คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 137/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้พึงจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนซึ่งกล่าวไว้ในมาตรา 448 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นั้น ก็คือ ผู้ทำละเมิดตามมาตรา 420 นั่นเอง และการรู้ตัวผู้พึงต้องใช้ค่าไหมทดแทนดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 448 นั้น ก็มิได้หมายรวมถึงการรู้จำนวนค่าเสียหายที่ผู้ละเมิดจะพึงต้องใช้ด้วย
เสมียนแผนกเงินยักยอกเงินของทางราชการในระหว่างที่จำเลย 3 คนดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนกเงินสืบต่อกันเมื่ออธิบดีกรมนั้นได้รับรายงานจากคณะกรรมการสอบสวนว่าจำเลยคนใดจะต้องรับผิดเพียงใด เป็นจำนวนเงินเท่าใดย่อมแล้วแต่ความทุจริตซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่จำเลยนั้น ๆ เป็นหัวหน้าแผนก ดังนี้ อายุความในการที่กรมนั้นจะใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายในมูลละเมิดจากจำเลยย่อมเริ่มต้นแล้ว แม้รายงานนั้นจะแจ้งด้วยว่าในขณะนั้นยังไม่สามารถจะรายงานให้ทราบจำนวนเงินซึ่งจำเลยแต่ละคนจะต้องรับผิดก็ตาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามรับราชการตำแหน่งหัวหน้าแผนกเงิน สำนักงานเลขานุการกรมที่ดิน โดยจำเลยที่ ๑ ดำรงตำแหน่งในปี ๒๔๙๒ ถึง ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘ จำเลยที่ ๒ ตั้งแต่ ๑ มีนาคม ๒๔๙๘ ถึง ๑ มิถุนายน ๒๔๙๘ และ จำเลยที่ ๓ ตั้งแต่ ๒ มิถุนายน ๒๔๙๘ ถึง ๖ มกราคม ๒๔๙๙ จำเลยได้ประมาทเลินเล่อต่อหน้าที่ปล่อยให้นายทวี นิยมฤทธิ์ เสมียนแผนกเงิน ทำการทุจริตยักยอกเงินมัดจำรังวัดรวม ๑,๐๐๑,๓๔๖.๕๕ บาท โดยยักยอกไปในระยะที่จำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดชอบ ๘๓๗,๕๓๐.๕๐ บาท ในระยะที่จำเลยที่ ๒ ต้องรับผิดชอบ ๖๗,๕๗๓.๘๕ บาท ในระยะที่จำเลยที่ ๓ ต้องรับผิดชอบ
๙๖,๒๔๒.๒๐ บาท กระทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ทราบถึงตัวจำเลยทั้งสามที่จะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อ ๕ ตุลาคม ๒๔๙๙ ได้แจ้งให้จำเลยชดใช้แล้วจำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับให้จำเลยใช้เงินตามจำนวนที่ต้องรับผิดชอบดังกล่าวแก่โจทก์(ยื่นฟ้องวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๐๐)
จำเลยแต่ละคนให้การตัดฟ้องว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความแล้ว และต่อสู้ประการอื่นด้วย
ศาลแพ่งพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อความปรากฎขึ้นว่านายทวีได้ยักยอกเงินรายนี้ไปแล้ว อธิบดีกรมโจทก์ได้สั่งให้ไล่นายทวีออก และให้คณะกรรมการกสอบสวนพิจารณาเกี่ยวกับความรับผิดของผู้บังคับบัญชาในทางการเงินว่าผู้บังคับบัญชาจะต้องรับผิดชอบใช้ให้หรือไม่เพียงใด ขอให้กรรมการตรวจสอบเหตุผลเสนอ คณะกรรมการจึงเสนอความเห็นเมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม ๒๔๙๙ ว่า ความรับผิดของหัวหน้าแผนกเงินทั้งสามนาย คือ จำเลยทั้งสามนี้ คนใดจะต้องรับผิดเพียงใด เป็นจำนวนเงินเท่าใด ย่อมแล้วแต่ความทุจริตซึ่งเกิดขึ้นในขณะที่บุคคลนั้นเป็นหัวหน้าแผนก ซึ่งไม่สามารถจะเรียนให้ทราบในขณะนั้นได้ เพราะจะต้องรอการตรวจสอบบัญชีของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินให้แน่นอนก่อน ดังนี้ แสดงให้เห็นชัดว่า โจทก์ได้ถือเอาและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนในข้อที่กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสามได้ทำการประมาทเลินเล่อให้โจทก์ต้องเสียหายเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๔๙๙ นั้นแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่า ในเดือนกรกฎาคม ๒๔๙๙ นั้น โจทก์ได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเรียกร้องให้รับผิดนี้แล้ว ยังคงขาดอยู่แต่การที่จะกำหนดเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดเท่านั้น อายุความ ๑ ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๘ เป็นการกำหนดหน้าที่ให้โจทก์สอบสวนคิดคำนวณค่าเสียหายนานพออยู่แล้ว ข้อที่โจทก์ฎีกาว่า การรู้ตัวผู้พึงใช้ค่าสินไหมทดแทนต้องหมายรวมถึงการรู้จำนวนค่าเสียหายที่ผู้ละเมิดจะพึงต้องใช้ด้วยนั้น ฟังไม่ขึ้น เพราะตามบทบัญญัติมาตรา ๔๒๐ แสดงอยู่ในตัวว่าผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนก็คือ ผู้ทำละเมิดนั้นเอง ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้น เป็นอีกเรื่องหนี่ง ความที่ยังไม่รู้ว่าผู้ทำละเมิดจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพียงใดหาอาจนำมาอ้างได้ว่ายังไม่รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ไม่ โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดเมื่อขาดอายุความพ้นปีหนึ่งแล้ว ศาลฎีกาจึงพิพากษายืน

Share