คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1372/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ. ยกเว้นความผิดทางอาญาให้แก่ผู้นำอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือที่กฎหมายห้ามออกใบอนุญาต มามอบให้แก่ทางราชการ พ.ศ. 2546 มาตรา 3 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า ผู้ใดมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนที่ไม่ได้รับอนุญาต ถ้าได้นำอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนดังกล่าวมามอบให้แก่นายทะเบียนท้องที่ภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ ให้ผู้นั้นได้รับยกเว้นจากความผิดทางอาญาตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน ฯ แม้ขณะถูกจับกุมไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยจะนำอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางไปมอบให้แก่นายทะเบียนท้องที่ก็ตาม แต่ขณะที่จำเลยถูกจับกุมและตกเป็นผู้ต้องหายังอยู่ในระยะเวลาที่จำเลยจะนำอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางมามอบให้แก่นายทะเบียนท้องที่ได้ จำเลยย่อมได้รับยกเว้นความผิดฐานมีอาวุธปืนตามพระราชบัญญัติดังกล่าว
ซองพกอาวุธปืนของกลางเป็นทรัพย์ที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานพาอาวุธปืน จึงเป็นทรัพย์ที่สมควรริบตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ป.อ. มาตรา 32, 33, 91, 371 ริบอาวุธปืนและซองพกอาวุธปืนของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ป.อ. มาตรา 371 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 จำเลยมีอายุ 18 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 76 ฐานมีอาวุธปืน จำคุก 8 เดือน ฐานพาอาวุธปืน เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 จำคุก 4 เดือน รวมจำคุก 12 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง อาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางผู้ใดมีไว้เป็นความผิด จึงให้ริบเสีย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า สำหรับข้อหามีอาวุธปืน ขณะเกิดเหตุคดีนี้ ได้มี พ.ร.บ. ยกเว้นความผิดทางอาญาให้แก่ผู้นำอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือที่กฎหมายห้ามออกใบอนุญาต มามอบให้แก่ทางราชการ พ.ศ. 2546 ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2546 โดยมาตรา 3 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า “ผู้ใดมีอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือ ที่กฎหมายห้ามออกใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน ถ้าได้นำอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิดดังกล่าวมามอบให้แก่นายทะเบียนท้องที่ภายในกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ผู้นั้นได้รับยกเว้นจากความผิดทางอาญาตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน และกฎหมายว่าด้วยการควบคุมยุทธภัณฑ์” แม้ขณะถูกจับกุมไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยจะนำอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางไปมอบให้แก่นายทะเบียนท้องที่ตามที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่จำเลยถูกจับและตกเป็นผู้ต้องหานั้นยังอยู่ในระยะเวลาที่จำเลยจะนำอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางไปมอบให้แก่นายทะเบียนท้องที่ได้ จำเลยย่อมได้รับยกเว้นความผิดเฉพาะความผิดฐานมีอาวุธปืนตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ส่วนข้อหาพาอาวุธปืนนั้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ย่อมถือว่าจำเลยพาอาวุธปืนของกลางติดตัวไปโดยไม่ได้รับใบอนุญาต โดยไม่มีเหตุสมควร และไม่เป็นกรณีที่ต้องมีติดตัวเมื่อมีเหตุจำเป็นและเร่งด่วนตามสมควรแก่พฤติการณ์ตามที่โจทก์ฟ้อง เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยจะนำอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางไปมอบให้แก่นายทะเบียนท้องที่ จำเลยจึงมีความผิดฐานพาอาวุธปืนซึ่งเป็นความผิดทั้งตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน ฯ มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง และ ป.อ. มาตรา 371 ตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานพาอาวุธปืนด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน ขณะกระทำความผิดจำเลยเป็นนักศึกษาและอายุเพียง 18 ปี นับว่ายังอยู่ในวัยรุ่น น่าเชื่อว่ากระทำความผิดไปเพราะคึกคนอง ขาดวุฒิภาวะและความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยจะใช้อาวุธปืนของกลาง ก่ออาชญากรรมใด นอกจากนี้ หลังเกิดเหตุจำเลยได้ศึกษาเล่าเรียนจนสำเร็จการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ และได้ทำงานรับจ้างเป็นการฝึกงานเกี่ยวกับช่างไฟฟ้า น่าเชื่อว่าจำเลยมีความประพฤติเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น อีกทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ยังอยู่ในวิสัยที่พนักงานคุมประพฤติจะแก้ไขฟื้นฟูให้จำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีได้ การรอการลงโทษจำคุกและคุมความประพฤติจำเลยไว้น่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมโดยส่วนรวมมากกว่า แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำและเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงตนเองของจำเลย เห็นสมควรลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งและกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลยไว้ด้วย
อนึ่ง โจทก์มีคำขอให้ริบซองพกอาวุธปืนของกลางด้วย แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มิได้มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับของกลางดังกล่าว คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) เมื่อซองพกอาวุธปืนของกลางเป็นทรัพย์ที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานพาอาวุธปืน จึงเป็นทรัพย์ที่สมควรริบตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ป.อ. มาตรา 371 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตาม พ.ร.บ. อาวุธปืน ฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 เมื่อลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 76 แล้ว ให้จำคุก 4 เดือน และปรับ 4,000 บาท ลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 2 เดือน และปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี และคุมความประพฤติจำเลยไว้ 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติปีละ 3 ครั้ง ตามเงื่อนไขและกำหนดระยะเวลาที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร ให้จำเลยละเว้นการประพฤติใดอันอาจนำไปสู่การกระทำความผิดทำนองนี้อีก กับให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 30 ชั่วโมง ตาม ป.อ. มาตรา 56 ริบซองพกอาวุธปืนของกลางเสียด้วย หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8.

Share