คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13678/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคหนึ่ง อันเป็นหลักทั่วไปในเรื่องหนี้ที่มีบทบัญญัติว่า “ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ ท่านว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป” ก็ดี และตาม ป.พ.พ. มาตรา 656 วรรคสอง อันเป็นบทบัญญัติเฉพาะในเรื่องเอกเทศสัญญา ลักษณะยืม ที่มีบทบัญญัติว่า “ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกัน และผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมไซร้ หนี้อันระงับไปเพราะการชำระเช่นนั้น ท่านให้คิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ” ก็ดี ล้วนมีองค์ประกอบสำคัญว่าต้องเป็นกรณีที่เจ้าหนี้หรือผู้ให้กู้ยืมยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ทั้งสิ้น ซึ่งตามที่ ป.พ.พ. มาตรา 656 วรรคสาม มีบทบัญญัติว่า “ความตกลงกันอย่างใด ๆ ขัดกับข้อความดังกล่าวมานี้ ท่านว่าเป็นโมฆะ” นั้น มีความหมายว่า เมื่อผู้ให้กู้ยืมยินยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมแล้ว หากมีข้อตกลงให้คิดมูลค่าสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นที่ชำระนอกเหนือไปจากจำนวนราคาตามท้องตลาดในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ ก็ถือว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นโมฆะ ดังนี้ การยินยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมจึงเป็นสิทธิของผู้ให้กู้ยืมฝ่ายเดียวที่จะยินยอมหรือไม่ก็ได้ สัญญากู้ยืมเงิน ข้อ 6 ที่มีข้อความว่า “คู่สัญญาตกลงกันว่า ผู้กู้จะชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระเงินไม่ได้เป็นอันขาด” มิได้ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมายใด จึงหาเป็นโมฆะไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 270,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 75,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 29 เมษายน 2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความ 4,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 270,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 29 เมษายน 2554 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ (เฉพาะดอกเบี้ยถึงวันฟ้องวันที่ 15 พฤษภาคม 2556 ให้ไม่เกิน 30,000 บาท ตามที่โจทก์ขอ) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์เป็นลูกค้าผู้ติดต่อซื้ออะไหล่รถยนต์แท็กซี่จากจำเลยมาหลายปี เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2554 จำเลยขอกู้ยืมเงิน 270,000 บาท จากโจทก์ ตกลงให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และกำหนดชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยคืนภายในวันที่ 28 เมษายน 2554 โดยมีการทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยเป็นผู้กู้ไว้ตามสัญญากู้ยืมเงิน จำเลยได้รับเงินที่กู้ยืมจากโจทก์ในวันทำสัญญานั้นแล้ว การกู้ยืมเงินดังกล่าวจำเลยสั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาบางยี่ขัน ลงวันที่ 28 เมษายน 2554 จำนวนเงิน 270,000 บาท ให้โจทก์ แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินในวันที่ 28 เมษายน 2554 ด้วยเหตุผลว่า เงินในบัญชีไม่พอจ่ายตามใบคืนเช็ค โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาต่อศาลชั้นต้นกล่าวหาว่าจำเลยออกเช็ค โดยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค แต่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่า จำเลยออกเช็ค เพื่อประกันหนี้เงินกู้ กรณีไม่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ตามสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3525/2556 ของศาลชั้นต้น คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยต้องชำระเงินให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เพียงไร โดยจำเลยอ้างในฎีกาว่า สัญญากู้ยืมเงิน ข้อ 6 ที่มีข้อความว่า “คู่สัญญาตกลงกันว่า ผู้กู้จะชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระเงินไม่ได้เป็นอันขาด” เป็นสัญญาซึ่งมีเงื่อนไขที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นโมฆะ โจทก์ยอมรับสินค้าอะไหล่รถยนต์มูลค่า 270,345 บาท จากจำเลย แล้วคืนซีลคอหลัง 1,000 ตัว มูลค่า 75,000 บาท แก่จำเลย จึงต้องถือว่าจำเลยได้ชำระหนี้ให้โจทก์แล้วบางส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 656 วรรคสอง
โจทก์นำสืบว่า หลังจากธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินเช็คแล้ว โจทก์ทวงถามจำเลยให้ชำระหนี้ แต่จำเลยเพิกเฉย
จำเลยนำสืบว่า โจทก์กับจำเลยตกลงกันด้วยวาจาเพิ่มเติมสัญญากู้ยืมเงิน ให้จำเลยส่งสินค้าอะไหล่รถยนต์แท็กซี่แก่โจทก์ตามจำนวนเงินที่กู้ยืม หลังจากนั้นจำเลยส่งสินค้าอะไหล่รถยนต์แท็กซี่เพื่อเป็นการชำระหนี้แก่โจทก์ตามใบส่งของแล้ว
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 วรรคหนึ่ง อันเป็นหลักทั่วไปในเรื่องหนี้ที่มีบทบัญญัติว่า “ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ ท่านว่าหนี้นั้นก็เป็นอันระงับสิ้นไป” ก็ดี และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 656 วรรคสอง อันเป็นบทบัญญัติเฉพาะในเรื่องเอกเทศสัญญา ลักษณะยืม ที่มีบทบัญญัติว่า “ถ้าทำสัญญากู้ยืมเงินกัน และผู้ให้กู้ยืมยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมไซร้ หนี้อันระงับไปเพราะการชำระเช่นนั้น ท่านให้คิดเป็นจำนวนเท่ากับราคาท้องตลาดแห่งสิ่งของหรือทรัพย์สินนั้นในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ” ก็ดี ล้วนมีองค์ประกอบสำคัญว่าต้องเป็นกรณีที่เจ้าหนี้หรือผู้ให้กู้ยืมยอมรับการชำระหนี้อย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ทั้งสิ้น ซึ่งตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 656 วรรคสาม มีบทบัญญัติว่า “ความตกลงกันอย่างใด ๆ ขัดกับข้อความดังกล่าวมานี้ ท่านว่าเป็นโมฆะ” นั้น มีความหมายว่า เมื่อผู้ให้กู้ยืมยินยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมแล้ว หากมีข้อตกลงให้คิดมูลค่าสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นที่ชำระนอกเหนือไปจากจำนวนราคาตามท้องตลาดในเวลาและ ณ สถานที่ส่งมอบ ก็ถือว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นโมฆะ ดังนี้ การยินยอมรับเอาสิ่งของหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นการชำระหนี้แทนเงินที่กู้ยืมจึงเป็นสิทธิของผู้ให้กู้ยืมฝ่ายเดียวที่จะยินยอมหรือไม่ก็ได้ สัญญากู้ยืมเงิน ข้อ 6 มิได้ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมายใด จึงหาเป็นโมฆะดังที่จำเลยอ้างในฎีกาไม่ อนึ่ง จำเลยให้การโดยชัดแจ้งว่า สัญญากู้ยืมเงิน ไม่มีมูลหนี้แต่เป็นหลักประกันข้อตกลงการแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่จำเลยให้โจทก์ยึดถือไว้ ฉะนั้น ข้อนำสืบของจำเลยที่ว่า จำเลยได้รับเงินกู้ตามสัญญากู้ยืมเงินจริง แต่มีข้อตกลงด้วยวาจาเพิ่มเติมให้จำเลยชำระหนี้ด้วยการส่งสินค้าอะไหล่รถยนต์แท็กซี่แก่โจทก์ตามจำนวนเงินที่กู้ยืมและจำเลยส่งสินค้าอะไหล่รถยนต์แท็กซี่ชำระหนี้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว จึงเป็นการนำสืบนอกประเด็นข้อพิพาทซึ่งโจทก์ไม่มีโอกาสนำสืบหักล้างให้ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติ ทั้งนายมาชัย ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ ก็เบิกความตอบทนายโจทก์ถามติงว่า หนี้ตามฟ้องยังไม่มีการหักกลบลบหนี้กัน ข้ออ้างในฎีกาของจำเลยที่เกี่ยวกับการนำสืบนอกประเด็นข้อพิพาทดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย หากจำเลยเป็นเจ้าหนี้ค่าสินค้าอะไหล่รถยนต์แท็กซี่ที่ส่งให้โจทก์จริงก็เป็นเรื่องที่จำเลยต้องไปว่ากล่าวเป็นคดีอื่น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยยังไม่ได้ชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share