คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4471/2529

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสามซ้อนรถจักรยานยนต์มาด้วยกัน แล้วจำเลยที่ 1พาผู้ตายไปส่งบ้าน โดยผู้ตายนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์คันที่จำเลยที่ 3 ขับส่วนจำเลยที่ 1 นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์คันที่จำเลยที่ 2 ขับ ระหว่างทางก็หยุดรถทั้ง 2 คันจำเลยที่ 1 ปัสสาวะเสร็จแล้ว เดินเข้าไปหาผู้ตายพูดถึงเรื่องที่ผู้ตายพาน้องสาวของจำเลยที่ 1 ไปแล้วจำเลยที่ 1 ชักปืนยิงผู้ตาย 1 นัด ผู้ตายวิ่งหนีไปกลางทุ่งนา จำเลยที่ 1 วิ่งไล่ตามไปยิง อีก 1 นัด กระสุนปืนถูกที่ศีรษะถึงแก่ความตายทันที จำเลยวิ่งกลับมาขึ้นซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์จำเลยที่ 2 ที่จอดคอยอยู่ เมื่อก่อนจำเลยที่ 1 ยิง จำเลยที่ 2 ที่ 3ได้ร้องห้าม ดังนี้ ไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ฆ่าผู้ตาย ทั้งปืนที่ใช้ยิง จำเลยที่ 1 ก็พกมาตั้งแต่ออกจากบ้าน จำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงมิได้ร่วมกับ จำเลยที่ 1 มีอาวุธปืน กระสุนปืนที่จำเลยที่ 1 พกพาติดตัวไป เหตุที่จำเลยที่ 1 ฆ่าผู้ตาย เกิดจากการโต้เถียง กันเรื่องผู้ตายพาน้องสาวจำเลยที่ 1 ไป จำเลยที่ 1 ยิงผู้ตายทันทีขณะโต้เถียงกัน และยังไล่ตามยิงขณะผู้ตายวิ่งหนีก็เพียงเพื่อให้ผู้ตายสมเจตนาเท่านั้น ยังไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 1 ฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน รถจักรยานยนต์ที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ขับขี่ไปในขณะเกิดเหตุเมื่อมิได้ร่วมนำไปใช้ในการกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1ต้องคืนให้เจ้าของไป

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 44 ข้อ 3, 6, 7ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 289(4), 371 ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4) ให้ประหารชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพชั้นจับกุมและสอบสวน ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสามตลอดชีวิต ไม่ต้องระวางโทษในความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืนอีก ของกลางให้ริบ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานมีอาวุธปืน จำคุก 1 ปี ฐานพกพาอาวุธปืนลงโทษตาม มาตรา 8 ทวิ จำคุก 6 เดือน ฐานฆ่าผู้อื่นลงโทษตามมาตรา 288 จำคุก 20 ปี รวมลงโทษ 21 ปี 6 เดือน ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 14 ปี 2 เดือน ให้ยกฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 2 ที่ 3 โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันฟังได้ว่า วันเกิดเหตุตามฟ้องจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงนายหนูคล้อยหรือหม่อน เอียดจุ้ยถึงแก่ความตาย ขณะยิงจำเลยที่ 2ที่ 3 อยู่กับจำเลยที่ 1 ด้วย ซึ่งความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯสำหรับจำเลยที่ 1 ยุติแล้วคดีมีปัญหาว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อนดังฟ้องหรือไม่ และจำเลยที่ 2 ที่ 3ร่วมกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ด้วยหรือไม่ในปัญหาดังกล่าว โจทก์มีนายจับซึ่งเป็นพี่เขยของผู้ตายเป็นประจักษ์พยานที่รู้เห็นเหตุการณ์ตั้งแต่จำเลยทั้งสามซ้อนรถจักรยานยนต์กับมาพบนายจับระหว่างทางแล้ว จำเลยที่ 1ให้นายจับพาไปบ้านผู้ตายเพื่อปรับความเข้าใจเรื่องผู้ตายพาน้องสาวของจำเลยที่ 1 ไปเมื่อไม่พบผู้ตายที่บ้าน จำเลยที่ 1 ได้ชวนนายจับไปวัดโคกยาง (วัดโคกพิกุล) ถึงวัดแล้วจำเลยที่ 2 ที่ 3รออยู่หน้าวัดจำเลยที่ 1 กับนายจับเข้าไปในวัดไปนั่งรับประทานข้าวผู้ตายเข้ามาในวัดแล้วนั่งรับประทานข้าวอีกโต๊ะหนึ่ง จำเลยที่ 1ออกไปหน้าวัดประมาณ 4-5 นาทีกลับมาขณะนั้นนายจับกับผู้ตายนั่งอยู่ใต้ต้นหูกวาง ผู้ตายกับจำเลยที่ 1 พูดกันว่าไม่ให้มีเรื่องราวกัน จำเลยที่ 1 ว่าไม่มีเรื่องอะไรและชวนนายจับกับผู้ตายกลับบ้านโดยรับอาสาจะไปส่งเพราะผู้ตายกับนายจับไม่มีรถ แล้วจำเลยที่ 1 นายจับผู้ตายออกไปนั่งที่ศาลาหน้าวัด จำเลยที่ 1 บอกให้คอยจำเลยที่ 2ที่ 3 ก่อน ได้คอยอยู่ประมาณเกือบชั่วโมง จำเลยที่ 2 ที่ 3จึงขับขี่รถจักรยานยนต์มาคนละคัน นายจับกับผู้ตายนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์คันที่จำเลยที่ 3 ขับขี่ ส่วนจำเลยที่ 1 นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์คันที่จำเลยที่ 2 ขับขี่จะไปบ้านผู้ตาย ได้ออกจากวัดไปตามถนนตลาดนาโยง เมื่อไปถึงทางแยกหน้าโรงเรียนเพาะปัญญาได้แยกเข้าถนนเกาะปุดซึ่งเป็นถนนลูกรัง รถแล่นไปตามถนนดังกล่าวได้ประมาณ 3 กิโลเมตร รถที่จำเลยที่ 2 ขับขี่นำหน้ามา หยุด จำเลยที่ 3ก็หยุดรถด้วยระยะห่างกันประมาณ 5 เมตร นายจับได้ถามว่าหยุดรถทำไมจำเลยที่ 1 บอกว่าจะปัสสาวะ แล้วจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 กับนายจับไปปัสสาวะ จำเลยที่ 3 นั่งคร่อมรถอยู่ ส่วนผู้ตายไปนั่งข้างถนนจำเลยที่ 1 ปัสสาวะเสร็จแล้วเดินเข้าไปหาผู้ตายพูดกับผู้ตายว่าเรื่องที่พาน้องสาวไปจะว่าอย่างไรมาพูดกันให้เข้าใจ ผู้ตายยอมรับว่าพาไปจริงแต่ไม่มีอะไรกัน จำเลยที่ 1 ชักปืนออกจากเอวยิงผู้ตาย 1 นัดขณะที่อยู่ห่างผู้ตายประมาณ 3 เมตร ผู้ตายวิ่งหนีไปกลางทุ่งนาจำเลยที่ 1 วิ่งไล่ตามไปยิงผู้ตายอีก 1 นัด ซึ่งผลปรากฏว่ากระสุนปืนถูกที่ศีรษะผู้ตายถึงแก่ความตายทันที พยานโจทก์นอกจากนายจับมีพยานประกอบคือสิบตำรวจโทวิทยา ร้อยตำรวจเอกอรุณและร้อยตำรวจโทอทินันท์ผู้ร่วมจับกุมจำเลยทั้งสามและร้อยตำรวจโทอทินันท์ เป็นผู้ร่วมสอบสวนคดีนี้ด้วย ซึ่งในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนพยานทั้งสามปากนี้ว่า จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพว่าเมื่อตามไปพบผู้ตายที่วัดโคกยางแล้ว จำเลยที่ 1ได้สั่งให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไปเอาปืนของจำเลยที่ 1 ที่เก็บไว้ที่บ้านของจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 ขับขี่รถจักรยานยนต์กลับมาพบจำเลยที่ 1 นายจับและผู้ตายที่ศาลาหน้าวัด จำเลยที่ 1ได้เดินไปรับอาวุธปืนและกระสุนปืน 3 นัดจากจำเลยที่ 2 โดยไม่ให้คนอื่นเห็น แล้วชวนนายจับกับผู้ตายขึ้นรถของจำเลยที่ 3ส่วนจำเลยที่ 1 ขึ้นรถจำเลยที่ 2 แล่นนำไป โดยจำเลยที่ 1 ตั้งใจจะไปที่ถนนเกาะปุดเพราะเป็นที่เปลี่ยวและหลบหนีง่าย เมื่อเลี้ยวเข้าถนนเกาะปุดไปได้ 3 กิโลเมตร บริเวณนั้นเป็นทุ่งนาโล่งและเปลี่ยว จำเลยที่ 1 จึงสั่งให้จำเลยที่ 2 จอดรถและให้สัญญาณรถคันอื่น ๆ จอดด้วย โดยบอกว่าจะหยุดปัสสาวะ จำเลยที่ 1ไปปัสสาวะริมถนน ผู้ตายลงไปนั่งริมถนนเมื่อจำเลยที่ 1 ปัสสาวะเสร็จแล้วได้เดินเข้าไปถามผู้ตายว่าพาน้องสาวของจำเลยที่ 1 ไปทำไมผู้ตายตอบว่าพาไปก็ทำอะไรผู้ตายไม่ได้ จำเลยที่ 1 จึงชักปืนออกมายิงผู้ตาย 1 นัด ผู้ตายวิ่งหนี จำเลยที่ 1 ไล่ตาม ผู้ตายวิ่งไปสะดุดหัวคันนาล้มลง จำเลยที่ 1 ใช้ปืนตีศีรษะผู้ตายและยิงผู้ตายที่ศีรษะ 1 นัด แล้วจำเลยที่ 1 วิ่งกลับมาขึ้นถนน ขึ้นซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์จำเลยที่ 2 ที่จอดคอยอยู่ จากนั้นจำเลยที่ 2 พาจำเลยที่ 1 หลบหนีไปซึ่งจำเลยที่ 2 ที่ 3 เบิกความว่าในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การเพียงว่า ไปกับจำเลยที่ 1 ด้วยเท่านั้น จำเลยที่ 1 ไม่ได้ใช้ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไปเอาปืน แต่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ไปเอารถจักรยานยนต์ที่จำเลยที่ 2 นำไปซ่อมที่ร้านซ่อมรถจักรยานยนต์หน้าโรงเรียนพรศิริกุลและว่าเมื่อจำเลยที่ 1 จะยิงผู้ตาย จำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้ร้องห้ามว่าอย่าทำจำเลยที่ 2 ที่ 3 ลงชื่อในบันทึกการจับกุมและคำให้การชั้นสอบสวนโดยตำรวจไม่ได้อ่านให้ฟัง ซึ่งนายจับได้ตอบคำถามค้านว่าขณะนายจับปัสสาวะอยู่ได้ยินจำเลยที่ 2 ที่ 3 ร้องห้ามว่าอย่ายิงและร้อยตำรวจโทอทินันท์ก็ตอบคำถามค้านว่าในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การว่าก่อนที่ จำเลยที่ 1 จะยิง ทั้งสองได้ร้องห้าม เห็นว่าคำให้การชั้นจับกุมและสอบสวนไม่มีน้ำหนักและจำเลยที่ 1 ก็เบิกความว่า เหตุที่ยิงผู้ตายก็เพราะเกิดโต้เถียงกับผู้ตาย ปืนที่ใช้ยิงเป็นปืนที่จำเลยที่ 1 พกมาตั้งแต่จำเลยที่ 1ออกจากบ้าน เห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่เพียงพอที่จะฟังว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ฆ่าผู้ตาย และร่วมกับจำเลยที่ 1 มีอาวุธปืน กระสุนปืนที่จำเลยที่ 1 พกพาติดตัวไปเหตุที่จำเลยที่ 1 ฆ่าผู้ตายเชื่อว่าเกิดจากการโต้เถียงกันเรื่องที่ผู้ตายพาน้องสาวจำเลยที่ 1 ไปโดยจำเลยที่ 1 ยิงผู้ตายทันทีขณะโต้เถียงกัน ซึ่งลักษณะการโต้เถียงกันดังกล่าวไม่เข้าลักษณะที่จำเลยที่ 1 ถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุไม่เป็นธรรมตามกฎหมายการที่ยิงนัดหนึ่งแล้วยังไล่ตามยิงขณะผู้ตายวิ่งหนีก็เพียงเพื่อให้ผู้ตายตายสมเจตนาเท่านั้น และการที่จำเลยที่ 1 พาผู้ตายไปส่งบ้านในทางที่อ้อมกว่าแต่ก็เป็นถนนลูกรังเช่นเดียวกับทางอื่นที่จะไปยังบ้านผู้ตาย ได้ความเพียงเท่านี้ยังไม่เพียงพอที่จะฟังว่าจำเลยที่ 1 ฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ทุกกระทงความผิดรวมโทษ 21 ปี 6 เดือน แล้วลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้วคงให้จำคุก 14 ปี 2 เดือน นั้นคำนวณการลดโทษผิดไป ที่ถูกต้องเป็นจำคุก 14 ปี 4 เดือนคดีนี้โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นถือได้ว่าโจทก์ฎีกาขอให้เพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 ให้หนักขึ้นดังนั้น ศาลฎีกาจึงเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 ให้หนักขึ้นได้ทั้งรถจักรยานยนต์ที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 ขับขี่ไปในขณะที่เกิดเหตุเมื่อจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่ได้ร่วมนำไปใช้ในการกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ต้องคืนให้เจ้าของไป ซึ่งปรากฏว่ายังไม่ได้คืนให้เจ้าของอีกคันหนึ่ง”
พิพากษาแก้เป็นว่า เมื่อลดโทษให้จำเลยที่ 1 หนึ่งในสามแล้วคงให้จำคุกจำเลยที่ 1 ไว้ 14 ปี 4 เดือน คืนรถจักรยานยนต์ที่ยังไม่ได้คืนอีกคันหนึ่งให้เจ้าของ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share