คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2991/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 1 ทั้งเป็นผู้ใช้จ้าง วาน หรือมอบหมายให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันเกิดเหตุเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างหรือที่ได้มอบหมายจากจำเลยที่ 2 ในขณะเกิดเหตุ ที่โจทก์บรรยายฟ้องมานี้มิได้ขัดแย้งกันและเป็นการยืนยันว่าเหตุเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 เนื่องจาก ป.พ.พ. มาตรา 427ได้บัญญัติไว้ให้ใช้บทบัญญัติมาตรา 425 และมาตรา 426 ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยความรับผิดของนายจ้างเพื่อผลแห่งละเมิดของลูกจ้างซึ่งกระทำไปในทางการที่จ้างบังคับแก่กรณีตัวการและตัวแทนด้วยโดยอนุโลม ดังนี้ เป็นฟ้องที่แสดงแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาตาม ป.วิ.พ.มาตรา 172 วรรคสอง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 2ค-4818 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1จ-0977 กรุงเทพมหานคร ของจำเลยที่ 2เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างหรือได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2โดยเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองควบคุมรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 1จ-0977 กรุงเทพมหานครและเป็นนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 1 อีกทั้งเป็นผู้ใช้จ้างวานหรือมอบหมายให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันนี้เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างหรือได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ในขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1จ-1977กรุงเทพมหานคร ไว้ในขณะเกิดเหตุโดยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกสำหรับความเสียหายที่รถยนต์คันนี้ได้ก่อให้เกิดขึ้นทั้งสิ้น เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2527 ในระหว่างที่โจทก์รับผิดชอบตามสัญญาประกันภัยดังกล่าวข้างต้น จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1จ-0977 กรุงเทพมหานคร ตามถนนสุขุมวิทจากทางด้านสามแยกอโศกมุ่งหน้าไปทางสามแยกเอกมัยด้วยความประมาทเลินเล่อ กล่าวคือ เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันดังกล่าวถึงบริเวณใกล้ปากซอยสุขุมวิท 31 จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ด้วยความเร็วสูงเปลี่ยนช่องทางเดินรถมาจากซ้ายมือไปทางขวามืออย่างกะทันหันโดยไม่ให้สัญญาณ ตัดหน้ารถยนต์หมายเลขทะเบียน 2ค-4818กรุงเทพมหานคร ซึ่งแล่นไปในทิศทางเดียวกันโดยแล่นอยู่ในช่องทางด้านขวามือด้วยความเร็วปกติอย่างกระชั้นชิด สุดความสามารถของนายสมิท กิตติพงษ์ถาวร ผู้ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 2ค-4818กรุงเทพมหานคร จะหยุดหรือหลบหลีกได้ทัน เป็นเหตุให้รถยนต์ทั้งสองคันชนกัน และรถยนต์หมายเลขทะเบียน 2ค-4818 กรุงเทพมหานครได้รับความเสียหายหลายรายการ ปรากฏรายละเอียดตามเอกสารหมายเลข 4ท้ายฟ้อง โจทก์ในฐานะเป็นผู้รับประกันภัยนำไปซ่อมแซมจนอยู่ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้โดยเสียค่าซ่อม 6,410 บาท จึงรับช่วงสิทธิมาเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสาม โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย นับแต่วันที่โจทก์ชำระถึงวันฟ้องเป็นเงิน 443.34 บาทรวมเป็นเงิน 6,853.34 บาท กับดอกเบี้ย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 เพราะโจทก์ทิ้งฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ 1ไม่ประมาทเหตุเกิดจากความประมาทของนายสมิท กิตติพงษ์ถาวรคนขับรถที่โจทก์รับประกันภัย จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดค่าเสียหายของโจทก์ไม่เกิน 3,000 บาท
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชำระเงิน 6,410 บาท กับดอกเบี้ย
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์บรรยายฟ้องไม่แจ้งชัดว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2ฟ้องของโจทก์จึงไม่แสดงแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาเป็นฟ้องเคลือบคลุม พิเคราะห์แล้ว โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2เป็นนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 1 ทั้งเป็นผู้ใช้ จ้าง วานหรือมอบหมายให้จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์คันเกิดเหตุเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างหรือที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 ในขณะเกิดเหตุ ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมานี้มิได้ขัดแย้งกันและเป็นการยืนยันว่าเหตุเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1ซึ่งได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 หากพิจารณาได้ความตามฟ้องจำเลยที่ 2 ย่อมจะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ไม่ว่าจำเลยที่ 2จะเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 หรือเป็นตัวการก็ตาม เนื่องจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427 ได้บัญญัติไว้ให้ใช้บทบัญญัติมาตรา 425 และ 426 ซึ่งเป็นบทบัญญัติว่าด้วยความรับผิดของนายจ้างเพื่อผลแห่งละเมิดของลูกจ้างซึ่งกระทำไปในทางการที่จ้างบังคับแก่กรณีตัวการและตัวแทนด้วยโดยอนุโลม ฟ้องของโจทก์จึงเป็นฟ้องที่แสดงแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองแล้ว…”
พิพากษายืน.

Share