คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 136/2481

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในคดีที่เจ้ามฤดกมรณะก่อนวันใช้ประมวลแพ่งฯ พรรพ 2 จะนำบทบัญญัติในประมวลบรรพนั้นมาใช้บังคับมิได้
ตรัสติที่ตั้งขึ้นก่อนวันใช้ประมวลแพ่งฯ บรรพ 6 ย่อมมีผลสมบูรณ์ใช้ได้ โดยกฎหมายสยามรับเอาหลักกฎหมายอังกฤษเรื่องวิธีการตั้งตรัสต์มาใช้เท่าที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนและถือว่าเป็นส่วนหนึ่งแห่งกฎหมายสยาม
การตั้งตรัสต์โดยไม่มีกำหนดเวลานั้นไม่เป็นโมฆะเสียเปล่าไป แต่กำหนดระยะเวลามีผลแห่งตรัสต์จะสิ้นสุดลงเมื่อสิ้นชีวิตผู้รับประโยชน์ตามพินัยกรรมคนท้ายที่สุดที่มีชีวิตอยู่ในขณะผู้ทำพินัยกรรมตายและอีก 20 ปี ต่อแต่นั้นไป
โมฆะกรรมนั้นจะให้สัตยาบันมิได้, นิติกรรมที่มีกำหนดเวลาเกินกำหนดในกฎหมายนั้นไม่เป็นโมฆะเสียทีเดียว แต่ถือว่านิติกรรมฉะบับนั้นมีผลเพียงเท่าที่ระยะเวลาในกฎหมายกำหนดไว้

ย่อยาว

ทางพิจารณาได้ความตามข้อเท็จจริงที่รับกันว่า ส.ได้ทำพินัยกรรม์ขึ้นฉะบับหนึ่งถูกต้องตามแบบของกฎหมาย เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ตั้งให้จำเลยทั้ง ๓ คนเป็นตรัสต์จัดการตามพินัยกรรมฉะบับนั้น ตามข้อ ๒ แห่งพินัยกรรม์ไม่มีข้อความยกทรัพย์ให้แก่ผู้ใดเป็นแต่ให้ตรัสติจัดการเก็บผลประโยชน์ในทรัพย์มฤดกให้แก่ผู้ที่มีชื่อในพินัยกรรม์ พินัยกรรมข้อ ๓ ไม่ได้ลงจำนวนเงินที่ให้บำรุงสถานการกุศลและสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายที่บ้าน ๒ แห่ง อนึ่งตัสติที่ตั้งขึ้นตามพินัยกรรม์นี้ไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุด ในปีเดียวกันนั้นเอง ส.ถึงแก่กรรม จำเลยซึ่งเป็นตรัสดิจึงขอให้ศาลตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมฤดกของ ส.และศาลได้ตั้งแล้วโจทก์เป็นภรรยาคนหนึ่งของ ส. และมีส่วนจะได้รับผลประโยชน์ตามความในพินัยกรรม์ข้อ ๒ ได้ยื่นฟ้องคดีนี้ขอให้ศาลสั่งว่าพินัยกรรมของ ส.เป็นโมฆะ
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลฎีกาตัดสินว่า ตามข้อความที่รับกันนั้น ได้ความโดยปริยายว่าวิธีการที่ผู้ทำพินัยกรรมจัดการแบ่งทรัพย์และให้อำนาจหน้าที่แก่จำเลยไว้นี้มีลักษณะเป็นตรัสต์ จำเลยยกข้อหนึ่งว่าโจทก์หมดสิทธิ์ที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนข้อกำหนดในพินัยกรรม์เพราะโจทก์ทราบเหตุข้อนี้เกิน ๓ เตือนแล้วตามประมวลแพ่งฯ ม.๑๗๐๐ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ส.นี้ถึงแก่กรรมก่อนวันใช้ประมวลแพ่งฯ บรรพ ๖ จึงนำ ม.๑๗๑๐ มาบังคับมิได้ และถึงหากจะมีคำแย้งว่า ม.๑๗๑๐ นี้มาจากหลักเก่าที่ว่าการฟ้องร้องขอให้เพิกถอนข้อกำหนดพินัยกรรม์มีอายุความ ๓ เดือนก็ดี แต่เรื่องนี้โจทก์ฟ้องโดยอ้างว่านิติกรรมเป็นโมฆะตาม ม.๑๓๓ ซึ่งการใช้สิทธิตามมาตรานี้ไม่อยู่ในอายุความ ๓ เดือน ข้อตัดฟ้องนี้จึงตกไปข้อตัดฟ้องของจำเลยมีอีกข้อหนึ่งว่าคดีนี้เสมอกับการฟ้องคดีมฤดกต้องฟ้องภายใน ๑ ปี ตาม ม.๑๗๕๔ ซึ่งมีที่มาตามหลักเก่าเช่นเดียวกัน ก็เห็นว่าฟังไม่ได้ดุจกันดังเหตุผลข้างต้น จำเลยต่อสู้อีกข้อหนึ่งว่าโจทก์ได้รับส่วนแบ่งผลประโยชน์ตามพินัยกรรม์แล้ว นัยว่าเป็นการรับรองตรัสต์นั้น
เห็นว่าเรื่องนี้โจทก์ฟ้องขอให้ทำลายนิติกรรม์อันเป็นโมฆะที่จำเลยถือว่าโจทก์รับรองเป็นการให้สัตยาบันแล้วไม่ถูกต้องเพราะโมฆะกรรมยอมให้สัตยาบันกันมิได้ตาม ม.๑๓๔
สำหรับข้ออ้างของโจทก์ที่ว่า พินัยกรรม์รายนี้ขัดต่อประมวลแพ่งฯ ม.๑๕๙๙, ๑๖๐๓ นั้นเห็นว่า ส.ถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๙ ศาลจึงจำนำมาตราทั้งสองในประมวลแพ่งฯ บรรพ ๖ มาบังคับมิได้ และทำนองเดียวกัน ม.๑๖๘๖ ซึ่งห้ามมิให้ตั้งตรัสต์ก็หามีผลกระทบถึงคดีนี้ไม่ ก่อนประกาศใช้บรรพ ๖ นั้นไม่มีกฎหมายไทยบัญญัติถึงเรื่องตรัสต์โดยตรง มีอยู่บ้างเช่นตาม พ.ร.บ. ออกโฉนดที่ดินฉะบับที่ ๒ พ.ศ. ๒๔๕๙ ม.๘ เป็นต้น ซึ่งแสดงว่ากฎหมายสยามได้รับเอาหลักกฎหมายอังกฤษเรื่องตรัสต์มาใช้ ฉะนั้นที่ศาลอุทธรณ์กล่าวว่าเรื่องตรัสต์เป็นกฎหมายต่างประเทศ คู่ความมีหน้าที่พิสูจน์จึงไม่ถูกต้อง แต่เห็นว่าหลักสำคัญเรื่องตรัสต์เท่าที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนในสยามย่อมเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายสยาม ซึ่งคู่ความมิต้องพิสูจน์ ฉะนั้น ผู้ทำพินัยกรรม์รายนี้มีสิทธิจะจัดให้กองมฤดกของตนตามรูปตรัสต์ได้ ปัญหาจึงมีต่อไปว่า การตั้งตรัสต์ไม่มีกำหนดเวลาเช่นนี้เป็นโมฆะหรือไม่หรือจะเป็นอันใช้ได้แต่ฉะเพาะกำหนดเวลาที่กฎหมายอนุญาต ตามกฎหมายไทยแต่ก่อนใช้ประมวลแพ่งฯ ก็ดี ณ บัดนี้ก็ดีไม่ถือว่านิติกรรมที่มีกำหนดระยะเวลาเกินกำหนดในกฎหมายเป็นโมฆะ
แต่ถือว่านิติกรรมฉะบับนั้นมีผลเท่าที่ระยะเวลาอันกฎหมายกำหนดไว้ ดังเช่นใน ม.๕๔๐ แห่งประมวลแพ่งฯ ปัญหาต่อไปจึงมีว่าระยะเวลาที่ตรัสต์จะมีผลนั้นกฎหมายกำหนดไว้เพียงไร จึงต้องพิจารณาตามหลักกฎหมายอังกฤษ ซึ่งกำหนดไว้ว่าตรัสต์จะสิ้นสุดเมื่อสิ้นชีวิตผู้รับประโยชน์ตามพินัยกรรม์คนท้ายที่สุดที่มีชีวิตอยู่ในขณะผู้ทำพินัยกรรม์ตาย และต่อนั้นไปอีก ๒๑ ปี อันกำหนดลา ๒๑ ปีนี้เป็นกำหนดเวลาเท่ากับอายุของบุคคลที่จะพึงบรรลุนิติภาวะตามกฎหมายอังกฤษ จึงต้องถือเพียง ๒๐ ปี เท่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายไทย ซึ่งเป็นบทอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในที่สุดเห็นว่าพินัยกรรม์ในคดีนี้ไม่เป็นโมฆะดังโจทก์อ้าง จึงพิพากษายืนตาม

Share