คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1361/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

นิติบุคคลเป็นผู้รับมอบอำนาจฟ้องคดีแทนได้ เพราะไม่มีกฎหมาย บัญญัติห้ามไว้
โจทก์จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าพิพาทไว้ในต่างประเทศและใช้เครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้าน้ำมันหล่อลื่นของโจทก์ ต่อมาโจทก์แต่งตั้งให้จำเลยเป็นตัวแทนจำหน่ายน้ำมันหล่อลื่นของโจทก์ในประเทศไทย จำเลยได้นำเครื่องหมายการค้าพิพาทไปจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลยในประเทศไทย ดังนี้ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้ เพราะโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าจำเลย ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพุทธศักราช 2474 มาตรา 41และการฟ้องขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรานี้ ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความฟ้องร้องไว้จึงมีอายุความฟ้องร้อง10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 164 โดยเริ่มนับแต่วันที่จำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า อันเป็นวันที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 169โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันที่จำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาท คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
หลังจากที่โจทก์ได้บอกเลิกไม่ให้จำเลยเป็นตัวแทนจำหน่ายน้ำมันหล่อลื่นของโจทก์แล้ว จำเลยได้เอาน้ำมันหล่อลื่นจากที่อื่นมาจำหน่ายแต่ยังคงใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทกับน้ำมันหล่อลื่นของจำเลย การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการเอาสินค้าของจำเลยไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของโจทก์จึงเป็นการละเมิดต่อ โจทก์โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช2474มาตรา 29 วรรคสองจำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ตลอดมาต่อเนื่องกันถึงวันฟ้องและโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายย้อนหลังจากวันฟ้องเพียง 1 ปีคดีของโจทก์ในส่วนนี้ก็ไม่ขาดอายุความเช่นเดียวกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า “BEL RAY”ใช้กับสินค้าน้ำมันหล่อลื่นของโจทก์ โดยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและประทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ โจทก์ได้แต่งตั้งให้จำเลยเป็นตัวแทนจำหน่ายน้ำมันหล่อลื่นของโจทก์ในประเทศไทย ต่อมาโจทก์ทราบว่า จำเลยได้นำเอาเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ประเทศไทย โจทก์จึงบอกเลิกไม่ให้จำเลยเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์อีกต่อไป จำเลยได้ตกลงกับโจทก์ว่าจะโอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่จำเลยได้จดทะเบียนไว้นั้นให้แก่โจทก์ แต่จำเลยก็ไม่จัดการโอนให้ จึงขอให้บังคับจำเลยโอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวให้แก่โจทก์ ถ้าไม่อาจกระทำได้ก็ขอให้ศาลเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายดังกล่าวเสียและให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่นิติบุคคลไม่มีอำนาจฟ้อง ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เป็นนิติบุคคลจึงขัดต่อกฎหมาย ทั้งใบมอบอำนาจไม่สมบูรณ์ เครื่องหมายการค้าตามฟ้องเป็นของจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิห้ามมิให้จำเลยใช้หรือขอให้เพิกถอนและไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้า BEL RAYที่จำเลยจดทะเบียนไว้ ให้จำเลยเปลี่ยนชื่อของจำเลยโดยมิให้มีคำว่า BELRAYรวมอยู่ด้วย และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ที่จำเลยฎีกาว่านิติบุคคลไม่อาจเป็นผู้รับมอบอำนาจในการฟ้องคดีนั้น เห็นว่าไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายห้ามไม่ให้นิติบุคคลเป็นผู้รับมอบอำนาจในการฟ้องคดี ทั้งตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.๑ ข้อ ๒ ก็ระบุวัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วนผู้รับมอบอำนาจว่า “ดำเนินการฟ้องร้อง ป้องกัน ต่อสู้คดีต่าง ๆ และดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ว่าจะเป็นในทางแพ่ง ทางอาญา ฯลฯ”ห้างหุ้นส่วนตามฟ้องจึงรับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ฟ้องคดีได้
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้ารายพิพาทซึ่งจดทะเบียนแล้วที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้ใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทกับสินค้าของโจทก์มาก่อนจำเลย จึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้ารายพิพาท
จำเลยฎีกาว่าคดีนี้เป็นเรื่องละเมิดมีอายุความ ๑ ปี โจทก์ฟ้องคดีเกิน ๑ ปีนับแต่โจทก์ทราบถึงการละเมิด พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายพิพาทของจำเลย โดยอ้างว่าโจทก์มีสิทธิที่จะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลยซึ่งเป็นการฟ้องคดีตามมาตรา ๔๑ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช ๒๔๗๔ ประการหนึ่ง และโจทก์ได้ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่โจทก์ได้รับเนื่องจากจำเลยเอาเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปใช้กับสินค้าของจำเลยอันเป็นการเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อละเมิดอีกประการหนึ่ง สำหรับในกรณีที่พิพาทกันว่าโจทก์หรือจำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารายพิพาทดีกว่ากัน ตามมาตรา ๔๑ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพุทธศักราช ๒๔๗๔ นั้น มิได้มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้ จึงต้องนำบทบัญญัติทั่วไปอันว่าด้วยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๔ ซึ่งมีกำหนด ๑๐ ปี มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งให้เริ่มนับตั้งแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๙ คือนับแต่วันจดทะเบียน โจทก์ฟ้องคดียังไม่เกิน ๑๐ ปีนับแต่วันจดทะเบียน คดีโจทก์ในประเด็นที่ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจึงไม่ขาดอายุความ ส่วนประเด็นที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดนั้น จำเลยนำสืบรับว่าหลังจากโจทก์ได้บอกเลิกไม่ให้จำเลยเป็นตัวแทนของโจทก์แล้ว จำเลยก็ยังได้สั่งน้ำมันหล่อลื่นจากสถาบันซินเททิคแห่งยุโรปมาขายแทนโดยใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตลอดมาแม้กระทั่งวันที่นายอภิชาติ กรรมการผู้จัดการของจำเลยมาเบิกความเป็นพยานจำเลยในคดีนี้ จำเลยก็ยังคงใช้อยู่ เห็นได้ว่าจำเลยยังคงกระทำละเมิดต่อโจทก์ตลอดมา และโจทก์ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนี้ย้อนหลังจากวันฟ้องเพียง ๑ ปี คดีโจทก์ในประเด็นนี้ก็ไม่ขาดอายุความเช่นเดียวกัน
ปัญหาข้อสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยมีว่า จำเลยจะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว พยานจำเลยคือนายอภิชาติ พิทยาพิบูลพงศ์ ซึ่งเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทจำเลยเบิกความรับว่า โจทก์ได้บอกเลิกการเป็นตัวแทนจำหน่ายน้ำมันดังกล่าวของจำเลย หลังจากนั้นจำเลยคงขายน้ำมันของโจทก์ที่ตกค้างอยู่ และได้นำน้ำมันหล่อลื่นชนิดใหม่จากสถาบันซินเทิคแห่งยุโรปมาจำหน่ายแทนโดยใช้เครื่องหมายการค้ารายพิพาทจนถึงขณะที่นายอภิชาติเบิกความ เห็นว่า การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการเอาสินค้าของจำเลยไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของโจทก์ จึงเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ตลอดมาโจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พุทธศักราช ๒๔๗๔ มาตรา ๒๙ วรรคสอง
พิพากษายืน

Share