คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13703/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย โดยได้มาจาก ข. ให้จำเลยในระหว่างมีชีวิต ย่อมแตกต่างจากการได้มาโดยพินัยกรรม ซึ่งเป็นการกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สิน ที่จำเลยนำสืบสำเนาพินัยกรรมจึงเป็นการนำสืบนอกคำให้การ แม้ศาลชั้นต้นรับสำเนาพินัยกรรมเข้าไว้ในสำนวนก็มิได้หมายความว่าศาลชั้นต้นรับไว้เป็นพยานหลักฐานของจำเลยแล้ว เพราะเป็นเพียงการรับไว้เพื่อจะวินิจฉัยต่อไปว่าจะรับฟังได้หรือไม่ เมื่อเป็นการนำสืบนอกคำให้การ จึงไม่อาจรับฟังสำเนาพินัยกรรมเป็นพยานหลักฐานได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่า นิติกรรมการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 3330 แปลงย่อยเลขที่ 136 ตำบลเปือยใหญ่ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น (ในกรอบเส้นสีแดง) เนื้อที่ 10 ไร่ 3 งาน 21 ตารางวา ระหว่างจำเลยทั้งสองเป็นโมฆะ ให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์ ถ้าจดทะเบียนโอนไม่ได้ให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 800,000 บาท แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการขอถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การ แก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งว่า โจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 1 ปี หรือ 10 ปี นับแต่ได้รู้หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดกหรือนับตั้งแต่การจัดการมรดกเสร็จสิ้น ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิขายให้แก่จำเลยที่ 2 ได้ จำเลยที่ 2 เป็นบุคคลภายนอกซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ 1 โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต การซื้อขายจึงชอบด้วยกฎหมาย ไม่ตกเป็นโมฆะ กรรมสิทธิ์ในที่ดินตกเป็นของจำเลยที่ 1 ขอให้บังคับให้โจทก์ออกไปจากที่ดินพิพาทและห้ามมิให้โจทก์เข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสอง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 3330 ตำบลเปือยใหญ่ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น เนื้อที่ 10 ไร่ 3 งาน 21 ตารางวา ในกรอบเส้นสีแดงในรูปแผนที่ (ใบต่อ) แนบท้ายสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข 1 ระหว่างจำเลยทั้งสอง ฉบับลงวันที่ 30 สิงหาคม 2554 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง และหากไม่สามารถดำเนินการได้ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 800,000 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า นายหวา อยู่กินฉันสามีภริยากับนางเข็ม มีบุตรร่วมกัน 7 คน คือ นางพิมพา หรือแนนเกลี้ยง นางสุดา หรือท่าจอหอ นางสุวรรณ หรือเถาหมอ นางบัวลี นางสาวบุสดี จำเลยที่ 1 และนายสมพงษ์ นางพิมพาอยู่กินฉันสามีภริยากับนายทัศน์ มีบุตรร่วมกัน 3 คน คือ นางฉวีวรรณ โจทก์ และนางวิลาไพ นางเข็ม นางพิมพา และนายทัศน์ร่วมกันทำนาเลี้ยงครอบครัว และนายทัศน์ขับรถยนต์โดยสารรับจ้างด้วย จำเลยที่ 1 นางสุดาและนางสาวบุสดีไปทำงานรับจ้างที่กรุงเทพมหานคร ต่อมามีนางสุดาเพียงผู้เดียวที่รับราชการและจำเลยที่ 1 กลับมาเยี่ยมบ้านปีละ 1 ถึง 2 ครั้ง นายหวาและนางเข็มมีทรัพย์สินเป็นที่ดินรวม 3 แปลง ในปี 2512 นางเข็มแบ่งที่ดินทั้งสามแปลงให้แก่บุตร โดยที่ดินแปลงแรกไม่มีเอกสารสิทธิเป็นที่ตั้งบ้านเลขที่ 41 หมู่ที่ 9 ตำบลเปือยใหญ่ (ปัจจุบันเป็นตำบลหนองปลาหมอ) อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น เนื้อที่ประมาณ 1 งาน ยกให้นางพิมพา นางพิมพาขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 1485 ตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ต่อมาปี 2524 นางพิมพาถึงแก่ความตาย โจทก์ได้รับโอนที่ดินแปลงดังกล่าวทางมรดก แล้วออกโฉนดเลขที่ 14674 ตามสำเนาโฉนด จากนั้นโจทก์ขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่บุคคลภายนอกแล้วนำเงินแบ่งปันให้แก่น้อง ๆ ของนางพิมพาคนละ 10,000 บาท นอกจากนางสุดาไม่ได้รับส่วนแบ่ง ที่ดินแปลงที่ 2 มีแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 43 เนื้อที่ 12 ไร่ 1 งาน 20 ตารางวา แบ่งให้แก่นางสุวรรณและนางสุดาคนละครึ่ง และที่ดินแปลงที่ 3 เป็นที่ดินแปลงใหญ่มีแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 56 เนื้อที่ 20 ไร่ 35 ตารางวา ตามสำเนาแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน ต่อมาจำเลยที่ 1 ขอออกโฉนดที่ดินแทนทายาทคนอื่น โดยออกเป็นโฉนดเลขที่ 3330 ตำบลเปือยใหญ่ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ปรากฏว่ามีเนื้อที่ 55 ไร่ 1 งาน 63 ตารางวา ตามสำเนาโฉนด นางเข็มแบ่งที่ดินออกเป็น 5 ส่วน ส่วนละประมาณ 10 ไร่ ยกให้แก่บุตร ส่วนทิศเหนือสุดให้แก่จำเลยที่ 1 ถัดลงไปให้นายสมพงษ์ นางสาวบุสดีซึ่งภายหลังได้โอนขายให้แก่นายพูลสวัสดิ์ ถัดลงไปอีกเป็นที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 10 ไร่ 3 งาน 21 ตารางวา คือส่วนบริเวณภายในกรอบเส้นสีแดงในรูปแผนที่ (ใบต่อ) ตามสำเนาโฉนดที่ดิน และถัดลงไปด้านล่างสุดให้นางรัญจวนบุตรของนางสาวบัวลี ซึ่งได้รับมรดกแทนที่นางบัวลีที่ถึงแก่ความตายไปแล้ว เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2546 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนแบ่งโอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่ทายาทโดยได้รับความยินยอมจากทายาททุกคน ต่อมาวันที่ 30 สิงหาคม 2554 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 800,000 บาท ปัจจุบันโจทก์ครอบครองทำนาในที่ดินพิพาท
คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่รับวินิจฉัยสำเนาพินัยกรรมชอบหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง บัญญัติว่า “ให้จำเลยแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่า จำเลยยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วน รวมทั้งเหตุแห่งการนั้น” เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 โดยได้รับการแบ่งให้จากนางเข็ม หมายถึงการให้ระหว่างนางเข็มมีชีวิต แตกต่างจากการให้โดยพินัยกรรมซึ่งเป็นการกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สิน การที่จำเลยที่ 1 ขอสืบสำเนาพินัยกรรม จึงเป็นการนำสืบนอกคำให้การ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่รับฟังสำเนาพินัยกรรม จึงชอบแล้ว การที่ศาลชั้นต้นรับสำเนาพินัยกรรม เข้าไว้ในสำนวนประกอบกับโจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2555 คัดค้านการนำสืบพินัยกรรมฉบับดังกล่าว นั้น มิได้หมายความว่าศาลชั้นต้นสั่งรับสำเนาพินัยกรรม ไว้เป็นพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 แล้ว เป็นเพียงการรับไว้เพื่อจะวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 1 จะอ้างเอกสารฉบับดังกล่าวได้หรือไม่ เท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำพิพากษาในประเด็นดังกล่าวมาว่า การได้มาของที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 อยู่นอกคำให้การชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่ไม่ได้มีคำสั่งเกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share