คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1360/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ภริยาทำสัญญาจะขายที่ดินมีโฉนดอันเป็นสินบริคณห์ให้โจทก์ โดยภริยาได้รับเงินราคาที่ดินบางส่วนแล้ว และโดยสามีรู้เห็นยินยอมแล้วนั้น เป็นกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรค 2 ซึ่งไม่ต้องทำสัญญาเป็นหนังสือก็ใช้ได้ ฉะนั้น ความยินยอมของสามีจึงไม่ต้องทำเป็นหนังสือตามมาตรา 1476 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับภริยาโอนขายที่ดินได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ – ๒ เจ้าของรวมในที่ดินมีโฉนดได้ร่วมกันทำสัญญาจะขายที่ดินส่วนหนึ่งให้โจทก์ โดยได้รับชำระเงินงวดแรกแล้ว ๕,๐๐๐ บาท ด้วยความรู้เห็นยินยอมของนายผินและจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นสามี แล้วจำเลยที่ ๑ – ๒ ผิดสัญญาไม่โอนขาย และจำเลยที่ ๑ -๓ ยังมีหนังสือบอกล้างสัญญาจะซื้อขายด้วย อันเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต จึงขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ – ๒ โอนขายที่ดินให้โจทก์ตามสัญญา และใช้ค่าเสียหาย ฯลฯ จำเลยทั้ง ๓ ให้การต่อสู้หลายประการ
ศาลแพ่งพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ – ๒ แบ่งแยกโฉนดโอนขายที่ดินให้โจทก์ตามสัญญา ถ้าไม่สามารถขายให้ได้ ก็ให้คืนเงินมัดจำ ๕,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยและให้จำเลยที่ ๑ – ๒ ใช้ค่าเสียหาย ๑๐,๐๐๐ บาท ด้วย คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ขอเพิ่มค่าเสียหาย จำเลยอุทธรณ์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่ให้เติมลงในคำพิพากษาด้วยว่า ถ้าจำเลยไม่โอน ก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์นายหนึ่งมีความเห็นแย้งว่า ความยินยอมของสามีในกรณีต้องทำเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๗๖ ควรยกฟ้องจำเลยที่ ๑ – ๓ แต่ให้จำเลยที่ ๑ – ๒ คืนเงินมัดจำและใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยทั้ง ๓ ฎีกา และโจทก์ฎีกาขอเพิ่มค่าเสียหาย
ศาลฎีกาเห็นว่า ฎีกาจำเลยข้อ ๑ ถึง ๔ ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาข้อที่ ๕ ที่ว่าความยินยอมของสามีต้องทำเป็นหนังสือตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๕๖ เห็นว่า จำเลยได้รับเงินงวดแรกตามสัญญาจะซื้อขายไว้ด้วยแล้ว ไม่ต้องทำสัญญาเป็นหนังสือก็ใช้ได้ ตาม มาตรา ๔๕๖ วรรค ๒ ฉะนั้น ความยินยอมของสามีจึงไม่ต้องทำเป็นหนังสือตามมาตรา ๑๔๗๖ ตามนัยแห่งฎีกาที่ ๑๒๒๗/๒๔๘๑ การบอกล้างของจำเลยที่ ๑ – ๓ จึงใช้ไม่ได้ ส่วนฎีกาของโจทก์ที่ขอเพิ่มค่าเสียหายก็ฟังไม่ได้ พิพากษายืน

Share