คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1361/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในวันที่ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 และทนายไม่มาศาล ศาลชั้นต้นสั่งงดไต่สวนและสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 2 ต่อมาจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวและไต่สวนคำร้องขออนาถาใหม่ ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2517 ว่าจำเลยมิได้จงใจขาดนัดให้ไต่สวนคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาของจำเลยที่ 2 ใหม่ และมีคำสั่งลงวันที่ 9 เมษายน 2518 อนุญาตให้จำเลยที่ 2 อุทธรณ์อย่างคนอนาถา โจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลลงวันที่ 31 ตุลาคม 2517 ซึ่งโจทก์ได้โต้แย้งไว้แล้ว จึงหาใช่เป็นอุทธรณ์คำสั่งอนุญาตให้จำเลยอุทธรณ์อย่างคนอนาถาอันถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156วรรคสามไม่จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์
เมื่อศาลชั้นต้นสั่งงดการสืบพยานหลักฐานของจำเลยในชั้นไต่สวนอนาถาและสั่งยกคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาของจำเลยแล้ว จำเลยก็ชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ประกอบด้วยมาตรา 229 จำเลยไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวนั้นได้ เพราะศาลได้สั่งไปโดยชอบ แล้ว ทั้งไม่ใช่กรณีการขาดนัดพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 201 หรือ 202 ด้วย ดังนั้นคำสั่งของศาลชั้นต้นอนุญาตให้ไต่สวนคำร้องขออุทธรณ์อนาถาของจำเลยที่ 2 ใหม่ และคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 2 อุทธรณ์อย่างคนอนาถาได้ จึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ โดยจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถา ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 6 กันยายน 2517 ถึงวันนัดจำเลยที่ 2 และทนายไม่มาศาลและมิได้ยื่นบัญชีระบุพยาน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาของจำเลยที่ 2 โดยถือว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีพยานมาสืบ ต่อมาวันที่ 12 กันยายน 2517 จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นว่า เหตุที่ไม่มาศาลในวันนัดเพราะทนายจำเลยเข้าใจผิดว่าศาลนัดไต่สวนคำร้องในวันที่ 16 กันยายน 2517 ขอให้เพิกถอนคำสั่งเดิมแล้วไต่สวนคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาของจำเลยที่ 2 ต่อไป ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งลงวันที่ 31 ตุลาคม 2517 ว่า จำเลยที่ 2 มิได้จงใจขาดนัดให้ไต่สวนคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาของจำเลยที่ 2 ใหม่และมีคำสั่งลงวันที่ 9 เมษายน 2518 อนุญาตให้จำเลยที่ 2 อุทธรณ์อย่างคนอนาถา

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เป็นอุทธรณ์คำสั่งอนุญาตให้อุทธรณ์อย่างคนอนาถา ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 วรรคสาม พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าอุทธรณ์ของโจทก์เป็นการอุทธรณ์คำสั่งซึ่งถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 วรรคสามหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม2517 ให้ไต่สวนคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาของจำเลยที่ 2 ใหม่แล้ว โจทก์ได้ยื่นคำแถลงโต้แย้งลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2517 ไว้เพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์ฎีกาต่อไป และต่อมายังได้ยื่นคำร้องลงวันที่ 16 ธันวาคม 2517 ว่า จำเลยไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะร้องขอให้พิจารณาใหม่หรือขอให้เพิกถอนคำสั่งได้ เพราะไม่ใช่กรณีขาดนัดพิจารณา การที่ศาลชั้นต้นสั่งไต่สวนและสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 2 ไต่สวนคำร้องใหม่นั้นเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลชี้ขาดปัญหาข้อกฎหมายก่อนไต่สวนคำร้องขออนาถาว่า การที่ศาลสั่งให้ทำการไต่สวนอนาถาต่อไปนั้นทำได้หรือไม่ ศาลชั้นต้นสั่งว่ารอสั่งเมื่อไต่สวนแล้ว ต่อมาในวันที่ 9 เมษายน 2518 หลังจากศาลไต่สวนคำร้องขออนาถาเสร็จแล้ว จึงสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 2 อุทธรณ์อย่างคนอนาถาได้ และสั่งคำร้องฉบับลงวันที่ 16 ธันวาคม 2517 ของโจทก์ไปด้วยว่าคำสั่งลงวันที่ 31 ตุลาคม 2517 ของศาลชอบแล้ว โจทก์จึงอุทธรณ์ว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาของจำเลยที่ 2 ไปจำเลยที่ 2 มิได้อุทธรณ์คำสั่งนั้นกลับยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ ไม่มีกฎหมายใดบัญญัติให้ทำเช่นนั้นได้ แล้วมีคำขอให้ศาลอุทธรณ์เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นเสีย และเพิกถอนคำสั่งที่ให้จำเลยอุทธรณ์อย่างคนอนาถาด้วย ดังนี้เห็นว่า แแม้คำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์จะระบุว่าอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที่ 9 เมษายน 2518 ก็ตาม แต่เป็นที่เห็นได้ว่าโจทก์ประสงค์อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที่ 31 ตุลาคม2517 เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้โต้แย้งไว้แล้ว จึงชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งฉบับนี้หลังจากศาลมีคำสั่งลงวันที่ 9 เมษายน 2518 ได้ อุทธรณ์ของโจทก์หาใช่เป็นการอุทธรณ์คำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 2 อุทธรณ์อย่างคนอนาถา อันถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 วรคสาม ไม่ จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเลยทีเดียวว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นลงวันที่ 31 ตุลาคม 2517 เพิกถอนคำสั่งลงวันที่ 6 กันยายน 2517 และอนุญาตให้ไต่สวนคำร้องอนาถาต่อไปนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 6 กันยายน 2517 ว่าศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาของจำเลยที่ 2 ในวันที่ 6 กันยายน 2517 เวลา 13 นาฬิกา ถึงวันนัดจำเลยที่ 1 และทนายไม่มาศาล ทั้งจำเลยที่ 2 ไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานในชั้นขอไต่สวนอุทธรณ์อนาถาด้วย ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีพยานมาสืบแสดงให้ศาลเห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนอนาถา จึงให้ยกคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาของจำเลยที่ 2 เสีย ให้จำเลยที่ 2 นำค่าฤชาธรรมเนียมและเงินวางศาลในชั้นอุทธรณ์มาชำระต่อศาลภายใน 15 วันนับแต่วันได้รับหมายนัดมิฉะนั้นศาลจะสั่งไม่รับอุทธรณ์ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการสืบพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ในชั้นขอไต่สวนอนาถา และมีคำสั่งยกคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาของจำเลยที่ 2 ไปพร้อมกันเสียแล้ว หากจำเลยที่ 2 เห็นว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้งดการสืบพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ไม่ชอบด้วยประการใด ก็ชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งนั้นต่อไปตามกระบวนความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ประกอบด้วยมาตรา 229 จำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานและออกคำร้องอุทธรณ์อย่างคนอนาถาของจำเลยที่ 2 เพราะศาลชั้นต้นมิได้เข้าใจวันนัดไต่สวนอนาถาผิด ได้สั่งงดการไต่สวนและสั่งยกคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาโดยชอบ ทั้งกรณีดังกล่าวมิใช่เป็นการขาดนัดพิจารณาตามความหมายของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 201 หรือ 202 ด้วย ดังนั้นคำสั่งของศาลชั้นต้นลงวันที่ 31 ตุลาคม 2517 อนุญาตให้ไต่สวนคำร้องขออุทธรณ์อนาถาของจำเลยที่ 2 ใหม่ และคำสั่งลงวันที่ 9 เมษายน 2518 อนุญาตให้จำเลยที่ 2 อุทธรณ์อย่างคนอนาถาได้ และสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ไว้พิจารณา จึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา คำสั่งของศาลชั้นต้นและคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษากลับ ให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นลงวันที่ 31 ตุลาคม 2517 ที่อนุญาตให้ไต่สวนคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาของจำเลยที่ 2 ใหม่ และคำสั่งลงวันที่ 9 เมษายน 2518 อนุญาตให้จำเลยที่ 2 อุทธรณ์อย่างคนอนาถาและรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เสีย หากจำเลยที่ 2 ประสงค์จะอุทธรณ์ต่อไปก็ให้เสียค่าธรรมเนียม และนำเงินค่าฤชาธรรมเนียมที่จะต้องใช้แทนโจทก์ตามคำพิพากษามาวางศาลภายใน 15 วัน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share