แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การโดยยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตเพราะเห็นว่าไม่มีเหตุอันสมควร จึงมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การ ซึ่งเมื่อสั่งไม่อนุญาตแล้ว ก็ไม่จำต้องสั่งไม่รับคำให้การอีก คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนของคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การและเป็นคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การ มิใช่คำสั่งไม่รับคำให้การของจำเลยอันจะถือเป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 กรณีจึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวในระหว่างพิจารณาตามมาตรา 226 (1)
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบทรัพย์สินที่ฝากขายคืนให้แก่โจทก์ในสภาพที่ใหม่ยังไม่เคยใช้งานมาก่อนและสามารถนำมาใช้งานได้ หากคืนไม่ได้ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคาเป็นเงิน 2,173,803.52 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,802,116.93 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2546 จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การภายในวันที่ 16 ธันวาคม 2546 ต่อมาวันที่ 18 ธันวาคม 2546 จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การโดยอ้างเหตุว่าทนายจำเลยทั้งสองป่วยเป็นไข้หวัด ต้องพักรักษาตัวในวันที่ 16 และ 17 ธันวาคม 2546 จึงมีเหตุจำเป็นไม่อาจยื่นคำให้การภายในกำหนดเวลาที่ศาลกำหนดได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าศาลอนุญาตให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การได้จนถึงวันที่ 16 ธันวาคม 2546 จำเลยทั้งสองมีโอกาสยื่นคำให้การเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว จำเลยทั้งสองไม่ยื่นคำให้การตามที่ศาลอนุญาตดังกล่าว แต่กลับมายื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การเมื่อพ้นกำหนดเวลาที่ศาลอนุญาตดังกล่าวแล้ว กรณีเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุอันสมควร ให้ยกคำร้องค่าคำร้องเป็นพับ และมีคำสั่งไม่รับคำให้การจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์คำสั่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2547 แล้วพิจารณาคดีต่อไป ต่อมาวันที่ 26 เมษายน 2547 ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาและมีคำสั่งให้รวบรวมถ้อยคำสำนวนส่งศาลอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า คดีนี้จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การโดยยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนดเวลาที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตเพราะเห็นว่าไม่มีเหตุอันสมควร จึงมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การ ซึ่งเมื่อสั่งไม่อนุญาตแล้ว ก็ไม่จำต้องสั่งไม่รับคำให้การอีก คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนของคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การและเป็นคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขออนุญาตยื่นคำให้การ มิใช่คำสั่งไม่รับคำให้การของจำเลยทั้งสองอันจะถือเป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 18 กรณีจึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาก่อนที่ศาลชั้นต้นจะได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดี จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวในระหว่างพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 (1) ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การ ก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาชี้ขาดตัดสินคดี ชอบที่ศาลชั้นต้นจะสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสอง แต่เมื่อศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยทั้งสองมา ศาลอุทธรณ์ก็ชอบที่จะพิพากษายกอุทธรณ์นั้นเสียโดยไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นแห่งอุทธรณ์ การที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยทั้งสอง จึงมิชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาจึงต้องยกเสียไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสอง”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์กับยกอุทธรณ์และฎีกาของจำเลยทั้งสอง คืนค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาทั้งหมดแก่จำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกา นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ