คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1368/2510

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นบุตรคนเดียวของ ซ. ซึ่งเป็นบุตรของ ย. เมื่อฮ. ซึ่งเป็นสามีของ ย. ตายมรดกของ ฮ. คงมีเฉพาะ 2 ใน 3 ของที่ดิน 3 โฉนดผู้จัดการมรดกของ ฮ. มีสิทธิจัดการได้เฉพาะมรดกของ ฮ. ตอนนี้ ซ. มารดาโจทก์มิได้เป็นทายาทของ ฮ. ไม่มีสิทธิในที่ดิน 3 แปลงนี้ เพราะ ย. มารดาของ ซ . ซึ่งเป็นมารดาโจทก์ยังมีชีวิตอยู่ ผู้จัดการมรดกจึงไม่ได้กระทำอะไรแทน ซ. ย. คงมีสิทธิเป็นเจ้าของที่ดิน 3 โฉนดทุกแปลง
เมื่อ ย. ตายในปี 2490 ที่ดิน 3 ใน 7 ส่วน ทั้ง 3 โฉนด เป็นมรดกของ ย. ตกได้แก่ทายาทของ ย. คือบุตรของ ย. ที่เกิดจากสามีเก่าและสามีใหม่ มรดกของ ย. ไม่มีผู้จัดการมรดก คงมีแต่ทายาททายาททุกคนไม่อยู่ในฐานะจัดการมรดกแทนทายาทอื่น ถ้า ซ. บุตรของย. ฟ้องขอให้แบ่งมรดกภายใน 1 ปี ซ. ก็มีสิทธิขอแบ่งมรดกย.3 ใน 7 ส่วนของที่ดินทั้ง 3 แปลง ถ้ามิได้ฟ้องภายใน 1 ปี ก็ต้องห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 เว้นแต่ ซ. จะได้ครอบครองทรัพย์มรดกตามที่บัญญัติไว้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1748 หมายความว่าเมื่อล่วงพ้นกำหนดอายุความหนึ่งปีแล้ว ทายาทที่ครอบครองมรดกเรียกให้แบ่งทรัพย์มรดกได้เฉพาะทรัพย์ที่ตนครอบครองเท่านั้น เว้นแต่ทรัพย์มรดกนั้นไม่มีทายาทคนใดครอบครองเลย ซึ่งในกรณีเช่นนี้ทรัพย์มรดกนั้นทายาทเป็นเจ้าของร่วมกันตามมาตรา 1754 เมื่อ ซ. มารดาโจทก์ได้ครอบครองที่ดินมรดกโฉนดที่ 446 แปลงเดียว ส่วนที่ดินโฉนดที่ 942 และ 943 จำเลยทั้งห้าเป็นผู้ครอบครอง ซ. ก็มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งเฉพาะที่ดินที่ตนครอบครอง โจทก์จะอ้างการจัดการมรดกของ ฮ. เป็นการกระทำแทน ซ. หาได้ไม่
จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ ฮ.โจทก์ไม่ใช่ทายาทของ ฮ. ผู้จัดการมรดกไม่มีหน้าที่จะต้องแสดงบัญชีต่อผู้ที่ไม่ใช่ทายาท
การที่ ซ. เสียภาษีที่ดินในนามของ ย.ไม่เป็นการแสดงว่าซ. ครอบครองที่ดินแต่อย่างใด ฉะนั้น การที่โจทก์ขออ้างพยานหลักฐานเพิ่มเติมว่า ซ.เสียภาษีในนามของย. เมื่อสืบพยานโจทก์หมดแล้วจึงไม่ทำให้การวินิจฉัยคดีเปลี่ยนแปลงไป
โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เป็นประเด็นว่า ทายาทอื่นหมดสิทธิหรือสละสิทธิรับมรดก และโจทก์ได้สิทธิอันใดเกินกว่าสิทธิของทายาทคนหนึ่งจะมาอ้างในชั้นอุทธรณ์ฎีกาหาได้ไม่
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ที่ดิน 3 โฉนดเป็นมรดก ฯลฯ จำเลยเก็บรายได้มาแบ่งปันให้ทายาทเฉพาะที่ดินโฉนดที่ 446 ต่อมาเมื่อเดือนสิงหาคม 2505 จำเลยให้ ส. เช่า ได้ค่าเช่าเดือนละ 12,000 บาท ขอให้คิดบัญชีแบ่งดอกผลให้โจทก์ตามส่วนและแบ่งดอกผลตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจำเลยก็ไม่ปฏิเสธว่าไม่มีรายได้ กลับรับว่าเอารายได้มาแบ่งให้พวกของจำเลยซึ่งเป็นทายาทของ ฮ. ดังนี้จำเลยจะอ้างว่าเป็นฟ้องเคลือบคลุมหาได้ไม่
ตัวทรัพย์ที่จำเลยให้เช่าเป็นมรดกที่โจทก์มีสิทธิได้ส่วนแบ่ง จำเลยให้เช่าตั้งแต่สิงหาคม 2505 ก่อนวันฟ้อง โจทก์จึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งดอกผลคือค่าเช่าตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2505 จนถึงวันฟ้องด้วย
คำสั่งศาลที่อนุญาตให้โจทก์ฟ้องความอย่างคนอนาถาย่อมเป็นที่สุดย่อมอุทธรณ์ฎีกาอีกไม่ได้ ไม่ว่าก่อนหรือหลังศาลพิพากษา
โจทก์มิได้ฟ้องให้เอาสินสมรสใช้สินเดิม เป็นแต่บรรยายถึงสิทธิในการขอแบ่งสินสมรส จึงไม่ต้องระบุว่ามีทรัพย์อะไรเป็นสินเดิมไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม (อ้างฎีกาที่ 886/2479,1080/2497)
มรดกที่มีผู้จัดการ เมื่อยังมิได้แบ่งให้ทายาททุกคนการจัดการมรดกยังไม่เสร็จ การแบ่งมรดกต้องแบ่งตัวทรัพย์หรือเงินราคาตามมาตรา 1750 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หากตกลงเป็นอย่างอื่นจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 ถ้ามีทายาทหลายคน ทายาทหาจำต้องแสดงเจตนาครอบครองต่อกันไม่ เมื่อนาง ซ. ซึ่งเป็นทายาทครอบครองทรัพย์มรดก ก็มีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกได้จำเลยจะไปประกาศรับโอนมรดกอย่างใด หาอาจใช้ยัน ซ. ได้ไม่ และจำเลยจะอ้างอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 1382 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้ยัน ซ. ก็ไม่ได้เพราะ ซ. กับจำเลยครอบครองร่วมกัน
จำเลยมิได้เป็นทายาทของ ซ. จึงยกอายุความ 1 ปีขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นบุตรของ ซ. ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นหลานนางยู้หรือทองอยู่ โดยเป็นบุตรคนเดียวของนางซิ่วซึ่งเป็นบุตรของนางยู้หรือทองอยู่กับนายตี๋ เมื่อนายตี๋สามีนางยู้หรือทองอยู่วายชนม์แล้ว ต่อมานายโฮถุนน้องชายนายตี๋ได้สมรสกับนางยู้หรือทองอยู่ แล้วอยู่กินเป็นสามีภริยากันตลอดมา มีบุตรด้วยกัน 5 คน คือจำเลยทั้งห้านี้ การสมรสระหว่างนายโฮถุนกับนางยู้หรือทองอยู่นั้นต่างมีสินเดิมด้วยกัน รวมราคาทรัพย์สินสมรสทั้งสิ้นประมาณ 9,290,000 บาท

ต่อมานายโฮถุนสามีนางยู้หรือทองอยู่วายชนม์ ทรัพย์ดังกล่าวยังมิได้จำหน่ายจ่ายโอน และยังไม่มีการแบ่งแยกระหว่างนายโฮถุนกับนางยู้หรือทองอยู่ จำเลยที่ 1 ได้เก็บรายได้จากทรัพย์เหล่านี้มาแบ่งปันระหว่างทายาทรวมทั้งมารดาโจทก์และจำเลยทั้งห้าตลอดมา

ต่อมานางยู้หรือทองอยู่ถึงแก่ความตาย ทรัพย์มรดกดังกล่าวยังไม่มีการแบ่งต่อมานางซิ่วมารดาโจทก์วายชนม์ โจทก์ครอบครองทรัพย์ทั้งหมดร่วมกับจำเลยทั้งห้า ซึ่งถือว่านางซิ่วสืบมรดกของนางยู้หรือทองอยู่โดยการครอบครองร่วมกับจำเลย จำเลยสมคบกันทำสัญญาเช่าที่ดินโฉนดที่ 446 พร้อมทั้งสิ่งก่อสร้างทั้งหมดให้นางสุนีรัตน์ เตลาน เช่า มีกำหนด 15 ปี โดยเรียกเงินกินเปล่าได้อีกเป็นจำนวนเงิน 1 ล้านบาท ค่าเช่าเดือนละ 12,000 บาท เมื่อทำสัญญาเช่าแล้ว จำเลยทั้งห้าขับไล่โจทก์ให้ออกไป ไม่ยอมให้โจทก์เข้าเกี่ยวข้องกับกองมรดก ขอให้จำเลยแบ่งมรดกที่ครอบครองร่วมกันมาดังกล่าว จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งห้าแบ่งทรัพย์ตามฟ้องให้โจทก์ ถ้ามิอาจแบ่งแยกได้ ก็ให้จำเลยใช้ราคาทรัพย์ตามส่วนของโจทก์จำนวน 516,111 บาทให้โจทก์ หากศาลจะฟังว่านางยู้หรือทองอยู่ไม่มีสินสมรสมาในขณะที่สมรสกับนายโฮถุน (ที่ถูกน่าจะเป็นสินเดิม) เมื่อนายโฮถุนวายชนม์ นางยู้หรือทองอยู่ก็มีส่วนได้รับมรดกของนายโฮถุนเสมอด้วยบุตรคนหนึ่ง คือ 1 ใน 6 ส่วน เป็นจำนวนเงิน 1,548,333.33 บาท และเมื่อนางยู้หรือทองอยู่วายชนม์ มรดกของนางยู้หรือทองอยู่ตกได้แก่นางซิ่วมารดาโจทก์ 1 ใน 9 ส่วน เป็นเงิน 172,037.03 บาท มรดกนี้ต้องตกได้แก่โจทก์ผู้สืบมรดกนางซิ่วแต่คนเดียว ขอให้บังคับจำเลยแบ่งส่วนที่โจทก์มีสิทธิได้รับดังกล่าวนี้ให้โจทก์

จำเลยทั้ง 5 คนให้การสู้คดีว่า จะต้องแบ่งมรดกระหว่างทายาทออกเป็น 10 ส่วน จะตกได้แก่โจทก์ผู้รับมรดกนางซิ่งมารดาโจทก์เพียง 1 ใน 10 ส่วน หาใช่ 1 ใน 6 ส่วนดังโจทก์ฟ้องไม่ นายโฮถุนฝ่ายเดียวมีสินเดิมคือมีเงิน 20,000 บาท ดังนี้ นางยู้หรือทองอยู่จึงไม่มีสิทธิในทรัพย์อันเป็นสินสมรสที่เกิดขึ้นเลย โจทก์ไม่ได้บรรยายว่าสินเดิมของใครมีทรัพย์อะไรบ้าง คำฟ้องข้อนี้จึงเคลือบคลุม

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าแบ่งที่ดินโฉนดที่ 446 ให้โจทก์ 1 ใน 10 ส่วน หรือมิฉะนั้นให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชดใช้เงิน 128,571.42 บาทให้โจทก์ หรือให้เอาที่ดินโฉนดดังกล่าวออกขายทอดตลาดแบ่งเงินให้โจทก์ตามส่วน กับให้จำเลยทั้งห้าส่งมอบเงินค่าเช่าที่ดินโฉนดที่ 446 ให้โจทก์เดือนละ 1,200 บาท นับแต่เดือนสิงหาคม 2505 จนกว่าจะได้จัดการแบ่งที่ดินมรดกเสร็จ ให้จำเลยร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนาย 3,000 บาท แทนโจทก์ด้วย คำขออื่นให้ยกเสีย

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่า ให้จำเลยแบ่งที่ดินโฉนดที่ 446 และสิ่งปลูกสร้างที่มีมาแต่เดิม คือ ตึก 1 หลัง และเรือน 4 หลังตามฟ้อง และค่าเช่าดังกล่าวข้างต้นให้โจทก์ 3 ใน 70 ส่วน ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างถ้าแบ่งกันไม่ได้ ให้ประมูลราคาระหว่างโจทก์จำเลยหากไม่ตกลงกันก็ให้ขายทอดตลาด ได้เงินสุทธิเท่าใด แบ่งให้โจทก์ตามส่วน

โจทก์และจำเลยฎีกาต่อมา

1. โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ควรมีส่วนได้รับแบ่งในที่ดินโฉนดที่ 942และ 943 ด้วย เพราะที่ดินสองแปลงนี้ยังอยู่ในระหว่างจัดการมรดกของจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาเห็นว่า ตามข้อเท็จจริงในคดีนี้ เมื่อนายโฮถุนตายมรดกของนายโฮถุนคงมีเฉพาะ 2 ใน 3 ของที่ดิน 3 โฉนด ผู้จัดการมรดกของนายโฮถุนมีสิทธิจัดการได้เฉพาะมรดกนายโฮถุน ตอนนี้นางซิ่วมารดาโจทก์มิได้เป็นทายาทของนายโฮถุน ไม่มีสิทธิในที่ดินทั้ง 3 แปลงนี้แต่ประการใด เพราะนางยู้มารดานางซิ่วยังมีชีวิตอยู่ ผู้จัดการมรดกจึงไม่ได้กระทำอะไรแทนนางซิ่ว นางยู้คงมีสิทธิเป็นเจ้าของที่ดิน 3 โฉนดนี้ทุกแปลง ๆ ละ 3 ใน 7 ส่วน

เมื่อนางยู้ตายในปี พ.ศ. 2490 ที่ดิน 3 ใน 7 ส่วนทั้ง 3 โฉนดเป็นมรดกของนางยู้ตกได้แก่ทายาทของนางยู้คือบุตรของนางยู้ที่เกิดจากสามีเก่าและสามีใหม่มรดกของนางยู้ไม่มีผู้จัดการมรดกคงมีแต่ทายาท ทายาททุกคนไม่อยู่ในฐานะจัดการมรดกแทนทายาทอื่น ถ้านางซิ่วฟ้องขอให้แบ่งมรดกภายใน 1 ปี นางซิ่วก็มีสิทธิขอแบ่งมรดกนางยู้ 3 ใน 7 ส่วนของที่ดินทั้ง 3 แปลง ถ้ามิได้ฟ้องภายใน 1 ปี ก็ต้องห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 เว้นแต่นางซิ่วจะได้ครอบครองทรัพย์มรดกตามที่บัญญัติไว้ มาตรา 1748 หมายความว่า เมื่อล่วงพ้นกำหนดอายุความ 1 ปีแล้ว ทายาทที่ครอบครองมรดกเรียกให้แบ่งทรัพย์มรดกได้เฉพาะทรัพย์ที่ตนครอบครองเท่านั้น เว้นแต่ทรัพย์มรดกนั้นไม่มีทายาทคนใดครอบครองเลย ซึ่งในกรณีเช่นนี้ทรัพย์มรดกนั้นทายาทเป็นเจ้าของร่วมกัน ตามมาตรา 1754 เมื่อนางซิ่วได้ครอบครองที่ดินมรดกโฉนดที่ 446 แปลงเดียว ส่วนที่ดินโฉนดที่ 942 และ 943จำเลยทั้งห้าเป็นผู้ครอบครอง นางซิ่วก็มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งเฉพาะที่ดินที่ตนครอบครอง โจทก์จะอ้างการจัดการมรดกของนายโฮถุนเป็นการกระทำแทนนางซิ่วหาได้ไม่

โจทก์ฎีกาว่า การจัดการมรดกยังไม่เสร็จ ต้องมีการแสดงบัญชีข้อนี้ศาลฎีกาเห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกนายโฮถุน โจทก์ไม่ใช่ทายาทของนายโฮถุน ผู้จัดการมรดกไม่มีหน้าที่จะต้องแสดงบัญชีต่อผู้ที่ไม่ใช่ทายาท

โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ได้อ้างพยานหลักฐานเพิ่มเติมเมื่อสืบพยานโจทก์หมดแล้ว เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลควรให้โจทก์อ้างได้ เพราะสามารถชี้ข้อเท็จจริงได้ชัด ข้อนี้ศาลฎีกาเห็นพ้องกับศาลอุทธรณ์ว่าหาทำให้การวินิจฉัยคดีเปลี่ยนแปลงไปไม่ เพราะพยานหลักฐานที่โจทก์ขออ้างว่าที่ดิน 2 โฉนดนั้นได้มีการเสียภาษีในนามของนางยู้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2480 ถึงปี พ.ศ. 2506 การเสียภาษีในนามของนางยู้ ไม่เป็นการแสดงว่านางซิ่วครอบครองที่ดิน 2 โฉนดนั้นแต่อย่างใด

โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ควรได้ส่วนแบ่งมากกว่า 3 ใน 70 ส่วน เพราะเหตุสุดวิสัยได้ส่วนแบ่งไปแล้ว นายรัตน์ นางบี๋ นางประยูร มิได้โต้แย้งเข้ามาในคดีนี้ คงเหลือแต่โจทก์กับจำเลยทั้งห้า ควรแบ่งมรดกนางยู้ที่มี 3 ใน 7 ส่วนนั้นเฉพาะโจทก์จำเลย 6 ส่วน ข้อนี้ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เป็นประเด็นไว้ว่า คนทั้งสี่นี้หมดสิทธิหรือสละสิทธิรับมรดก และโจทก์ได้สิทธิอันใดที่เกินกว่าสิทธิของทายาทคนหนึ่ง จะมาอ้างในชั้นอุทธรณ์ฎีกาหาได้ไม่

โจทก์ฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้โจทก์ได้รับส่วนแบ่งค่าเช่าที่ดินโฉนดที่ 446 ตั้งแต่วันฟ้องนั้นไม่ถูก โจทก์ควรได้รับส่วนแบ่งค่าเช่าตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2505 ซึ่งเป็นเดือนที่ให้เช่า ฝ่ายจำเลยก็ฎีกาขึ้นมาด้วยว่า คำขอท้ายฟ้องโจทก์มิได้ขอให้จำเลยแบ่งค่าเช่าแก่โจทก์ แม้ในคำฟ้องจะได้กล่าวถึงเรื่องจำเลยให้เช่าที่ดินโฉนดที่ 446 ได้ค่าเช่าเดือนละ 12,000 บาทไว้ก็ดี แต่โจทก์มิได้คิดค่าเช่าตั้งแต่วันเช่าถึงวันฟ้องรวมเป็นทุนทรัพย์เข้ามาด้วย และศาลมิได้กำหนดประเด็นเรื่องค่าเช่าไว้เลยคำขอของโจทก์ข้อ 2, 3 โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 แสดงบัญชีจัดการมรดกถึงวันฟ้อง บังคับให้จำเลยส่งมอบทรัพย์ที่ได้จากดอกผลทั้งหมดแล้วแบ่งให้โจทก์โดยส่วน และบังคับให้จำเลยแบ่งดอกผลและรายได้จากกองมรดกตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบทรัพย์ส่วนของโจทก์ไว้ คำขอนี้จำเลยก็ให้การตัดฟ้องว่าเป็นฟ้องเคลือบคลุม

ศาลฎีกาได้วินิจฉัยฎีกาของโจทก์จำเลยในข้อนี้รวมกันไป และศาลฎีกาเห็นว่าเรื่องนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าที่ดินทั้ง 3 โฉนดเป็นมรดก และมิห้องแถวตึกแถวเป็นอาคารพาณิชย์บนที่ดินนี้ จำเลยเก็บรายได้มาแบ่งปันให้ทายาทเฉพาะที่ดินโฉนดที่ 446 ต่อมาเมื่อเดือนสิงหาคม 2505 จำเลยให้นางสุนีรัตน์เช่า ได้ค่าเช่าเดือนละ 12,000 บาท ขอให้คิดบัญชีแบ่งดอกผลให้โจทก์ตามส่วน และแบ่งดอกผลตั้งแต่วันฟ้องต่อไป จำเลยก็ไม่ปฏิเสธว่าไม่มีรายได้ กลับรับว่าเอารายได้มาแบ่งให้พวกของจำเลยซึ่งเป็นทายาทของนายโฮถุน บุตรสามีเก่าของนางยู้ไม่ใช่ทายาท ดังนี้ จำเลยจะอ้างว่าเป็นฟ้องเคลือบคลุมหาได้ไม่ หากโจทก์มีสิทธิได้ส่วนแบ่งตัวทรัพย์มรดกที่ให้เช่า โจทก์ก็ย่อมได้ส่วนแบ่งดอกผลด้วย โจทก์ขอให้จำเลยเอาดอกผลรายได้มาแบ่ง และให้แบ่งตั้งแต่วันฟ้องต่อไปด้วย ศาลฎีกาเห็นว่า ต้องแบ่งค่าเช่าให้โจทก์ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2505 จนถึงวันฟ้องด้วย

ฎีกาของจำเลยข้ออื่น ๆ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า

จำเลยฎีกาว่า คำสั่งศาลที่อนุญาตให้โจทก์ฟ้องความอย่างคนอนาถา ย่อมเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 วรรค 3 นั้น ต้องตีความว่าเป็นที่สุดแต่ในชั้นไต่สวนอนาถา เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาแล้ว จำเลยเห็นว่าจำเลยมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาเพราะไม่มีกฎหมายห้าม ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อมีมาตรา 156 วรรค 3 ดังกล่าวข้างต้นบัญญัติใช้คำสั่งอนุญาตเป็นที่สุดแล้ว ย่อมอุทธรณ์ฎีกาอีกไม่ได้ ไม่ว่าก่อนหรือหลังศาลพิพากษา มิฉะนั้น ก็ไม่เป็นที่สุดตามที่บัญญัติไว้

จำเลยฎีกาว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุม เพราะมิได้บรรยายว่าสินเดิมของนางยู้มีทรัพย์อะไรบ้าง จึงไม่มีประเด็นที่จะให้โจทก์นำสืบเรื่องสินเดิมของนางยู้ได้ข้อนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยต้องกันว่า โจทก์มิได้ฟ้องให้เอาสินสมรสใช้สินเดิมเป็นแต่บรรยายแสดงถึงสิทธิในการขอแบ่งสินสมรส จึงไม่ต้องระบุว่ามีทรัพย์อะไรเป็นสินเดิมไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม ศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยไว้แล้วตามคำพิพากษาฎีกาที่ศาลชั้นต้นอ้างและฎีกาที่ 1080/2497

ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลล่างทั้งสองฟังว่านางยู้มีสินเดิมชอบแล้ว

จำเลยฎีกาว่า ได้ตกลงแบ่งมรดกมาก่อนนางยู้ตาย เมื่อนางยู้ตายจึงไม่มีทรัพย์อะไรตกเป็นมรดก ข้อนี้ฟังไม่ได้ดังจำเลยฎีกา มรดกนี้มีผู้จัดการเมื่อยังมิได้แบ่งให้ทายาททุกคน การจัดการมรดกยังไม่เสร็จ การแบ่งมรดกต้องแบ่งตัวทรัพย์หรือเงินราคาตามมาตรา 1750 ห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หากตกลงเป็นอย่างอื่นจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ

จำเลยฎีกาว่า เป็นหน้าที่โจทก์จะต้องนำสืบว่า เมื่อนางยู้ตายนางซิ่วเลิกการเป็นผู้อาศัย และแสดงออกโดยการกระทำหรือเจตนาครอบครองที่ดิน ในฐานะผู้รับมรดกร่วมกับจำเลย ศาลฎีกาเห็นว่าไม่มีกฎหมายอย่างจำเลยฎีกา เมื่อนางยู้ตายทรัพย์มรดกของนางยู้ตกทอดแก่ทายาท และมาตรา 1745 บัญญัติว่า ถ้ามีทายาทหลายคนทายาทเหล่านั้นมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับทรัพย์มรดกร่วมกันจนกว่าจะได้แบ่งมรดกกันเสร็จแล้วและให้ใช้มาตรา 1356 ถึงมาตรา 1366 อันว่าด้วยกรรมสิทธิ์รวมบังคับ หาจำต้องแสดงเจตนาครอบครองต่อจำเลยไม่เมื่อนางซิ่วครอบครองทรัพย์มรดกก็มีสิทธิเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกได้ จำเลยจะไปประกาศรับโอนมรดกอย่างใดหาอาจจะใช้ยันนางซิ่วได้ไม่และจำเลยจะอ้างอายุความครอบครอง 10 ปีตามมาตรา 1382 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาใช้ยันนางซิ่วก็ไม่ได้เพราะนางซิ่วกับจำเลยครอบครองร่วมกัน ส่วนอายุความ 1 ปี จำเลยก็ยกขึ้นต่อสู้โจทก์ไม่ได้ เพราะจำเลยมิได้เป็นทายาทของนางซิ่ว

จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้จำเลยแบ่งค่าเช่าที่ดินโฉนดที่ 446 เดือนละ 12,000 บาท ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2505จนถึงวันฟ้องให้แก่โจทก์อีกด้วย โดยคำนวณตามส่วนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาไว้ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share