระเงินค่าผูกขาดล่วงหน้าภายใน 15 วันนับแต่วันสร้างเสร็จส่วนปีต่อไปต้องชำระค่าผูกขาดภายในเดือนตุลาคมของทุก ๆ ปีจนกว่าจะครบอายุสัญญา ถ้าผิดนัดยอมให้โจทก์เลิกสัญญาได้ทันที และถ้าผิดสัญญาข้อใด ยอมให้โจทก์ริบเงิน 15,000 บาทที่จำเลยวางประกันไว้เป็นค่าเสียหายเบื้องต้นได้ และยอมให้ปรับอีกวันละ 100 บาทนับแต่วันผิดสัญญาด้วย ต่อมาจำเลยชำระค่าผูกขาดให้โจทก์เพียงงวดเดียวไม่เคยชำระตามกำหนดที่ระบุไว้ในสัญญาอีกเลย โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยชำระค่าผูกขาดที่ค้าง 70,000 บาทภายใน 7 วัน จำเลยได้รับหนังสือเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2507 แต่ก็ไม่ชำระ จึงผิดนัดตั้งแต่ 29 พฤศจิกายน 2507 เป็นต้นมา โจทก์จึงริบเงินประกัน 15,000 บาท เป็นการหักหนี้ค่าผูกขาดบางส่วนและบอกเลิกสัญญา ให้จำเลยขนย้ายออกไป และให้นำเงินค่าผูกขาดที่ค้างอยู่ 55,000 บาท กับค่าปรับมาชำระใน 7 วัน จำเลยไม่ปฏิบัติตามยังคงครอบครองที่พิพาทอยู่จนถึงวันฟ้องรวม 380 วัน ขอให้บังคับให้จำเลยกับบริวารขนย้ายออกจากที่พิพาทแล้วส่งมอบให้โจทก์ให้ชำระค่าผูกขาดที่ค้าง 55,000 บาทและค่าปรับ 38,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง กับใช้ค่าปรับอีกวันละ 100 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะออก และส่งมอบที่พิพาท

จำเลยให้การว่า ได้ทำสัญญาเช่าผูกขาดท่าเทียบเรือมีกำหนด 10 ปีตั้งแต่ 16 ตุลาคม 2504 จริง ตามสัญญาจำเลยต้องชำระค่าเช่าปีละ 70,000 บาท โดยชำระภายในเดือนตุลาคมของทุก ๆ ปี จำเลยไม่เคยผิดนัดจนกระทั่งการเรียกเก็บเงินในระหว่างปี 2507-2508 โจทก์กลับหาเหตุโดยขอให้จำเลยชำระเงินงวดวันที่ 19 สิงหาคม 2507 ถึง 18 สิงหาคม 2508 เป็นเงิน 70,000 บาท ซึ่งโจทก์ไม่อาจใช้สิทธินี้ได้ เพราะจำเลยมีสิทธิชำระได้จนถึงวันสุดท้ายของตุลาคม 2508 จำเลยมิได้ผิดสัญญา โจทก์ไม่มีสิทธิริบเงินประกัน ไม่มีสิทธิปรับและขับไล่จำเลย ขอให้ยกฟ้อง

วันชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นกะประเด็นข้อเดียวว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดนัดไม่ชำระเงินค่าผูกขาดให้โจทก์จริงหรือไม่ โจทก์จำเลยรับว่าถูกต้อง

ต่อมาคู่ความรับกันว่า

1. โจทก์จำเลยทำสัญญากันตามสำเนาท้ายฟ้องจริง

2. โจทก์ได้ผ่อนผันให้จำเลยชำระค่าผูกขาดท่าเทียบเรือ เมื่อเริ่มอายุสัญญาปีแรกเป็นวันที่ 19 สิงหาคม 2506 ถึง 18 สิงหาคม 2507 เป็นเงิน 70,000 บาทตามข้อสัญญา และจำเลยได้ชำระค่าผูกขาดปีแรกให้โจทก์แล้วตั้งแต่ 19 สิงหาคม 2506

3. ต่อมาโจทก์ได้มีหนังสือลงวันที่ 16 พฤศจิกายน 2507 ทวงถามค่าผูกขาดงวดระหว่างวันที่ 19 สิงหาคม 2507 ถึง 18 สิงหาคม 2508 จำเลยได้รับหนังสือแล้ว

4. โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 11 มกราคม 2508 บอกเลิกสัญญาและริบเงินประกัน จำเลยได้รับหนังสือแล้ว โจทก์จำเลยโต้เถียงกันว่าตามสัญญาโจทก์ถือว่าจำเลยจะต้องชำระค่าผูกขาดงวดวันที่ 19 สิงหาคม 2507 ถึง 18 สิงหาคม 2508 ภายในเดือนตุลาคม 2507 จำเลยว่าต้องชำระภายในเดือนตุลาคม 2508 เรื่องเบี้ยปรับวันละ 100 บาท โจทก์ไม่สืบพยาน และจำเลยรับว่าค่าผูกขาดงวดวันที่ 19 สิงหาคม 2507 ถึง 18 สิงหาคม 2508 จำเลยยังไม่ได้ชำระ

ศาลชั้นต้นให้งดสืบพยานทั้งสองฝ่าย และพิพากษาให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สิ่งของออกจากที่พิพาทแล้วส่งมอบให้โจทก์ให้ชำระค่าผูกขาดที่ค้าง 55,000 บาท และค่าปรับตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2508 ถึงวันฟ้อง 11,900 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยตามขอ กับให้ใช้ค่าปรับอีกวันละ100 บาท ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะออกและส่งมอบที่พิพาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า การตีความสัญญาข้อ 1 เป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องวินิจฉัยความในข้อ 1 นี้มีว่า “ผู้ให้ผูกขาดตกลงให้และผู้รับผูกขาดตกลงยอมรับผูกขาดจัดการท่าเทียบเรือท่าช้างวังหลวงฯ มีกำหนดสิบปีนับแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2504 ถึง 15 ตุลาคม 2514 คิดค่าผูกขาดปีละ 70,000 บาท โดยผู้รับผูกขาดจะต้องชำระเงินค่าผูกขาดล่วงหน้าในปีแรกเงิน 70,000 บาทภายใน 15 วัน นับแต่วันสร้างเสร็จส่วนในปีต่อไปผู้รับผูกขาดจะต้องชำระค่าผูกขาดภายในเดือนตุลาคมของทุก ๆ ปี” มีปัญหาว่า ในปีต่อไปคือปีที่ 2 และต่อ ๆ ไปนั้น จำเลยจะต้องชำระค่าผูกขาดล่วงหน้าเช่นเดียวกับค่าผูกขาดปีแรกด้วยหรือไม่ ได้พิจารณาโดยที่ประชุมใหญ่แล้วมีมติว่าจำเลยจะต้องชำระล่วงหน้าด้วยเพราะข้อความที่เกี่ยวกับค่าผูกขาดปีแรกได้ระบุไว้ครั้งหนึ่งแล้วว่าเป็นเงินค่าผูกขาดล่วงหน้า เมื่อกล่าวถึงค่าผูกขาดในปีต่อ ๆ ไป จึงไม่จำเป็นต้องกล่าวซ้ำอีก แต่ละไว้ในที่เข้าใจว่าเป็นค่าผูกขาดล่วงหน้าเช่นเดียวกับค่าผูกขาดปีแรก จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องชำระภายในเดือนตุลาคม 2507 จำเลยไม่ชำระ โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยนำเงินไปชำระ เมื่อจำเลยไม่ชำระภายในกำหนด โจทก์จึงมีสิทธิเลิกสัญญาเสียได้ดังที่ได้แจ้งให้จำเลยทราบตามหนังสือลงวันที่ 11 มกราคม 2508 เมื่อโจทก์ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้วจำเลยจึงต้องส่งมอบท่าเทียบเรือคืนโจทก์กับต้องใช้เงินตามควรค่าแห่งการที่ได้ใช้ท่าเทียบเรือของโจทก์นับแต่ 19 สิงหาคม 2507 จนถึงวันที่ 11 มกราคม 2508 ซึ่งเป็นวันเลิกสัญญา ค่าผูกขาดตลอดปีเป็นเงิน 70,000 บาทระยะเวลา 146 วัน จึงควรได้ 28,000 บาท ส่วนระยะเวลานับแต่เลิกสัญญาแล้วและจำเลยยังไม่ออกไปจากท่าเทียบเรือนั้น โจทก์มิได้เรียกร้องค่าเสียหายเป็นอย่างอื่น จึงควรได้รับค่าเสียหายวันละ 100 บาท เท่ากับเบี้ยปรับที่ตกลงกันไว้ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้จำเลยชำระค่าผูกขาดทั้งปีแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่เบี้ยปรับวันละ 100 บาทที่ศาลล่างให้ชำระตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2508 เป็นต้นไปนั้น โจทก์มิได้ฎีกาคัดค้านคงให้เป็นไปตามนั้น

พิพากษาแก้เฉพาะค่าผูกขาดที่ค้างเป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าผูกขาด146 วันเป็นเงิน 28,000 บาท เมื่อหักกับเงิน 15,000 บาท ที่โจทก์ริบไว้แล้ว คงให้จำเลยชำระค่าผูกขาดอีก 13,000 บาท

Share