คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7921/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้โจทก์บรรยายแยกฟ้องว่าจำเลยครอบครองไม้สักแปรรูปจำนวนหนึ่งออกต่างหากจากการครอบครองไม้ชิงชันแปรรูปและไม้มะค่าโมงแปรรูปอีกจำนวนหนึ่งเป็นคนละข้อก็ตาม แต่ไม้ดังกล่าวก็เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติกำหนดไม้หวงห้ามฯ ด้วยกัน ทั้งตามคำบรรยายฟ้องที่ระบุการกระทำผิดของจำเลยก็เป็นกรณีที่จำเลยครอบครองไม้ทั้งสามชนิดนั้นในคราวเดียวกัน เป็นแต่การครอบครองไม้แปรรูปทั้งสามชนิดนั้นกฎหมายกำหนดอัตราโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา 73 แตกต่างกันเท่านั้น การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท มิใช่เป็นการกระทำหลายกรรมต่างกันเป็นเหตุในลักษณะคดีอันเกี่ยวกับการปรับบทลงโทษจำเลย แม้จำเลยอื่นจะมิได้อุทธรณ์ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 และ 22

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันแปรรูปไม้สัก ไม้ชิงชันและไม้มะค่าโมง โดยใช้เครื่องมือดังกล่าว เลื่อยและผ่าไม้ออกเป็นแผ่นและเหลี่ยมได้ไม้สักแปรรูป 379 แผ่น/เหลี่ยม ปริมาตร 1.71 ลูกบาศก์เมตร ได้ไม้ชิงชันแปรรูป 11 แผ่น/เหลี่ยม ปริมาตร 0.22ลูกบาศก์เมตร และได้ไม้มะค่าโมงแปรรูป 10 แผ่น/เหลี่ยม ปริมาตร0.32 ลูกบาศก์เมตร โดยไม่ได้รับอนุญาตจำเลยทั้งสี่ร่วมกันมีไม้สักที่แปรรูปแล้ว จำนวน 379 แผ่น/เหลี่ยม ปริมาตร 1.71 ลูกบาศก์เมตรไม้ชิงชันและไม้มะค่าโมงที่แปรรูปแล้ว จำนวน 11 แผ่น/เหลี่ยมปริมาตร 0.22 ลูกบาศก์เมตร และจำนวน 10 แผ่น/เหลี่ยมปริมาตร 0.32 ลูกบาศก์เมตร ตามลำดับซึ่งเกินกว่า 0.20ลูกบาศก์เมตร ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต กับร่วมกันมีโต๊ะทำด้วยไม้มะค่าโมงจำนวน 1 ตัว ชั้นวางของทำด้วยไม้สัก1 ชิ้น โต๊ะเครื่องมือทำด้วยไม้ประดู่ 1 ตัว และซี่ลูกกรงทำด้วยไม้สัก 13 อัน ไว้ในครอบครองเพื่อการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้เสพเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 7, 11, 48, 53 ทวิ, 53 ตรี, 73, 73 ทวิ, 74, 74 ทวิ พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 57, 91ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ริบของกลาง

จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ 1ให้การปฏิเสธศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์แยกฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีใหม่

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 48 วรรคหนึ่ง, 53 ตรี,73 (ที่ถูก 73 วรรคหนึ่ง วรรคสอง (1)), 73 ทวิ, 74, 74 ทวิ จำเลยที่ 3และที่ 4 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 57, 91 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้ จำคุกคนละ 1 ปี ฐานแปรรูปไม้จำคุกคนละ 1 ปี ฐานมีไม้สักแปรรูปไว้ในครอบครอง จำคุกคนละ 1 ปีฐานมีไม้ชิงชันและไม้มะค่าโมงแปรรูปไว้ในครอบครองจำคุกคนละ 6 เดือน ฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้าซึ่งสิ่งประดิษฐ์เครื่องใช้ หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่ทำด้วยไม้หวงห้าม เกินกว่ากำหนดโดยมิได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานเสพเมทแอมเฟตามีนจำคุก จำเลยที่ 3 และที่ 4 คนละ 1 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด4 ปี จำเลยที่ 3 และที่ 4 คนละ 5 ปี จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี จำเลยที่ 3 และที่ 4คนละ 2 ปี 6 เดือน ริบของกลาง

จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษ

ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน

จำเลยที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาให้ลดโทษและรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 3 ด้วยนั้น ปรากฏว่าคดีนี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 5พิพากษายืนให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้ 1 ปี ฐานแปรรูปไม้ 1 ปี ฐานมีไม้สักแปรรูปไว้ในครอบครอง1 ปี ฐานมีไม้ชิงชันและไม้มะค่าโมงแปรรูปไว้ในครอบครอง 6 เดือนฐานมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้าซึ่งสิ่งประดิษฐ์ เครื่องใช้ หรือสิ่งอื่นใดบรรดาที่ทำด้วยไม้หวงห้ามเกินกว่ากำหนดโดยมิได้รับอนุญาต6 เดือน และฐานเสพเมทแอมเฟตามีน 1 ปี โดยลดโทษให้กึ่งหนึ่งด้วยเหตุที่จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพ ซึ่งแต่ละกระทงความผิดศาลอุทธรณ์ภาค 5 ยังคงลงโทษจำเลยที่ 3 จำคุกไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง การที่จำเลยที่ 3ฎีกาขอให้ลดโทษจำเลยที่ 3 ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 อีก และให้รอการลงโทษให้จำเลยที่ 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ด้วยนั้น เป็นการฎีกาดุลพินิจในการลดโทษและรอการลงโทษให้จำเลยที่ 3 ของศาลล่างทั้งสองอันเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

ส่วนที่จำเลยที่ 3 ฎีกาข้อกฎหมายว่า จำเลยที่ 3 มีไม้สักแปรรูปไว้ในครอบครอง และมีไม้ชิงชันและไม้มะค่าโมงแปรรูปไว้ในครอบครองนั้น แม้จะเป็นไม้ต่างชนิดกันแต่การกระทำของจำเลยที่ 3 ก็เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 48, 73ซึ่งเป็นบทมาตราเดียวกัน การกระทำของจำเลยที่ 3 จึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท มิใช่เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมดังเช่นที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยนั้น เห็นว่า แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะบรรยายแยกฟ้องว่า จำเลยที่ 3 ครอบครองไม้สักแปรรูปจำนวนหนึ่งออกต่างหากจากการครอบครองไม้ชิงชันแปรรูปและไม้มะค่าโมงแปรรูปอีกจำนวนหนึ่งเป็นคนละข้อก็ตาม แต่ไม้ดังกล่าวก็เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. 2530 ด้วยกัน ทั้งตามคำบรรยายฟ้องที่ระบุการกระทำผิดของจำเลยที่ 3 ก็เป็นกรณีที่จำเลยที่ 3 ครอบครองไม้ทั้งสามชนิดนั้นในคราวเดียวกัน เป็นแต่การครอบครองไม้แปรรูปทั้งสามชนิดนั้นกฎหมายกำหนดอัตราโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 73 แตกต่างกันเท่านั้น โดยหากเป็นการครอบครองไม้สักแปรรูปจะได้รับโทษตามวรรคสองซึ่งอัตราโทษสูงกว่าการครอบครองไม้ชิงชันแปรรูปและไม้มะค่าโมงแปรรูปที่มีปริมาตรไม่เกินสองลูกบาศก์เมตรตามวรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยที่ 3ดังกล่าวตามฟ้องจึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทเท่านั้น ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นการกระทำหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 3ฟังขึ้น แต่เนื่องจากปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวนี้เป็นเหตุในส่วนลักษณะคดีอันเกี่ยวกับการปรับบทลงโทษจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4แม้จำเลยที่ 2 และที่ 4 ไม่อุทธรณ์ ฎีกาขึ้นมาให้วินิจฉัยก็ตามศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 และที่ 4 ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 และ 225”

พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานมีไม้สักแปรรูปไว้ในครอบครองและความผิดฐานมีไม้ชิงชันและไม้มะค่าโมงแปรรูปไว้ในครอบครองเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานมีไม้สักแปรรูปไว้ในครอบครองตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 73 วรรคสอง(1) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 คนละ 1 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 6 เดือนรวมกับโทษฐานอื่นตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 เป็นจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 9 เดือน จำเลยที่ 3 และที่ 4 คนละ2 ปี 3 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5

Share