คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 137/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า mita มาก่อนจำเลยทั้งได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นไว้ในต่างประเทศหลายประเทศ และได้ส่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยก่อนที่จำเลยจะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า mita ดีกว่าจำเลย จำเลยเป็นกรรมการของบริษัท ร. ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าว จำเลยย่อมรู้ถึงเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จำเลยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า mita โดยรู้อยู่แล้วว่าโจทก์เป็นเจ้าของ แม้เครื่องหมายการค้าที่จำเลยขอจดทะเบียนจะได้รับการจดทะเบียนแล้วก็ไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิดีกว่าโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนเครื่องหมายการค้านั้นได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2474 มาตรา 41(1) ข้อที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้รับความคุ้มครองเนื่องจากโจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ในประเทศญี่ปุ่น และประเทศไทยไม่มีความตกลงคุ้มครองเครื่องหมายการค้าในลักษณะที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว กับรัฐบาลต่างประเทศนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยมิได้ต่อสู้ไว้ในคำให้การ เป็นเรื่องนอกประเด็น แม้จำเลยได้นำสืบต่อสู้ไว้ในศาลชั้นต้น และยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ด้วยก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า mitaอ่านว่า มิต้า และได้ใช้เครื่องหมายการค้านี้กับสินค้าในจำพวก39 เครื่อง อัดสำเนา กระดาษ กระดาษสำหรับใช้อัดสำเนา และการพิมพ์ซึ่งอยู่ในจำพวกนี้ และสินค้าในจำพวก 1 เคมีวัตถุสำหรับใช้ในการถ่ายรูป เคมีวัตถุสำหรับใช้กับวัสดุไวแสงทุกชนิด ผงหมึก และเคมีวัตถุสำหรับใช้กับเครื่องอัดสำเนาและเครื่องถ่ายเอกสารโดยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า mita ในประเทศญี่ปุ่น และประเทศอื่น ๆอีกหลายประเทศ และได้ใช้เครื่องหมายการค้านี้กับสินค้าดังกล่าวของโจทก์ประมาณ 10 ปีแล้ว จนเป็นที่รู้จักแพร่หลายในประเทศไทยโจทก์ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ คำว่า mitaไว้ต่อกองสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า สำหรับสินค้าในจำพวก39 ตามคำขอเลขที่ 14201 และในจำพวก 1 ตามคำขอเลขที่ 142099จำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า mita สำหรับสินค้าในจำพวก 39 ตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 116910 ทะเบียนเลขที่ 79609ไว้ต่อกองสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม2527 และวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2528 โจทก์ได้รับหนังสือของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2527 และลงวันที่ 28มกราคม 2528 ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า mitaของโจทก์ที่ได้ยื่นขอจดทะเบียนไว้ เครื่องหมายการค้าคำว่า mitaจำเลยได้นำไปจดทะเบียนโดยไม่สุจริตโดยลักลอบเอาไปจากโจทก์ขอให้พิพากษาให้โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า mita ดีกว่าจำเลยให้จำเลยถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 116909ทะเบียนเลขที่ 73559 และตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 116910 ทะเบียนเลขที่ 79609 หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ห้ามมิให้จำเลยยื่นขอทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวอีก
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า mita อ่านว่า มิต้า แปลว่า กำลัง-ควบคุมกรรมกร ชาวอินเดียในประเทศเปรูหนึ่งหมวด บังคับควบคุมโดยชาวสเปนได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสินค้าในจำพวก 1 ทั้งจำพวก และสินค้าในจำพวก 39 ทั้งจำพวก เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2524 จำเลยนำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไปใช้กับสินค้าประเภทกระดาษและสีทาบ้าน จำเลยใช้เครื่องหมายการค้าแพร่หลายต่อสาธารณชนเป็นที่รู้จักแพร่หลายในวงการค้ามาหลายปีแล้ว กองสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าได้รับจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายตามทะเบียนเลขที่ 79609เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2526 และเลขที่ 73559 เมื่อวันที่ 18มกราคม 2525 การที่โจทก์ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า mitaเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า mita ดีกว่าจำเลย ให้จำเลยไปจดทะเบียนเพิกถอนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 116909 ทะเบียนเลขที่ 73559 และตามคำขอจดทะเบียนเลขที่ 116910 ทะเบียนเลขที่ 79609 หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ยกคำขออื่นนอกจากนี้
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นในชั้นฎีกาข้อเดียวว่าโจทก์มีสิทธ ในเครื่องหมายการค้าคำว่า mita (อ่านว่ามิต้า) ดีกว่าจำเลยหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า mita มาก่อนจำเลย ทั้งได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นไว้ในต่างประเทศหลายประเทศ และได้ส่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยก่อนที่จำเลยจะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า mita ดีกว่าจำเลยจำเลยเป็นกรรมการของบริษัทแรนด์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์เช่นว่านั้นในประเทศไทย จำเลยย่อมรู้ถึงเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จำเลยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า mita โดยรู้อยู่แล้วว่าโจทก์เป็นเจ้าของ แม้เครื่องหมายการค้าที่จำเลยขอจดทะเบียนจะได้รับการจดทะเบียนแล้วก็ไม่ทำให้จำเลยมีสิทธิดีกว่าโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ. 2474 มาตรา 41 (1) คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้รับความคุ้มครองเนื่องจากโจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำฟ้องไว้ในประเทศญี่ปุ่นและ ประเทศไทยไม่มีความตกลงคุ้มครองเครื่องหมายการค้าในลักษณะที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวกับรัฐบาลต่างประเทศนั้น เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยมิได้ต่อสู้ไว้ในคำให้การเป็นเรื่องนอกประเด็น แม้จำเลยได้นำสืบต่อสู้ไว้ในศาลชั้นต้นและยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ด้วยก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน.

Share