แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยขายที่พิพาทให้โจทก์โดยไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การซื้อขายตก เป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 456วรรคหนึ่งการที่โจทก์ครอบครองที่พิพาทหลังจากซื้อจากจำเลย โจทก์ย่อมได้ซึ่งสิทธิครอบครองจากการโอน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377,1378โดยไม่ต้องทำตามแบบนิติกรรม จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ทางนิติกรรมที่จะต้องจดทะเบียนแบ่งแยกที่พิพาทให้โจทก์.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมจำเลยเป็นเจ้าของที่ดิน น.ส.3 จำนวน 1 แปลงต่อมาจำเลยฟ้องขับไล่โจทก์ กล่าวหาว่าโจทก์อาศัยที่ดินของจำเลยปลูกบ้านอยู่ โจทก์ต่อสู้คดีว่า จำเลยแบ่งขายให้แก่โจทก์เป็นเนื้อที่ 1 ไร่เศษ โจทก์ครอบครองอย่างเป็นเจ้าของ ศาลพิพากษาว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของโจทก์ คดีถึงที่สุด โจทก์มีความประสงค์จะแบ่งแยกที่ดินเนื้อที่ 1 ไร่เศษ ออกจาก น.ส.3 ของจำเลยตามคำพิพากษา จึงแจ้งให้จำเลยนำ น.ส.3 ไปจดทะเบียนแบ่งแยกที่สำนักงานที่ดินอำเภอ แต่จำเลยเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยนำ น.ส.3 เนื้อที่31 ไร่เศษไปแบ่งให้โจทก์เนื้อที่ 1 ไร่เศษ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา ถ้าไม่สามารถแบ่งแยก ขอให้ศาลมีคำสั่งให้พนักงานที่ดินอำเภอสรรคบุรีดำเนินการแบ่งแยกโดยถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ จึงให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้รับฟ้องโจทก์
จำเลยให้การว่า การซื้อขายที่ดินตามข้ออ้างของโจทก์นั้นไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงเป็นโมฆะกรรม ที่จำเลยเคยฟ้องขับไล่โจทก์ให้ออกจากที่ดินพิพาทตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 160/2525 ของศาลชั้นต้น ศาลได้พิพากษายกฟ้องโดยให้เหตุผลว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองอยู่ในที่พิพาทเท่านั้น หาได้มีกรรมสิทธิ์หรือจะต้องได้รับสิทธิการโอนกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนไม่เมื่อศาลพิพากษาคดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์ จำเลยต่างก็อยู่ในที่ดินส่วนของตนที่ครอบครอง ไม่มีการโต้แย้งสิทธิกัน จะบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนสิทธิหาได้ไม่
ศาลชั้นต้นให้งดสืบพยาน และพิพากษาว่า ให้จำเลยนำ น.ส.3สำหรับที่ดินเนื้อที่ 31 ไร่เศษ ตำบลดงคอน อำเภอสรรคบุรีจังหวัดชัยนาท ไปจดทะเบียนแบ่งแยกให้โจทก์ 1 ไร่เศษ รายละเอียดตามสำเนาแผนที่พิพาทท้ายคำพิพากษาที่ปรากฏอยู่ในคดีแบ่งหมายเลขแดงที่ 160/2525 ของศาลชั้นต้น หากไม่ปฏิบัติตามก็ให้จดทะเบียนแบ่งแยกโดยถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องโจทก์และคำให้การจำเลยฟังได้ว่า จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เนื้อที่ 31 ไร่เศษ ต่อมาจำเลยได้ขายที่พิพาทจำนวน 1 ไร่เศษ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์โดยมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพียงแต่มอบการครอบครองที่พิพาทให้โจทก์ จำเลยเคยฟ้องขับไล่โจทก์ออกจากที่พิพาท แต่ศาลพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า โจทก์ซื้อที่พิพาทจากจำเลยและได้สิทธิครอบครองที่พิพาทแล้ว โจทก์จึงมาฟ้องคดีนี้ให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกที่พิพาท ปัญหาวินิจฉัยมีว่า จำเลยจะต้องไปจดทะเบียนแบ่งแยกที่พิพาทตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้จะฟังได้ว่าจำเลยได้ขายที่พิพาทให้แก่โจทก์ แต่การซื้อขายที่ดินดังกล่าว คู่กรณีไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่การซื้อขายดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคหนึ่งแต่โจทก์ได้ครอบครองที่พิพาทหลังจากซื้อจากจำเลย โจทก์ได้สิทธิครอบครองจากการโอน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1377,1378 หาจำต้องทำตามแบบของนิติกรรม ดังนั้นแม้ฟังได้ในชั้นนี้ว่าโจทก์ได้สิทธิครอบครองที่พิพาทไปแล้วก็ตามแต่จำเลยก็ไม่มีหน้าที่ทางนิติกรรมที่จะต้องจดทะเบียนแบ่งแยกที่พิพาทให้โจทก์ จึงบังคับจำเลยตามคำขอของโจทก์ไม่ได้ เทียบตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1999/2523ระหว่างนายจิต ศรเกลี้ยง โจทก์ นายประคิ่น ศรีวิรัตน์ ที่ 1นางเบี้ยน ศรีวิรัตน์ ที่ 2 จำเลย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์.