คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1366/2479

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

นายอำเภอสอบสวนผู้ต้องหาในคดีอาญา แล้วส่งสำนวนการสอบสวนไปให้อัยยการฟ้องโดยไม่บันทึกในสำนวนการสอบสวนลงไปว่าผู้ต้องหาได้ถูกคุมขังมาบ้างแล้วในชั้นกรมการอำเภอ เมื่อศาลพิพากษาให้ปรับผู้ต้องหา ๆ ต้องจำแทนค่าปรับตามคำพิพากษาโดยมิได้นับวันคุมขังชั้นกรมการอำเภอรวมเข้าด้วยจึงเป็นเหตุให้ผู้ต้องหาถูกคุมขังเกินกำหนดไปดังนี้จำเลยยังไม่มีผิดตามกฎหมายข้างต้น

ย่อยาว

คดีนี้ได้ความว่าโจทก์ต้องหาเรื่องผิด พ.ร.บ.สุรา จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นนายอำเภอ จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเสมียนเป็นผู้จดบันทึกการสอบสวนโจทก์ชั้นกรมการอำเภอ เมื่อสอบสวนแล้วได้ส่งตัวโจทก์ไปยังพนักงานอัยยการเพื่อฟ้องศาล ปรากฎว่าโจทก์ต้องถูกคุมขังอยู่ชั้นกรมการอำเภอรวม ๓ วัน แต่จำเลยหาได้บันทึกลงในสำนวนการสอบสวนด้วยไม่ว่าโจทก์ต้องคุมขังในชั้นกรมการอำเภอแต่เมื่อใด เหตุนี้พนักงานอัยยการจึงยื่นฟ้องโจทก์และกล่าวในฟ้องว่า โจทก์ต้องคุมขังอยู่ตั้งแต่วันที่เจ้าพนักงานอัยยการได้รับสำนวนการสอบสวนจากกรมการอำเภอ โจทก์ให้การรับสารภาพในคดีนั้น จึงได้พิพากษาให้ปรับโจทก์ ๆ ต้องจำแทนค่าปรับอยู่ ๒๐ วันโดยมิได้นับแต่วันที่โจทก์ต้องคุมขังชั้นกรมการอำเภอรวมเข้าด้วย เป็นเหตุให้โจทก์ต้องถูกคุมขังเกินไป ๓ วัน โจทก์จึงฟ้องขอให้ลงโทษตาม ม.๒๗๐ -๒๗๑
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๗๘ มีว่าให้บันทึกการสอบสวนวันส่งจากอำเภอไปจังหวัด ฯลฯ เห็นว่าจำเลยมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งจึงให้ปรับจำเลยตาม ม.๒๗๑
ศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นเหตุโดยตรงให้นับวันต้องขังของโจทก์ผิดจากความจริง เพราะเมื่อผู้ต้องหาถูกจับตัวมาส่งกรมการอำเภอ ๆ รับไว้สอบสวนแล้ว เมื่อไม่มีคำสั่งให้ปล่อยหรือหลักฐานแสดงว่าผู้ต้องหามีประกัน ก็ต้องถือว่าผู้ต้องหานั้นยังต้องคุมขังอยู่ จะถือว่าผู้ต้องหาไม่ได้ถูกคุมขังนั้นหาเป็นการชอบไม่ ทั้งตามฟ้องของอัยยการในคดีก่อนเมื่อโจทก์เห็นว่าฟ้องผิดจากความจริงก็เป็นหน้าที่ตนจะต้องคัดค้านและแถลงให้ศาลทราบ กลับให้การรับสารภาพตามฟ้อง เห็นว่าเหตุที่โจทก์ต้องขังเกินไปนี้ไม่ใช่เพราะเหตุจำเลยไม่จดบันทึกโดยตรง จึงพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์

Share