แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บรรยายฟ้องว่าจำเลยยักยอกเงินค่าภาษีโรงค้ารายนายฉลองไป 600 บาท แต่ต่อมานำส่งเสีย 57.60 บาท จำเลยยักยอกไปเพียง 542.40 บาท ดังนี้จัดว่าชัดเจนพอให้จำเลยเข้าใจข้อหาฐานยักยอกได้ดีตาม ม.158 วิ.อาญา.หาเคลือบคลุมไม่
แม้ข้อเท็จจริงทางพิจารณาจะได้ความว่าจำเลยยักยอกเงินค่าภาษีรายนายฉลองไป 600 บาท มิใช่ 542.40 บาท ดังข้อหาให้จำเลยรับผิดตามฟ้องก็ดี ควรฟังข้อเท็จจริงดังนี้เพราะเงิน 57.60 บาท ที่จำเลยนำส่งเป็นค่าภาษีรายนายช่อล้องมิใช่นายฉลอง ฉนั้นเงินค่าภาษีนายฉลองที่จำเลยยักยอกจึงคงมี 600 บาท จึงถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณากับฟ้องเช่นนี้หาเป็นเหตุให้ยกฟ้องโจทก์ตาม ป.วิ.อาญา ม.192ได้ไม่
ถึงจำเลยจะมีหน้าที่เขียนต้นขั้วใบเสร็จรับเงินด้วยตนเองก็ดี แต่ถ้าจำเลยตกเติมแก้ไขต้นขั้วใบเสร็จนั้นโดยมีเจตนาปลอมแปลงจากเดิมให้เข้าใจผิดเป็นอย่างอื่นและอาจเกิดการเสียหายขึ้นได้ ดังนี้จำเลยก็หาพ้นความรับผิดฐานปลอมหนังสือไม่
การที่จะวินิจฉัยข้อ ก.ม.นั้นศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้ว.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าเมื่อครั้งจำเลยเป็นผู้ช่วยสมุห์บัญชีกิ่งอำเภอทุ่งหว้า มีหน้าที่เก็บรักษาเงินภาษีอากรได้รับชำระเงินค่าภาษีโรงค้าจากนายฉลอง ๖๐๐ บาท และไม่ลงบัญชีส่งเป็นเงินผลประโยชน์ของรัฐบาล คงส่งเพียง ๕๗.๖๐ บาท นอกนั้นยักยอกเอาเป็นประโยชน์ส่วนตัว ทั้งนี้โดยจำเลยได้ยักยอกภาษี ๕๔๒.๔๐ บาท ซึ่งจำเลยไม่ได้นำส่งเป็นประโยชน์ส่วนตัวเสียเลย. และจำเลยได้ปลอมหนังสือสำคัญในราชการโดยแก้ไขต้นขั้วใบเสร็จรับเงินที่ออกให้นายฉลองผู้ชำระค่าภาษีโรงค้าเป็นนายช่อล้องแก้จำนวนเงินจาก ๖๐๐ บาท เป็น ๕๗.๖๐ บาท และแก้วันเดือนปีที่รับชำระเงินอันเป็นเท็จกระทำให้สาธารณะชนและรัฐบาลเสียหาย ขอให้ลงโทษ
จำเลยให้การปฏิเสธและว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมการแก้ไขเพิ่มเติมไม่เป็นผิดฐานปลอมหนังสือตาม ม.๒๒๒,๒๒๕ พิพากษาว่าจำเลยมีผิดตาม ม.๑๓ (ที่แก้ไข) ให้ใช้เงิน ๖๐๐ บาท ลงโทษจำคุก ๑ ปี
โจทก์จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่าจำเลยมีผิดตาม ม.๒๒๕ (ที่แก้ไข) ฐานปลอมหนังสือสำคัญในราชการอีกกะทงหนึ่ง ให้รวมกะทงลงโทษกับกะทงที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยมาด้วยกันเป็นจำคุก ๓ ปี
จำเลยฎีกาในปัญหาข้อ ก.ม. ข้อ ๓ ข้อ ๑.ฟ้องโจทก์ในข้อหาฐานยักยอกเคลือบคลุม ๒.ข้อเท็จจริงในการพิจารณาต่างกับที่กล่าวในฟ้อง ๓.การกระทำของจำเลยไม่ผิดฐานปลอมหนังสือเพราะจำเลยเป็นผู้ขีดฆ่าแก้ไขต้นขั้วใบเสร็จรับเงินเองโดยสุจริตซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องกระทำ
ศาลฎีกาเห็นว่าในปัญหาข้อ ๑.โจทก์ได้กล่าวบรรยายในฟ้องชัดแจ้งพอจะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีโดยกล่าวแสดงว่าครั้งแรกจำเลยยักยอกเงินภาษีโรงค้ารายนานฉลอง เอี้ยวสกุล ไป ๖๐๐ บาทแต่ต่อมาได้นำส่งเสีย ๕๗.๖๐ บาท จำเลยคงยังยอก
ไปเพียง ๕๔๒.๔๐ บาท ในที่สุดดั่งที่มีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยใช้เงินจำนวน ๕๔๒.๔๐ บาทนั้น ฟ้องของโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.อาญา ม.๑๕๘ หาเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่
ในปัญหาข้อ ๒ เห็นว่าแม้ข้อเท็จจริงในทางพิจารณาจะได้ความว่าจำเลยยักยอกเงินค่าภาษีโรงค้ารายนายฉลอง เอี้ยสกุล ไป ๖๐๐ บาท มิใช่ ๕๔๒.๔๐ บาท ดั่งข้อหา ในจำเลยรับผิดตามฟ้องของโจทก์ก็ดี การฟังข้อเท็จจริงดั่งนั้นเพราะถือว่าในจำวนเงิน ๕๗.๖๐ บาท ที่จำเลยนำส่งเป็นเงินค่าภาษีโรงค้ารายนายช่อล้องมิใช่เงินค่าภาษีโรงค้ารายนายฉลอง เอี้ยวสกุล เงินค้าภาษีโรงค้ารายนายฉลอง เอี้ยวสกุลที่จำเลยยักยอกไปคงมีจำนวน ๖๐๐ บาท ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการชพิจารณาต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องดั่งกล่าวมานั้นหาเป็นเหตุที่จะให้ยกฟ้องโจทก์เสียได้ตาม ป.วิ.อาญา ม.๑๙๒ ไม่
ส่วนปัญหาข้อ ๓. นั้น ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงมาแล้วว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตยักยอกเงินค่าภาษีรายนายฉลอง เอี้ยวสกุล การที่จำเลยตกเติมแก้ไขต้นขั้วใบเสร็จรับเงินค่าภาษีโรงค้าจำนวน ๖๐๐ บาท รายนายฉลอง เอี้ยวสกุล เป็นว่ารับเงินจากนายช่อล้องเป็นเงินเพียง ๕๗.๖๐ บาท นั้นเห็นได้ว่าจำเลยมีเจตนาปลอมแปลงต้นขั้วเอกสารหมาย ๓.จ ที่จำเลยยักยอกเงิน ๖๐๐ บาทของรัฐบาล รายนายฉลอง เอี้ยวสกุลไปแล้วนั้น ก็เพื่อเป็นการคิดเปลี่ยนแปลงหลักฐานหมาย ๓.จ จากเดิมให้เข้าใจผิดเป็นอย่างนั้น การกกระทำของจำเลยอาจเสียหาแก่สาธารณะและรัฐบาล ซึ่งศาลฎีกาจะต้องฟังตาม ป.วิ.อาญา ม.๒๒๒ ฉนั้นแม้จำเลยจะมีหน้าที่เขียนต้นขั้วใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย ๓.จ ด้วยตนเอง จำเลยก็หาพ้นผิดฐานปลอมหนังสือไปได้ไม่
จึงพิพากษายืน.