คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1586/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ข้อความในสัญญาเช่าฉางระบุว่าจำเลยเป็นผู้ให้เช่าฉางของจำเลยแต่ผู้เดียวโดยมิได้ระบุว่าเป็นตัวแทนผู้ใดต้องถือว่าจำเลยยอมผูกพันตนเองเข้ารับผิดตามสัญญาเป็นการส่วนตัวการที่จำเลยนำพยานบุคคลเข้าสืบว่าตนกระทำในฐานะเป็นตัวแทนโดยไม่ยอมรับผิดเป็นส่วนตัวจึงเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญาต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา94 โจทก์เช่าฉางจากจำเลยแล้วนำข้าวเปลือกเก็บไว้โดยจำเลยเป็นผู้รับและจ่ายข้าวเปลือกคืนโจทก์เข้าลักษณะฝากทรัพย์เมื่อข้าวเปลือกที่ฝากขาดหายไปจากการครอบครองของจำเลยผู้รับฝากการที่โจทก์ผู้ฝากฟ้องเรียกราคาข้าวเปลือกที่ฝากคืนจากจำเลยซึ่งมิได้มีบทกฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับอายุความในเรื่องนี้ไว้จึงต้องใช้อายุความทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา164เดิมซึ่งมีอายุความสิบปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2523 จำเลยตกลงให้โจทก์เช่าฉางสำหรับเก็บรักษาข้าวเปลือก 2 ฉาง ของจำเลยมีกำหนด 12 เดือน นับแต่วันที่ 26 มกราคม 2523 ถึงวันที่25 มกราคม 2524 อัตราค่าเช่าฉางชำระเป็นรายปีตามความจุของฉาง โดยคิดค่าเช่าในอัตราเกวียนละ 110 บาท แบ่งชำระค่าเช่าเป็น 2 งวด งวดแรกภายใน 60 วัน นับแต่วันทำสัญญา งวดที่ 2ภายใน 60 วัน นับแต่วันสิ้นสุดสัญญา โจทก์นำข้าวเปลือกเจ้ารวมทั้งสิ้น 868,857.50 กิโลกรัม เก็บฝากในฉางของจำเลยตามสัญญาต่อมาวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2524 โจทก์ได้นำข้าวเปลือกที่เก็บรักษาออกจากฉางครั้งสุดท้าย ปรากฏว่าไม่มีข้าวเปลือกเหลืออยู่ในฉางข้าวเปลือกเจ้าชนิด 10-15 เปอร์เซ็นต์ สูญหายและขาดจำนวนไป6,501 กิโลกรัม ชนิด 20-25 เปอร์เซ็นต์ สูญหายและขาดจำนวนไป85,007 กิโลกรัม เมื่อหักข้าวเปลือกยุบตัวตามสภาพ 2 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนข้าวเปลือกแต่ละชนิดแล้ว ข้าวเปลือกเจ้าชนิด 10-15เปอร์เซ็นต์ สูญหายและขาดจำนวนไป 4,811.58 กิโลกรัม คิดเป็นเงิน14,434.74 บาท ชนิด 20-25 เปอร์เซ็นต์ สูญหายและขาดจำนวนไป69,566.86 กิโลกรัม คิดเป็นเงิน 201,743.89 บาท รวมทั้งสิ้น216,178.63 บาท และเมื่อหักค่าเช่าฉางและค่ากรรมกรในการแบกขนข้าวที่จำเลยมีสิทธิได้รับจากโจทก์จำนวน 21,326.23 บาทแล้วคงเหลือหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดชำระต่อโจทก์เป็นเงิน 194,852.40 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ข้าวไม่เหลืออยู่ในฉาง คือวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2524 ถึงวันฟ้องซึ่งโจทก์ขอคิดเป็นเวลา 5 ปี เป็นเงิน 73,069 บาท รวมเป็นเงิน 267,922 บาทขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 267,922 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงินจำนวน 194,852.40 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยมีฉางข้าว ไม่เคยทำสัญญารับฝากข้าวกับโจทก์ในฐานะส่วนตัว เมื่อประมาณปี 2522 จำเลยเป็นประธานกลุ่มเกษตรกรทำนาหัวสำโรง ซึ่งมีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการโรงสี กลุ่มเกษตรกรดังกล่าวได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าข้าวประเภทสีข้าว และจดทะเบียนการค้าประกอบการค้าข้าวประเภท 6คลังสินค้ารับฝากข้าวเปลือกจากองค์การตลาดเพื่อเกษตรกรและโรงสีชนิด 1 การสีข้าวใช้ชื่อผู้ประกอบการค้า คือกลุ่มเกษตรกรทำนาหัวสำโรง และได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการโรงสีกลุ่มเกษตรกรอำเภอท่าวุ้ง ที่สำนักงานเกษตรอำเภอท่าวุ้ง เมื่อวันที่24 มกราคม 2523 ในที่ประชุมมอบหมายให้จำเลยเป็นผู้มีอำนาจกระทำนิติกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำสัญญาเช่าฉางและแปรสภาพข้าวเปลือกกับโจทก์ ขณะนั้นจำเลยมีตำแหน่งเป็นรองผู้จัดการโรงสีกลุ่มเกษตรกรได้ลงลายมือชื่อแทนคณะกรรมการโรงสีกลุ่มเกษตรกร ซึ่งมีมติให้ทางโรงสีดำเนินการรับฝากข้าวเปลือกจากโจทก์ จำเลยทำสัญญาเช่าฉางตามฟ้องภายในขอบอำนาจของตัวแทน หลังจากทำสัญญาแล้ว โจทก์ได้นำข้าวเปลือกเข้ามาเก็บฝากและเบิกจ่ายออกไปจากฉางครบถ้วนแล้วกลุ่มเกษตรกรโดยมีจำเลยเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทน จึงได้ถอนเงินประกันจากธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาลพบุรี จำนวน 2,000,000 บาทโดยฝ่ายโจทก์มิได้คัดค้าน จำเลยไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์มิได้ฟ้องเรียกให้ชำระราคาข้าวเปลือกที่ขาดหายไปภายใน 10 ปี นับแต่เดือนธันวาคม 2523 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาเช่าฉางตามเอกสารหมาย จ.5 หรือ ล.3 ไว้และโจทก์ได้นำข้าวเปลือกเข้าเก็บ จำเลยรับไว้และจ่ายข้าวออกมาให้โจทก์ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยทำสัญญาให้เช่าฉางในฐานะเป็นตัวแทนกระทำการแทนโรงสีกลุ่มเกษตรกรทำนาหัวสำโรงหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า เอกสารหมาย ล.2 ไม่ใช้หลักฐานหรือหนังสือมอบอำนาจให้จำเลยทำสัญญาแทนโรงสีกลุ่มเกษตรกรทำนาหัวสำโรง การเช่าฉาง ซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ต้องทำเป็นหนังสือเมื่อไม่มีหนังสือมอบอำนาจตั้งให้จำเลยเป็นตัวแทนการกระทำของจำเลยจึงผูกพันเฉพาะตัวจำเลย ไม่ผูกพันโรงสีกลุ่มเกษตรกรทำนาหัวสำโรงการที่จำเลยนำพยานบุคคลเข้าสืบเพิ่มเติมเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารหมาย จ.5 จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 รับฟังไม่ได้นั้น เห็นว่า เอกสารหมาย ล.2 เป็นเพียงสำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการโรงสีกลุ่มเกษตรกรอำเภอท่าวุ้งมีมติให้จำเลยทำสัญญาให้การเช่าฉางและแปรสภาพข้าวเปลือกกับโจทก์แทนเท่านั้น ยังถือไม่ได้ว่าเป็นหนังสือตั้งตัวแทนหรือมอบอำนาจให้ทำแทน และตามเอกสารหมาย จ.5 มีข้อความในสัญญาปรากฎชัดเจนว่าจำเลยเป็นผู้ให้เช่าฉางของจำเลยแต่ผู้เดียว โดยมิได้ระบุว่าเป็นตัวแทนผู้ใด เช่นนี้ ต้องถือว่าจำเลยยอมผูกพันตนเองเข้ารับผิดตามสัญญาเป็นการส่วนตัว ฉะนั้น การที่จำเลยนำพยานบุคคลเข้าสืบว่าตนได้กระทำในฐานะเป็นตัวแทนโดยไม่ยอมรับผิดเป็นส่วนตัว จึงเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญาต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 พยานโจทก์ที่นำสืบประกอบเอกสารหมาย จ.5 จึงฟังได้ว่า จำเลยให้เช่าฉางเป็นการส่วนตัว มิใช่ทำแทนโรงสีกลุ่มเกษตรกรทำนาหัวสำโรง จำเลยจึงต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวส่วนปัญหาที่ว่า จำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ค่าข้าวเปลือกที่ฝากไว้ในฉางที่เช่าให้โจทก์เพียงใด และคดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยนั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเลยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลดังกล่าววินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวก่อน พยานหลักฐานโจทก์ที่นำสืบจึงมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยจ่ายข้าวเปลือกให้โจทก์ขาดไปจริงตามฟ้อง มีปัญหาต่อไปว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ตามข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบได้ความว่าโจทก์เช่าฉางจากจำเลยแล้วนำข้าวเปลือกเข้าเก็บไว้ โดยจำเลยเป็นผู้รับและจ่ายข้าวเปลือกคืนโจทก์ เข้าลักษณะฝากทรัพย์ไว้กับจำเลย เมื่อข้าวเปลือกที่ฝากขาดหายไปจากการครอบครองของผู้รับฝากการที่ผู้ฝากฟ้องเรียกราคาข้าวเปลือกที่ฝากคืนจากผู้รับฝากซึ่งมิได้มีบทกฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับอายุความในเรื่องนี้ไว้จึงต้องใช้อายุความทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/30 (164 เดิม) ซึ่งมีอายุความสิบปี โจทก์สั่งจ่ายข้าวเปลือกจากจำเลยครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2524และได้ทราบว่าข้างเปลือกขาดหายไป อายุความจึงเริ่มนับแต่วันดังกล่าวหาใช่เริ่มนับแต่เดือนธันวาคม 2523 ดังที่จำเลยอ้างโจทก์ฟ้องคดีวันที่ 11 มกราคม 2534 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 267,922 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 194,852.40 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

Share