คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11532/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ได้กำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่จะเข้ารับการตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดหรือเข้ารับการฟื้นฟูที่สำคัญว่า บุคคลดังกล่าวไม่ต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่น ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล และผลการตรวจพิสูจน์ต้องเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติด จึงจะมีสิทธิได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามพระราชบัญญัตินี้ หากข้อเท็จจริงปรากฏภายหลังจากที่ศาลมีคำสั่งตามมาตรา 19 ว่า ผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์หรือผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดนั้นต้องหาหรือถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่น ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรือต้องคำพิพากษาให้จำคุก ให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไปตามมาตรา 24 หรือถ้าผลการตรวจพิสูจน์ไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหาเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติด ให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานผลการตรวจพิสูจน์ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาดำเนินคดีต่อไปตามมาตรา 22 วรรคสาม หรือในกรณีที่ผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดผู้ใดแม้จะได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจนครบกำหนดเวลาตามมาตรา 25 แล้ว แต่ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่เป็นที่พอใจ ให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณีเพื่อประกอบการพิจารณาคดีผู้นั้นต่อไปตามมาตรา 33 วรรคสอง โดยไม่มีบทบัญญัติใดที่ระบุว่า เมื่อศาลมีคำสั่งตามมาตรา 19 แล้ว ในการส่งตัวกลับไปดำเนินคดีเพราะเหตุขาดคุณสมบัติหรือเพราะเหตุอื่นจะต้องให้ศาลเป็นผู้พิจารณาสั่งเท่านั้น ส่วนการพิจารณาสั่งของศาลตามมาตรา 24 ก็เป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงปรากฏต่อศาลเอง หรือศาลได้รับแจ้งจากคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดหรือพนักงานสอบสวนแล้วแต่กรณี ดังนั้น ที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดกำแพงเพชรตรวจสอบแล้วพบว่าจำเลยถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก จึงส่งตัวจำเลยไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไป จึงเป็นไปตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 57, 67, 91, 97, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย นับโทษจำคุกของจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2628/2549 ของศาลชั้นต้น และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษและนับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67, 57, 91 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 ปี ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 4 ปี เพิ่มโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 กึ่งหนึ่ง เป็นจำคุก 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 3 ปี นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2628/2549 ของศาลชั้นต้น และริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่โจทก์บรรยายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับตัวจำเลยไว้ในคำฟ้องถือเสมือนเป็นการแจ้งให้ศาลได้วินิจฉัยไปในตัวว่าจำเลยยังคงมีสิทธิเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดต่อไปหรือไม่ หากศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่ายังไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 24 ก็ชอบที่จะมีคำสั่งไม่รับฟ้องไว้พิจารณาโดยมีคำสั่งให้ส่งตัวจำเลยไปเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดต่อไป คดีนี้พนักงานสอบสวนได้ทำการสอบสวนโดยชอบแล้ว แม้ก่อนฟ้องจะมีการปฏิบัติข้ามขั้นตอนไปบ้าง แต่ก็อยู่ในความรับรู้ของศาล และถือว่าศาลได้เห็นชอบในกรณีตามมาตรา 24 แล้ว โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง เห็นว่า ตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ได้กำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่จะเข้ารับการตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดหรือเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจะต้องเป็นบุคคลที่ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด เสพและมีไว้ในครอบครอง เสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือเสพและจำหน่าย ตามลักษณะ ชนิด ประเภทและปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญว่าบุคคลดังกล่าวไม่ต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่น ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล และผลการตรวจพิสูจน์ต้องเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติด จึงจะมีสิทธิได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามพระราชบัญญัตินี้ หากข้อเท็จจริงปรากฏภายหลังจากที่ศาลมีคำสั่งตามมาตรา 19 ว่าผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์หรือผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดนั้นต้องหาหรือถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่น ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรือต้องคำพิพากษาให้จำคุก ให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไปตามมาตรา 24 หรือถ้าผลการตรวจพิสูจน์ไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหาเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติด ให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานผลการตรวจพิสูจน์ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาดำเนินคดีต่อไปตามมาตรา 22 วรรคสาม หรือในกรณีที่ผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดผู้ใดแม้จะได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจนครบกำหนดเวลาตามมาตรา 25 แล้ว แต่ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่เป็นที่พอใจ ให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณีเพื่อประกอบการพิจารณาคดีผู้นั้นต่อไปตามมาตรา 33 วรรคสอง จากบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการกำหนดคุณสมบัติของบุคคลผู้มีสิทธิได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด การตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด รวมทั้งการส่งตัวกลับไปดำเนินคดีหากบุคคลนั้นขาดคุณสมบัติ หรือแม้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจนครบกำหนดแล้ว แต่ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่เป็นที่พอใจ โดยให้อำนาจคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการหรือให้ศาลเป็นผู้พิจารณามีคำสั่งแล้วแต่ข้อเท็จจริงจะปรากฏในขั้นตอนใด โดยไม่มีบทบัญญัติใดที่ระบุว่า เมื่อศาลมีคำสั่งตามมาตรา 19 แล้ว ในการส่งตัวกลับไปดำเนินคดีเพราะเหตุขาดคุณสมบัติหรือเพราะเหตุอื่นจะต้องให้ศาลเป็นผู้พิจารณาสั่งเท่านั้น ส่วนการพิจารณาสั่งของศาลตามมาตรา 24 ก็เป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงปรากฏต่อศาลเอง หรือศาลได้รับแจ้งจากคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดหรือพนักงานสอบสวนแล้วแต่กรณี ดังนั้น ที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดกำแพงเพชรตรวจสอบแล้วพบว่าจำเลยถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก จึงส่งตัวจำเลยไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไป จึงเป็นไปตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวแล้ว ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น และเมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว เพื่อให้การพิจารณาคดีดำเนินต่อไปโดยไม่ชักช้า สมควรวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยไปเสียทีเดียวว่า มีเหตุลงโทษจำเลยในสถานเบาหรือไม่ เห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นกำหนดโทษจำคุกจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอบโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานเสพเมทแอมเฟตามีน กระทงละ 2 ปี หนักเกินไป เห็นสมควรแก้ไขให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ. 2550 ใช้บังคับซึ่งมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า ให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องโทษในกรณีความผิดต่าง ๆ ซึ่งได้กระทำก่อนหรือในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนหรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยถูกลงโทษในกรณีความผิดนั้น ๆ เมื่อคดีนี้ฟังได้ว่า จำเลยพ้นโทษในความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4059/2544, 1783/2546 และ 3527/2546 ของศาลชั้นต้นไปก่อนวันที่ 5 ธันวาคม 2550 ซึ่งเป็นวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ จำเลยจึงได้รับประโยชน์ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งถือว่าจำเลยไม่เคยถูกลงโทษในความผิดนั้นมาก่อน จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยได้ แม้จำเลยมิได้ฎีกาในปัญหาข้อนี้ แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67, 57, 91 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 9 เดือน นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2628/2549 ของศาลชั้นต้น ริบของกลาง และยกคำขอให้เพิ่มโทษ

Share