คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1370/2508

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นคนใช้ปืนยิงผู้ตาย จำเลยที่ 2,3 มีอาวุธ โดดจากเรือนไปพร้อมจำเลยที่ 1 แสดงว่าจำเลยที่ 2,3 รู้เห็น มีเจตนาร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2,3 มีอาวุธ แสดงว่าจำเลยที่ 2,3 พร้อมที่จะช่วยจำเลยที่ 1 ได้ทันที เมื่อจำเลยที่ 1 ยิงผู้ตายแล้ว ตอนหนีกลับจำเลยทั้งสามยังหนีกลับมาทางเดียวพร้อมกันอีก จึงนับว่าจำเลยที่ 2,3 ได้ร่วมกันกระทำความผิดด้วยกับจำเลยที่ 1 เป็นตัวการฆ่าผู้ตายด้วยกัน
โทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 249 กับโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 กำหนดไว้เท่ากัน การที่จะใช้กฎหมายใหม่ขึ้นบังคับปรับบทก็ไม่เป็นคุณแก่จำเลยผู้กระทำผิดแต่อย่างใด ศาลจึงต้องใช้กฎหมายลักษณะอาญาปรับบทลงโทษจำเลย
(อ้างฎีกาที่ 1630/2500,1814/2500)

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ โจทก์ฟ้องจำเลยต่างคนกัน แต่ข้อหาอย่างเดียวกัน มีใจความว่า เมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๔๙๗ จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงนายน้อย ศรีทองคูณ หนึ่งนัด โดยเจตนาฆ่า นายน้อยถึงแก่ความตาย ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๒๔๙,๖๓ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๘,๘๓
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๘,๘๓ ไว้คนละ ๑๕ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า นายอั้นจำเลยที่ ๑ ใช้ปืนยิงผู้ตาย นายแวนายใหม่จำเลยที่ ๒,๓ ไม่ได้ร่วมมือร่วมใจกับจำเลยที่ ๑ ยิงผู้ตาย พิพากษาแก้ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ ๒,๓
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสาม
จำเลยที่ ๑ ฎีกาขอให้ยกฟ้อง
ศาลฎีกาฟังว่า จำเลยที่ ๑ เป็นคนใช้ปืนยิงนายน้อยถึงแก่ความตายจริง โดยจำเลยที่ ๒,๓ มีอาวุธร่วมโดดจากเรือนไปพร้อมกับจำเลยที่ ๑ ด้วย แม้จำเลยที่ ๒,๓ จะไม่ใช่เป็นผู้ยิงหรือใช้อาวุธทำร้ายผู้ตาย แต่การที่จำเลยทั้งสามโดดลงจากเรือนนางบัวไปพร้อมกัน จนทำให้นางบัวตกใจกลัววิ่งเข้าเรือน แสดงว่าจำเลยที่ ๒,๓ ก็ได้รู้เห็นมีเจตนาร่วมกันกระทำผิดกับจำเลยที่ ๑ แล้ว อนึ่ง นอกจากจำเลยที่ ๑ ถือปืนยาวลงไปด้วยแล้ว จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ก็มีอาวุธมีดและขวานติดตัวไปด้วย ซึ่งแสดงว่าจำเลยที่ ๒,๓ พร้อมที่จะช่วยเหลือจำเลยที่ ๑ ได้ทันทีอยู่แล้ว และเมื่อจำเลยที่ ๑ ยิงนายน้อยแล้ว ตอนหนีกลับจำเลยทั้งสามยังหนีกลับมาทางเดียวพร้อมกันอีก จึงนับว่าจำเลยที่ ๒,๓ ได้ร่วมกันกระทำความผิดด้วยกับจำเลยที่ ๑ คือเป็นตัวการฆ่านายน้อยตายด้วยกัน อันเป็นความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๒๔๙,๖๓
คดีนี้ จำเลยกระทำผิดเมื่อกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗ ยังใช้บังคับอยู่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.๒๔๙๙ ใช้บังคับแล้ว แต่การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๒๔๙ และทั้งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๘ ด้วย ซึ่งต่างก็มีอัตราโทษให้ประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปีเท่ากัน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓ ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำผิดไม่ว่าในทางใด ฯลฯ แต่คดีนี้โทษตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๒๔๙ กับโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๘ กำหนดไว้เท่ากัน การที่จะใช้กฎหมายใหม่บังคับปรับโทษ ก็ไม่เป็นคุณแก่จำเลยผู้กระทำผิดแต่อย่างใด ศาลจึงต้องใช้กฎหมายลักษณะอาญาปรับบทลงโทษจำเลย แต่จำเลยที่ ๓ ให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา สมควรได้รับการบรรเทาโทษ
จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา ๒๔๙ และมาตรา ๖๓ ให้จำคุกจำเลยคนละ ๑๕ ปี ลดโทษให้จำเลยที่ ๓ หนึ่งในสาม ตามกฎหมายลักษณะอาญามาตรา ๕๙ คงจำคุกจำเลยที่ ๓ มีกำหนด ๑๐ ปี นอกจากที่แก้นี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share